ทวี สุรฤทธิกุล ชะตากรรมของพรรคพลังประชารัฐกำลังดิ่งจมเหมือนพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาแบบมักง่ายทั้งหลายนั่นแล ผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า แม้พรรคการเมืองจะไม่ใช่สถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าใครคิดลบหลู่หมิ่นแคลน ก็อาจจะมีอันเป็นไปอย่างน่าอเนจอนาถต่าง ๆ นานา ผู้เขียนเคยบรรยายในชั้นเรียนนักบริหารระดับสูง (นบส.)ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)เมื่อหลายปีก่อน ในหัวข้อการพัฒนาการเมืองการปกครองไทย ในส่วนหนึ่งได้พูดถึงพัฒนาการของพรรคการเมืองไทย โดยสรุปให้เห็นว่า ส่วนใหญ่ตั้งขึ้น “อย่างลวก ๆ” มุ่งแต่จะเอาปริมาณเสียงมาสนับสนุนผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะในยุคที่ทหารเข้ามาตั้งพรรคการเมืองเสียเอง ก็นึกแต่เพียงว่า ส.ส.นั้นเป็น “ไอ้เณร” หรือทหารเกณฑ์ที่สามารถสั่งให้ซ้ายหันขวาหันได้ง่าย ๆ ซ้ำร้ายที่แย่ไปกว่านั้น ก็เพราะทหารคิดชุ่ย ๆ แต่ว่า ถ้าเอานักการเมืองเหล่านี้มา “ใส่ตะกร้าล้างน้ำ” ก็อาจจะทำให้สะอาดสดใสและดูดีขึ้นได้ ซึ่งความจริงที่เห็นและเป็นมาหาได้เป็นอย่างนั้นไม่ เพราะมันยิ่งทำให้การเมืองไทยแย่ลงมากขึ้นทุกวัน พรรคการเมืองที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2489 โดยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 ได้บัญญัติไว้ให้ ซึ่งผู้ที่ขอจดทะเบียนพรรคการเมืองพรรคแรกนั้นก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในชื่อพรรคก้าวหน้า พร้อมกับการขอจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น ๆ อีกนับสิบพรรค โดยเป็นการตั้งพรรคขึ้นภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้ว ดังนั้นพอถึงขั้นตอนที่มีการประชุมสภาเพื่อที่จะเสนอชื่อผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เกิดการรวมขั้วสร้างพลังต่อรอง โดยที่พรรคทั้งหลายส่วนหนึ่งได้มารวมกันเป็นพรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ กับพรรคประชาธิปัตย์ ที่สนับสนุนนายควง อภัยวงศ์ ว่ากันว่าถ้าไม่มีรัฐประหารใน พ.ศ. 2490 และให้รัฐสภาได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยน่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบนานาอารยะมาตั้งแต่ พ.ศ. นั้นแล้ว รัฐประหารนำมาสู่ “ยุคทหารครองเมือง” ที่กว่าโค่นล้มลงได้ก็ในปี 2516 ระหว่างนั้นทหารก็พยายามที่จะ “สร้าง” ประชาธิปไตยอยู่เหมือนกัน คือการสร้างตามวิสัยทหาร ที่คิดว่าจะบังคับเคี่ยวเข็ญเอาตามใจได้ทุกอย่าง เช่น การตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา ใน พ.ศ. 2495 ที่ไปกวาดต้อนเอาเหล่านักการเมืองที่ยอมอยู่ใต้ท็อปบู๊ต เอามารวมกับข้าราชการ ให้เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แต่พอถึงการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2500 รัฐบาลทหารก็ใช้กลโกงมากมาย จนได้ชื่อว่าเป็นการเลือกตั้ง “ครั้งที่สกปรกที่สุด” ทำให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ามายึดอำนาจแล้วปกครองแบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ(หมายถึงทหารเข้าควบคุมทุกอย่าง แม้กระทั่งใช้อำนาจพิเศษได้ตามต้องการ) ภายหลังอสัญกรรมของจอมพลผู้นี้ นายทหารที่ขึ้นมาแทนก็คือจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งก็พยายามผ่อนคลายด้วยการผลักดันรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ที่ใช้เวลาร่างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จนแล้วเสร็จ แล้วให้มีการเลือกตั้งในปีต่อมา โดยทหารได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้น ชื่อว่าพรรคสหประชาไทย ในลักษณะคล้าย ๆ กันกับพรรคเสรีมนังคศิลานั้น คือกวาดต้อนนักการเมืองที่โลภโมโทสันเข้ามาอยู่ในพรรคมากมาย ดังนั้นบรรดานักการเมืองกเฬวรากเหล่านี้ก็ช่วยกันพังรัฐบาลเสียเอง เพราะเรียกร้องเอาผลประโยชน์ต่าง ๆ อย่างไม่จบสิ้น กระทั่งจอมพลถนอมต้องยึดอำนาจตัวเองล้มสภานั้นเสีย แล้วปกครองโดยเผด็จการต่อไป จนกระทั่งมีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญในปี 2516 และนำมาซึ่งเหตุการณ์วันมหาวิปโยคในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่นักศึกษาและประชาชนได้ออกมาเดินขบวนขับไล่กลุ่มทหารทรราชย์เหล่านั้น ในทำนองเดียวกันในยุค รสช. หลังการรัฐประหารในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ก็คิดจะใช้พรรคการเมืองมาสืบทอดอำนาจอีกเช่นกัน แต่คราวนี้ใช้กระบวนการที่แยบยลขึ้นมาอีกนิด ด้วยการให้นักการเมืองนั่นแหละไปจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาด้วยกันเอง แล้วเอาพรรคการเมืองนั้นมาสนับสนุนผู้นำทหาร ซึ่งก็คือพรรคสามัคคีธรรม แต่ก็ไปไม่รอดเพราะประชาชนก็ออกมาขับไล่ผู้นำทหาร ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 และล่าสุดก็คือพรรคพลังประชารัฐ ที่ก็มาในอีหรอบเดียวกัน คือตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและค้ำจุนบัลลังก์ให้ คสช. ด้วยการรวบรวม “กวาดต้อน” ส.ส.ทุกรูปแบบมาเข้าพรรค “ความชุ่ย” หรือ “มักง่าย” ของผู้มีอำนาจ ที่คิดง่าย ๆ แต่เพียงว่า ถ้าเอาผลประโยชน์อะไรหลอกล่อบรรดานักการเมืองไว้แล้ว นักการเมืองเหล่านั้นก็จะ “เชื่อง” หรืออยู่ในโอวาทด้วยดี ซึ่งประวัติศาสตร์ก็พิสูจน์แล้วว่า “มันไม่ได้ง่ายปานนั้น” เพราะนักการเมืองนั้นเป็น “มนุษย์พันธุ์พิเศษ” ที่ใช้ชีวิตอยู่กินและ “คิด” แตกต่างจากมนุษย์อื่นทั่วไป และไม่สามารถเลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย ๆ เพียงให้เงินและตำแหน่งฟาดหัว แต่ต้องเลี้ยงด้วยการให้เกียรติยกย่องและเอาใจใส่ตลอดเวลา เพราะนักการเมืองนั้นล้วนแต่อยากมี “ตัวตน” หรือ “หิวแสง” ด้วยกันทั้งสิ้น วิบัติการณ์ของพรรคพลังประชารัฐเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้นำทหารที่คิดจะเล่นการเมืองโดยเหยียบหัวนักการเมืองขึ้นไป หลายคนมองออกตั้งแต่แรกตั้งพรรคนี้แล้วว่า “จะไปไม่รอด” เพราะเต็มไปด้วยเสือ สิงห์ กระทิง แรด ไปทั้งพรรค บางคนก็มีแผลเหวอะหวะหรือ “สันหลังหวะ” มีคดีพะรุงพะรังอยู่เต็มตัว คนพวกนี้ล่อให้มาเข้าพรรคได้ไม่ยาก เพียงบอกว่าจะช่วยใช้อิทธิพลของการเป็นรัฐบาลและกองทัพ “คุ้มครอง” ให้อยู่รอดปลอดภัย ก็รีบก้มหัวเข้ามาซุกอยู่ใน “ไอ้โอ๊บ” ในทันที แต่พอคดีต่าง ๆ รัดตัวเข้ามา นักการเมืองสันหลังหวะเหล่านั้นก็สะดุ้งโหยง โดยที่ “บิ๊ก ๆ” ทั้งหลายไม่สามารถช่วยอะไรได้ นักการเมืองไร้อนาคตพวกนั้นก็ต้องดิ้นทุรนทุรายหาทางออก เมื่อตัวเองไม่รอดพ้น ไอ้คนที่หลอกพวกตัวเองเข้ามาก็ขออย่าได้อยู่เป็นสุข อย่างที่บางกลุ่มของพรรคพลังประชารัฐได้แยกตัวออกมา เพื่อ “ล้างแค้นให้สะใจ” ดังที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่นี้ไป อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้ก็ยังมีความหวังที่จะพออยู่รอดได้ อย่างน้อยก็ 2 แนวทาง หนึ่ง คือใช้ความวุ่นวายบีบบังคับให้บรรดา “บิ๊ก ๆ” หวนคืนมาใช้อิทธิพลในทางต่าง ๆ ช่วยพวกตนให้หลุดคดีต่อไป หรือสอง สร้างความเละเทะให้ระบบรัฐสภา จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีต้องยุบสภา แล้วคนพวกนี้ก็จะ “กระโดด” ไปเกาะนายใหม่ ด้วยความหวังอันเดียวนั้นว่า จะช่วยให้เขาอยู่รอดหรืออยู่เหนือกระบวนการยุติธรรมต่อไป ซึ่งทั้ง 2 แนวทางนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับคนไทยเลย ทั้งยังน่าจะเป็น “ตัวซวย” สร้างความเสื่อมทรามแก่ประเทศชาติอยู่อีกต่อไป ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เรียกสัตว์แบบนี้ว่า “ตัวสหัปมงคล” ลองค้นกูเกิ้ลอ่านได้ครับว่ามันคือตัวอะไร