ทวี สุรฤทธิกุล ซอมบี้คือสิ่งมีชีวิตที่ตายซาก ไม่ต้องคิดเอง มีคนคิดและคุมให้ทำ และไร้ซึ่งชีวิตชีวา เมื่อปี 2561 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเคาะสนิมสติปัญญาของตัวเอง หลังจากที่ได้สอนรัฐศาสตร์มาด้วยความรู้เก่า ๆ กว่า 30 ปี ด้วยการไปร่วมสัมมนาวิชาการด้านรัฐศาสตร์นานาชาติ ที่จัดโดยสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (APSA : American Political Science Association) ที่จัดการประชุมในรูปแบบนี้มากว่า 60 ปี ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการจากทั่วโลก (นัยหนึ่งมีผู้ตีความว่า นี่คือการล่วงรู้ความลับเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของประเทศต่าง ๆ ของรัฐบาลอเมริกัน โดยผ่านฉากของกิจกรรมวิชาการปิดบังไว้ เช่นเดียวกันกับการให้ทุนการศึกษาและทุนวิจัยแก่นักวิชาการชาติต่าง ๆ) แต่ละปีจะมีนักวิชาการจากหลาย ๆ ประเทศมาร่วมประชุมนับพัน ๆ คน และมีการเสนอหัวข้องานวิจัยและบทความต่าง ๆ นับเป็นพัน ๆ เรื่องเช่นกัน (แต่หลังจากปีที่ผู้เขียนไปร่วม ต่อมาเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมารวมถึงที่กำลังจะจัดในปีนี้ จำเป็นต้องใช้การสัมมนาในรูปแบบทางไกล ทำให้ขาดรสชาติแบบที่เคยเป็นมากว่า 60 ปีนั้น) ในการสัมมนาครั้งนั้น มีหัวข้อที่น่าสนใจที่เพิ่งถูกนำเสนอเข้ามาในการสัมมนาของ APSA เป็นครั้งแรกก็คือ “Digital Politics for Democracy Privilege” ที่น่าจะแปลว่า “การเมืองแบบดิจิทัลเพื่อประชาธิปไตยที่มีสิทธิพเศษ” (เนื่องจากในปีนั้นหัวข้อหลักของการสัมมนาก็คือ Democracy Privilege ที่ต้องการจะบอกว่า ประชาธิปไตยในยุคใหม่นี้ จะเน้นในเรื่อง “การให้สิทธิพิเศษ” หรือการเอาใจใส่อย่างมากเป็นพิเศษให้กับประชาชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งมีนักวิชาการบางคนเรียกว่า Pixel Politics (ที่ผู้เขียนได้นำมาเขียนบทความในคอลัมน์นี้ตั้งแต่ที่กลับมาจากการไปร่วมสัมมนาเมื่อปลายปี 2561 นั้นแล้ว) เพราะในโลกสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้ก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก นักการเมืองสามารถสื่อสารกับประชาชนและผู้เลือกตั้งได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย ที่ไม่จำเป็นจะต้องเจอกันจริง ๆ แต่ก็สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ระหว่างกันได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือนักการเมืองจะต้องใส่ใจในรายละเอียดเชิงบุคคลให้มาก ๆ อย่างที่เรียกว่า “เป็นจุด ๆ” หรือมองให้ละเอียดไปจนถึงแต่ละ Pixel ของผู้เลือกตั้งนั่นเลยที่เดียว ไม่เฉพาะแต่เรื่อง เพศ อายุ อาชีพ รายได้ การศึกษา และการสังกัดกลุ่ม อย่างที่นักการเมืองในอดีตใช้เป็นข้อมูลเพื่อเจาะเข้าไปหาเสียงกับผู้เลือกตั้ง แต่ต้องละเอียดลงไปถึงรสนิยม ความชอบพอส่วนตัว และทัศนคติที่แยกไปตามเรื่องราวและสถานการณ์ ซึ่งเริ่มใช้ในการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ในสมัยที่นายบารัก โอบามา เลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. 2009 นั้นแล้ว ด้วยการใช้โซเชียลมีเดียแยกแยะผู้เลือกตั้งอย่างละเอียด แล้วนำเสนอสิ่งที่ผู้เลือกตั้งแต่ละคนนั้นต้องการ ทำให้ชนะเลือกตั้งได้อีกครั้งในปี 2013 แล้วก็มีนักการเมืองคนอื่น ๆ เอาอย่าง เช่น นายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็นำมาใช้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2017 ที่มีเรื่องอื้อฉาวว่า บริษัทจัดหาข้อมูลในอังกฤษที่รับจ้างนายทรัมป์ “แยกแยะข้อมูล” จากเฟซบุ๊ก ถูกฟ้องและยอมรับผิดในเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล จนทำให้หุ้นของเฟซบุ๊กดิ่งลงไปจนเกือบจะย่ำแย่ ด้วยเหตุที่โซเชียลมีเดียได้เพิ่มความสำคัญในการเลือกตั้งมากขึ้น เราก็จะได้เห็นการใช้โซเชียลมีเดียในการเลือกตั้งของไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน แม้ว่าในระยะนี้เราอาจจะยังเห็นภาพได้ไม่ชัดว่าได้นำมาใช้ในการเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด แต่ถ้าดูจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ ก็คงพอจะคาดการณ์ไปได้ว่า จะต้องถูกนำมาใช้ในการเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอนดังตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็ได้ใช้โซเชียลมีเดีย “สร้างกระแส” ให้เกลียดชังรัฐบาลอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “แยกขั้วทางการเมือง” ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองก็จะใช้ “ความเกลียดชัง” นี้เป็นเชื้อไฟที่จะ “สุมขอน” หรือค่อย ๆ บ่อนเซาะทำลายเผาไหม้รัฐบาล แน่นอนว่าในการเลือกตั้งก็จะเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่การโค่นล้มระบอบทักษิณในปี 2549 นั่นแล้ว ในขณะที่ทุกวันนี้กลุ่มเครือข่ายระบอบทักษิณก็กำลังจะ “เอาคืน” ระบอบประยุทธ์” ด้วยโซเชียลมีเดียนี้เช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้อ่านบทความในเฟซบุ๊กของนักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์ (ขออภัยที่จำชื่อและแหล่งอ้างอิงไม่ได้ เนื่องจากไม่เชี่ยวชาญในการใช้เฟซบุ๊กเท่าใดนัก) เขาบอกว่าคนที่เล่นโซเชียลมีเดียในทุกวันนี้ มีลักษณะเหมือน “ซอมบี้” คือจะอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ และคบกันแต่เฉพาะพวกที่เป็นซอมบี้ด้วยกัน คนพวกนี้จะเชื่อ จะคิด และมีพฤติกรรมตอบโต้ต่อสิ่งต่าง ๆ คล้าย ๆ กัน เหมือนกับว่า “ไม่ใช่ตัวของตัวเอง” แต่มีคนกำกับควบคุมหรือ “สั่งการ” ให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมา คล้าย ๆ หุ่นยนต์กระนั้น แต่ด้วยสภาพที่เหมือนสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ และรวมกลุ่มกันออกมาตามสถานการณ์ต่าง ๆ หรือแม้จะไม่ได้ออกมาในสถานที่ต่าง ๆ จริง ๆ แต่ก็จะรวมกลุ่มกันอยู่ในสภาพที่ทำอะไรทำตามกัน แบบไร้ความคิดหรือสติที่จะควบคุม และก่อกระแสความวุ่นวายอยู่ในโลกโซเชียล อันเกิดจากพิษสงของโลกดิจิตอล ซึ่งผู้เขียนขอเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ซอมบี้ดิจิทัล” คนที่เกิดมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คงจะรู้จัก “สงครามเย็น” ซึ่งก็คือสงครามระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิประชาธิปไตย ที่มีการล้างสมองผู้คนจนงมงายหลงใหลในสังคมแห่งความฝันของโลกแต่ละค่ายนั้น ขนถึงขั้นออกมาต่อสู้แบบเผชิญหน้า แล้วเสียหายล้มตายกันไปเป็นจำนวนมาก แต่สงครามในโลกดิจิทัล อาจจะมีการล้มตายไม่เท่าไหร่ แต่ก็จะมีการล้างสมองผู้คนในแบบเดียวกัน แต่ที่น่ากลัวคือโลกดิจิทัลสามารถล้างสมองผู้คนได้เป็นจำนวนมากกว่าและลึกซึ้งกว่า ทั้งยังทำให้คนตายทั้งที่ยังเป็น ๆ เหมือนเป็นซอมบี้ในโลกดิจิทัลกระนั้น ผู้เขียนเดาว่า รัฐบาลนั้นยังมองไม่เห็นอันตรายของโลกดิจิทัล คือยังประมาทว่าโลกดิจิตอลนั้นเป็นแค่โลกเสมือนจริง ไม่สามารถสร้างความกระทบกระเทือนอะไรได้จริง ๆ ในขณะที่รัฐบาลมีกองทัพ มีทหารที่ติดอาวุธ “ตัวเป็น ๆ” น่ากลัวกว่านักรบไซเบอร์หรือเหล่าเกรียนคีย์บอร์ดทั้งหลายนั้นมาก ก็จงคอยดูว่าจะสามารถต่อสู้กับเหล่าซอมบี้ดิจิทัลที่กำลังเพิ่มจำนวนอย่างมหาศาลมากขึ้นทุกวันนั้นหรือไม่ ซอมบี้นั้นมีเชื้อติดต่อกันได้ ติดง่ายและแพร่ได้เร็วพอ ๆ กับ โควิด-19 ใครไม่กลัวก็รอดู !