รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต "16 มกราคม" ของทุกปี คือ "วันครู" ของประเทศไทย เป็นวันที่ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ต่างระลึกถึง พระคุณครูของคุณครูด้วยความกตัญญู รู้คุณ และซาบซึ้งใจ เพราะครูคือผู้ให้ ผู้สร้าง ผู้เสียสละ ผู้ถ่ายทอด ผู้ปั้น ผู้หล่อหลอม ผู้โอบอุ้ม ผู้ค้ำจุน ผู้เอาใจใส่ และอื่น ๆ อีกสารพัดนับไม่ถ้วนทีเดียว เมื่อวันครูเวียนมาจบคราใด พวกเราทุกคนต่างตระหนักถึงความสำคัญของคุณครูในฐานะที่ครูเป็นบุคคลที่อยู่ในดวงใจของเราเสมอนอกเหนือจากพ่อแม่ ยิ่งกว่านั้นครูยังเปรียบเป็น “ปูชนียบุคคล” ของชาติหรือบุคคลที่ควรค่าแก่การคารวะ นับถือบูชา และเคารพยกย่องทุกยุคทุกสมัย เมื่อวันเวลาหมุนก้าวเดินไปและเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อบทบาทของครู ทำให้บทบาทของครูยุคใหม่ที่อยู่บนวงล้อท่ามกลางการดิสรัปชั่นอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงเวลาสองปีกว่าและยังไม่มีวี่แววว่าจะจบลงในเร็ววัน ทำให้ครูต้องแบกรับภาระการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนยุคใหม่คือ เจน Z และ Alpha ที่แตกต่างอย่างมากจากกลุ่มเด็กเจนเก่า “X” “Y” และ “Baby Boomer” ครูยุคใหม่ท่ามกลางโควิด-19 นี้ต้องถูกทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งจากผู้บริหาร เพื่อนครู ผู้ปกครอง นักเรียน และสังคม แต่ครูยุคใหม่ก็ไม่เคยท้อหรือถอยยังคงสู้อย่างต่อเนื่องเพราะหวังเพียงให้ศิษย์รักได้รับความรู้ มีคุณธรรม และเป็นคนดี ครูยุคใหม่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาโดยเฉพาะ “เทคโนโลยีการศึกษา” และต้องรู้จักเลือกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับนักเรียนเจนใหม่ ๆ ครูต้องหัดสอนแบบออนไลน์ให้เป็นแต่ครูก็ทิ้งการสอนแบบออนไซต์ไม่ได้ และในบางสถานการณ์ครูต้องสอนควบคู่ทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ในเวลาเดียวกัน ขณะที่ตัวครูเองก็ต้องการมีชีวิตส่วนตัวทั้งในด้านการดูแลครอบครัว การดำรงชีพ การรักษาสุขภาพ และการพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ ไม่ง่ายเลยสำหรับคุณครูยุคใหม่ที่จะสร้างสมดุลชีวิตตามภาพมายาคติ “Work-Life Balance” และคงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงอีกว่าครูยุคใหม่คือ “มนุษย์ผู้มีพลังวิเศษ” ที่การเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ใด ๆ ก็ไม่อาจขวางกั้นพลังแห่งความมุ่งมั่น ทุ่มเท และศรัทธาต่อวิชาชีพครู เพราะครูคือ “Superpower of the new era” ตัวจริง หันกลับมามองว่าประชาชนมีความคิดเห็นต่อครูไทยอย่างไรบ้าง? ผ่านผลสำรวจดัชนีครูไทยของ สวนดุสิตโพล ย้อนหลัง 10 ปี ระหว่างปี 2554-2563 (ดัชนีครูไทยเริ่มสำรวจครั้งแรกปี 2548) จากคะแนนเต็ม 10 พบว่า คะแนนดัชนีครูไทยต่ำที่สุดช่วง 3 ปี คือ ปี 2562 ได้คะแนน 6.25 คะแนน ปี 2561 ได้คะแนน 6.48 คะแนน และ ปี 2563 ได้คะแนน 7.35 คะแนน ขณะที่คะแนนดัชนีครูไทยสูงที่สุดช่วง 3 ปีเช่นกัน คือ ปี 2555 ได้คะแนน 7.86 คะแนน ปี 2554 ได้คะแนน 7.85 คะแนน และปี 2556 ได้คะแนน 7.80 คะแนน หากพิจารณาจากภาพรวมที่ประชาชนให้คะเนนดัชนีครูไทย ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ จะเห็นว่าคนไทยมองภาพครูแย่ลงในช่วงปีท้าย ๆ ของการสำรวจ อาจเป็นเพราะการเข้าถึงและ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับครูนั้นง่ายมากขึ้นและสะดวกยิ่งขึ้นอันเนื่องมาจากการขยายตัวของโซเชียลมีเดีย สำหรับดัชนีครูไทยปี 2564 “ครูไทยในยุคโควิด-19” ที่กำลังสำรวจและจะเผยแพร่ ๆ ในสุดสัปดาห์นี้ ครอบคลุมตัวชี้วัด 20 ประเด็น ภาพรวมผลคะแนนดัชนีครูไทยปีนี้จะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร? คงต้องรอลุ้นกันเองครับ และต้องไม่พลาดผลสำรวจเกี่ยวกับ “จุดเด่น” และ“จุดด้อย” ของครูไทย ณ วันนี้ และสิ่งที่ครูไทยต้องปรับตัวในยุคโควิด-19 ด้วยเช่นกันครับ...