รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต การเลือกตั้งเป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลเข้าไปเป็นตัวแทนทำหน้าที่ปกครองหรือบริหารประเทศ อาทิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา และผู้บริหารท้องถิ่นอื่น ๆ โดยการให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงเลือกบุคคลที่เห็นสมควร ซึ่งการเลือกตั้งเป็นดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยโดยมีเหตุผลอย่างน้อย 5 ประการ ว่าทำไม? การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการที่ต้องมีตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย 1) ส่งเสริมความมีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชน 2) เปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองที่ทันสมัยและสันติวิธี 3) ป้องกันรัฐประหาร 4) ป้องกันการผูกขาดอำนาจ 5) ยึดในหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โอกาสดีของคนกรุงเทพฯ เขต 9 หลักสี่ คือผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งจะได้ออกไปใช้สิทธิในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมกราคม 2565 (30 ม.ค.) นี้ ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. เพื่อเลือกตั้งซ่อม ส.ส. คนใหม่ แทนนายสิระ เจนจาคะ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ 22 ธ.ค.2564 เนื่องจากเคยถูกจำคุกคดีฉ้อโกงเมื่อปี 2538 ทำให้เข้าข่ายขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ กทม. เขต 9 หลักสี่ มีหน่วยเลือกตั้งทั้งสิ้น 280 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 170,764 คน แบ่งเป็นเขตหลักสี่ 122 หน่วย (แขวงทุ่งสองห้องและแขวงตลาดบางเขน) จำนวน 86,544 คน และเขตจตุจักร 158 หน่วย (เฉพาะแขวงลาดยาว แขวงเสนานิคม และ แขวงจันทรเกษม) จำนวน 84,220 คน ตัวแทนพรรคการเมือง 8 พรรคที่ส่งตัวแทนชิงชัย ส.ส. คนใหม่ หวังคว้าเก้าอี้ ส.ส.เมืองหลวง เขต 9 ได้แก่ นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ พรรคไทยภักดี นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า นายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย นางสาวกุลรัตน์ กลิ่นดี พรรคยุทธศาสตร์ชาติ นายรุ่งโรจน์ อิบรอฮีม พรรคไทยศรีวิไลย์ นายกรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ และนายเจริญ ชัยสิทธิ์ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พฤติกรรมการเลือกตั้งเป็นเรื่องของการกระทำ การแสดงออก รวมถึงความคิดและความรู้สึกของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่แสดงออกมา ซึ่งในภาพรวมแล้วคนกรุงเทพฯกับคนต่างจังหวัดมีพฤติกรรมการเลือกตั้งทั้งในส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน ด้านความเหมือน เช่น มองว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ กลัวเสียสิทธิทางการเมือง ให้ความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา ทำคุณประโยชน์ต่อพื้นที่ เป็นต้น ด้านความแตกต่าง เช่น คนกรุงเทพฯเลือกผู้สมัครจากความรู้ความสามารถ การฟังนโยบายหรือการปราศรัยหาเสียง ส่วนคนต่างจังหวัดเลือกผู้สมัครเพราะรู้จักเป็นการส่วนตัว ได้รับเงินหรือของแจก ถูกชักชวนจากญาติ/เพื่อน อิทธิพลของหัวคะแนน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นคนกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัดจะผันแปรไปตามปัจจัยส่วนบุคคลเป็นสำคัญด้วย ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯ ปี 2565 ช่วงที่โควิด-19 ยังไม่จางหาย อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยภายในของตัวผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือก ส.ส. กทม. เขต 9 ได้แก่ อายุ/วัย เพศสภาพ สถานภาพ การศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมถึงมุมมอง/ทัศนคติทางการเมือง ซึ่งปัจจัยด้านอายุ/วัย ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเฉพาะกลุ่ม New Voter และกลุ่ม Swing vote น่าจะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่มิใช่น้อย โดยเฉพาะการไปใช้สิทธิและการลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ถ้ามองจากปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง เช่น คุณสมบัติของผู้สมัคร พรรคที่สังกัด (ความเก่าหรือความใหม่ของพรรค) นโยบายที่นำเสนอ ผลงานที่ผ่านมา เป็นต้น ส่วนอิทธิพลที่มีผลต่อการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กทม. เขต 9 ประกอบด้วย สื่อเก่า สื่อใหม่ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ทวิตเตอร์ ไลน์ เพจเฟซบุ๊ก พอดแคสต์ ฯลฯ ตลอดจนกลยุทธ์การหาเสียง วาทกรรมที่ใช้หาเสียง ความศรัทธาที่มีผู้นำชุมชน เป็นต้น ไม่ว่าตัวแทนจากพรรคใดจะชนะหรือแพ้ศึกการเลือกตั้งซ่อม กทม. เขต 9 คราวนี้ สิ่งที่ชาวหลักสี่คาดหวังจาก ส.ส. คนใหม่ เช่น ช่วยสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ ทำงานแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ ทำงานเชิงรุก ทำงานเร็ว นำเรื่องต่าง ๆ ในพื้นที่ไปเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ลงพื้นที่ดูแลทุกข์สุขประชาชน รับฟังปัญหา/เรื่องร้องทุกข์จากประชาชน ตลอดจนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชน และผู้แทนที่ดีในสภาฯ ท่านผู้อ่าน รักใคร? ชอบใคร?...เชิญตามสบายครับ