เสรี พงศ์พิศ Fb Seri Phongphit ประชากรโลกกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเมือง ภายใน 30 ปีจะมีมากกว่าร้อยละ 70 ความจริง หลายประเทศมีมากกว่าร้อยละ 80 แล้ว โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่โตไม่หยุด เมืองที่มีประชากรเกิน 10 ล้านคนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว บางแห่งรวมรอบนอกด้วยนับประชากรได้ 20-30 ล้านคนทีเดียว แต่อีกด้านหนึ่ง คนก็อพยพออกไปอยู่ชานเมือง โดยเฉพาะคนมีเงินซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน ปล่อยให้คนจนเข้าไปอยู่ในเมือง หรือไม่ก็คนที่อยากอยู่ใกล้ที่ทำงาน ไปมาสะดวกอย่างกรุงเทพฯ ที่มีปัญหาจราจร คนอยู่ชานเมืองต้องตื่นตีสามตีสี่ นั่งมอเตอร์ไซค์ไปปากซอย นั่งรถเมล์อีกสองต่อสามต่ออีกสองชั่วโมงกว่าจะถึงที่ทำงาน กลับบ้านตอนเย็นก็สองทุ่ม ได้นอนจริงๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง เสียเวลาเสียเงินเสียสุขภาพไปกับการเดินทาง หลายคนจึงหาทางเข้าไปอยู่ในเมือง ไม่ต้องเดินทางไกล ไปเช่าห้องพัก ไปซื้อคอนโด แม้จะเล็กนิดเดียวก็ยังดีที่ได้นอนอิ่ม ตื่นหกโมงได้ ชุมชนแออัดที่เกิดขึ้นหลายร้อยแห่งในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ แก้ปัญหากันหลายแบบ พัฒนาแฟลต ย้ายคนขึ้นไปอยู่ที่สูง ทำให้ชุมชนแออัดส่วนหนึ่งหายไป มองจากกูเกิ้ลเอิร์ธ แทบไม่เห็นหลังคาติดกันมากมายเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็มีดราม่าไม่น้อย เพราะที่ให้ย้ายไปอยู่ชานเมือง จัดสรรบ้านพร้อมที่ดินแปลงเล็กๆ ให้ก็ทำให้คนต้องปรับตัวปรับอาชีพกันใหม่ เพราะย้ายไปก็ทำได้ไม่สุด คือ ไม่ได้ให้หลักประกันด้านอาชีพรายได้ เหมือนกับตอนที่อยู่กลางกรุง ด้วยเหตุนี้ ชุมชนข้างคลอง ข้างทางรถไฟหลายแห่ง และที่อื่นๆ จึงไม่ยอมย้ายไปไหน เพราะพวกเขาคงอดตาย ไม่มีงานทำ ไม่มีที่ทำมาหากินเหมือนที่เดิม แต่อีกด้านหนึ่งก็เห็นการเติบโตของกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ในบ้านเราไม่ได้เร็วเหมือนในหลายประเทศ กรุงเทพฯ ไม่ได้มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านเหมือนเมืองหลวงหลายแห่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิถีวัฒนธรรมของคนไทยที่ยังผูกพันกับพ่อแม่พี่น้อง แม้ลูกหลานไปทำงานกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้ย้ายไปอยู่ ยังไปๆ มาๆ ทำให้เทศกาลสำคัญมีปัญหาจราจร ติดอยู่บนถนนเป็นวันเป็นคืน กว่าจะถึงบ้าน เขียนมาเพื่อจะฝันไปว่า ถ้าบ้านเมืองของเรามีวิสัยทัศน์พัฒนา ก็น่าจะส่งเสริมสนับสนุนเมืองเล็ก เทศบาล ตำบล ให้เจริญน่าอยู่ คนจะได้ไม่อพยพย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพฯ เพราะคนเข้าเมืองด้วยเหตุผลที่เข้าใจได้ว่า มาจากการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน หนี้สิน ไม่พออยู่ ไม่พอกิน ต้องดิ้นรนหาทางออก ด้านหนึ่งก็เป็นแนวทางการบริหารจัดการของแต่ละท้องถิ่น อบต. เทศบาล ที่ก็พยายามกันเต็มที่ แต่รัฐไม่กระจายงบประมาณ ไม่มีแผนการกระจายอำนาจ งบประมาณจึงกระจุกอยู่กรุงเทพฯ สร้างรถไฟฟ้าใต้ดินบนดิน ทางด่วนมากมาย ขยายถนนหกเลนแปดเลน อำนวยความสะดวกให้เมืองใหญ่เติบโต แต่เมืองเล็ก ชนบทหมู่บ้านยังไม่พัฒนา ถ้ามีงบ มีแรงจูงใจให้ไปอยู่ชนบทด้วยการลดภาษีให้อาชีพสำคัญๆ อย่างที่เยอรมัน ก็จะกระจายความเจริญไปได้มาก เมืองเล็ก ชนบทเยอรมันจึงแทบไม่ต่างจากเมืองใหญ่ แล้วจะย้ายเข้าไปทำไม รองจากกรุงเทพฯ ก็เป็นปริมณฑลที่ได้อานิสงส์จากนโยบายของรัฐที่รวยกระจุก จนกระจาย ทำให้คนย้ายจากในเมืองมาอยู่ในปริมณฑล ไปมาสะดวก รถไฟฟ้าไปถึง ถนนหนทางไปถึง มีศูนย์การค้าที่ปากซอย ตลาด ไปรษณีย์ โรงพยาบาล สถานที่ราชการอยู่ไม่ไกล เป็นเมืองเล็กในอุดมคติ ไม่ต้องออกไปไหนสั่งอาหารมากินที่บ้าน ส่งของก็มีคนมารับไปส่งให้ ไม่ต้องไปถึงไปรษณีย์ก็ได้ เดินทางไปต่างจังหวัดก็ง่าย คงไม่ต้องวิพากษ์นโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลแล้ว แต่อยากเสนอเรื่องเดียวให้พรรคการเมืองพิจารณา คือ เรื่องรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI Universal basic income) ที่เคยเสนอไปนานและหลายครั้ง ซึ่งวันนี้รัฐบาลไม่ทำ UBI ก็เหมือนทำ คือ แจกเงิน เพียงแต่ไม่ได้มีระบบอะไรรองรับ ทำเป็นงบฉุกเฉิน เป็นกรณีพิเศษ ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่สภาพสังคมไทยไม่ปกติมานานแล้ว ไม่ใช่เป็นตอนที่เกิดโควิดระบาด ทำอย่างไรให้พลเมืองมีรายได้ต่อเดือนสัก 5,000 บาทต่อคนไปตลอด ไม่ใช่แต่ตอนเกิดวิกฤติ เป็นหลักประกันให้เขาอยู่รอดได้ ได้มีเวลามีปัจจัยทำอะไรใหม่ๆ โดยไม่ต้องเอาแต่วิ่งหางานทำ รับจ้าง เพราะตั้งหลักไม่ได้ คนเราตั้งหลักได้ก็คิดได้ คิดอะไรออกก็เดินหน้าได้ วันนี้เราเห็นคนพิการ คนแก่ ยังต้องดิ้นรนทำงาน เก็บขยะ เก็บขวดไปขาย ไปนั่งขายผักสองสามกำที่ตลาดนัด ทั้งๆ ที่อายุมากจนแทบเดินไม่ได้ ตามองไม่เห็น ลูกหลานหลายคนต้องดูแลพ่อแม่แก่ที่บ้าน ไม่ได้ทำงาน ก็ไม่มีรายได้ หลายคนทิ้งลูก ทิ้งพ่อแม่อยู่บ้านเพื่อไปหางานทำ ทั้งๆ ที่งานบ้านทุกอย่างก็งานเหมือนกัน ไม่ใช่แต่เพื่อศักดิ์ศรีและคุณภาพชีวิต แต่เพื่อเศรษฐกิจของประเทศ ลองคิดดูว่า ถ้าประชากรเทศบาลหนึ่ง อบต.หนึ่งมีประชากร 30,000 คน มีรายได้ต่อคน คนละ 5,000 บาทต่อเดือน จะมีเงินหมุนเวียนเดือนละ 150 ล้านบาท ปีละ 1,800 ล้านบาท หมุนหลายรอบจะได้เท่าไรเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นี่แค่ UBI ถ้ารวมกับรายได้อื่นๆ ที่เกิดจากการริเริ่ม และนำเงินไปต่อยอด จะได้อีกเท่าไร ชาวบ้านได้เงินรายเดือนก็จะกล้าลงทุน กล้าเสี่ยงบ้าง เพราะไม่กล้าเอาเงินกู้จากธกส.ไปลงทุน เพราะกลัวล้มเหลว เป็นหนี้เพิ่ม จะเกิดสิ่งใหม่ๆ เป็นคล้าย “สตาร์ทอัพ” เล็กๆ ของชุมชน วิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง ที่จะเป็นพลังสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของประเทศ คงมีคำถามมากมายว่าจะเอาเงินจากไหนมาใช้มากมาย ความจริงก็มีคำตอบ แม้แต่ที่สหรัฐฯที่มีคนเสนอให้เงิน UBI 1,000 เหรียญต่อเดือน เขายังมีคำตอบว่าจะเอาเงินจากไหน ของไทยเราคงไม่มีใครกล้าเอาแนวคิดนี้ไปใช้ทันที แต่ถ้ามองให้ไกลย่อมจะเริ่มทำการวิจัยก่อนสักสามปีห้าปี เหมือนที่ประเทศต่างๆ ทำกันแล้ว หรือกำลังทำอยู่ ทั้งที่ยุโรป แอฟริกา เอเชีย ได้ผลอย่างไรค่อยดำเนินการกันต่อไป ตอนที่รัฐบาลเมื่อ 20 ปีก่อนรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของแพทย์ชนบท คนก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ทำได้จนถึงวันนี้ เรื่อง UBI ถึงยังไม่รับเป็นนโยบาย ถ้าชิงปักธงศึกษาเตรียมการก่อนใคร พรรคการเมืองนั้นมีอนาคตอย่างแน่นอน