ทวี สุรฤทธิกุล พรรคการเมืองก็เหมือนสินค้า ที่ราคาขึ้นอยู่กับตัวคนในพรรค ไม่ใช่แบรนด์หรือความยิ่งใหญ่ ข่าวพรรคการเมืองกำลังโชว์ตัวกันพรึบพรับ อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาของฤดูกาลที่กำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่สำหรับคนที่สนใจจะลงเล่นการเมือง ยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องที่จะต้องให้คิด เช่น พรรคนี้จ่ายหนักไหม จะได้เป็นรัฐบาลไหม และจะมีตำแหน่งอะไรให้ไหม เช่นเดียวกันกับพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม ก็พยายามที่จะ “เขย่าขวด” คือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ในพรรคให้ดีขึ้น ทั้งการจัดทัพเพื่อสู้ศึก และการเตรียมทุนรอนกับผู้คนให้พรักพร้อม ทั้งนี้ก็เพื่อจะรักษาตัวพรรคนั้นเอาไว้ รวมถึงเพื่อที่จะ “ล่อ” เอาผู้ที่อยากสมัครลงรับเลือกตั้งให้มาเข้าพรรค ในทำนองขุดบ่อล่อปลา หรือเปิดไฟล่อแมลงเม่ากระนั้น ภายใต้กระบวนการที่เรียกว่า “การสร้างราคา” ขอเริ่มจากพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนหลักของรัฐบาลนี้ก่อน ถ้าจะว่าไปแล้วตอนที่เริ่มตั้งพรรคเพื่อลงเลือกตั้งในปี 2562 ก็ไม่น่าจะให้ราคาเท่าใดนัก เพราะแกนหลักของพรรคมาจากหลายส่วนหลายกลุ่ม กลุ่มที่ดูหน้าตาดีหน่อยก็คือ “กลุ่มสี่กุมาร” ที่ต่อมาหลังการเลือกตั้งและได้ร่วมอยู่ในรัฐบาลเพียงปีเศษก็ถูกเขี่ยออกมา อีกกลุ่มหนึ่งก็คือ “กลุ่มสามมิตร” ที่ไม่ได้ต่อรองอะไรมาก ขอแต่เพียงให้ได้เป็นรัฐบาลและมีตำแหน่งรัฐมนตรีบ้าง และกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดอันกระสานซ่านเซ็นมาจากกลุ่มการเมืองเก่าบ้างใหม่บ้าง แต่มีอุดมการณ์เหมือนกัน คือหนุนลุงตู่ ก็มารวมกันอยู่อย่างหลวม ๆ รวมถึงกลุ่มที่พี่ใหญ่ในกลุ่ม “3 ป.” ไปกวาดต้อนมาเสริมบารมีไว้ นอกจากนั้นก็มีเด็กฝากจากผู้คนในหลาย ๆ ส่วน เช่น พวก กปปส. และซาหริ่มหลากสี เป็นต้น ด้วยโครงสร้างพรรคแบบนี้ ที่มีการผสมกันอยู่อย่างหยาบ ๆ และผู้คนที่มาอยู่ก็หมอง ๆ มัว ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาตอนเปิดตัวไม่ดีเท่าใดนัก เพียงแต่ได้เปรียบพรรคอื่นก็ตรงที่มีลุงตู่เป็นตัวขาย และแนวโน้มที่จะได้เป็นรัฐบาล(ด้วยเล่ห์กลในรัฐธรรมนูญ)เป็นแรงดูด จึงทำให้พรรคพลังประชารัฐ “มาแรง” กว่าพรรคใด ๆ แต่ทว่าพอมาถึงตอนนี้ ทุกคนก็คงจะเห็นแล้วว่า หนอนที่เจาะไชพรรคนี้มาแต่แรก ได้ติดปีกออกมาเป็นแมลงวันแล้ว และก็ไม่แน่ว่าแมลงวันอีกหลายตัวที่บ่มเพาะอยู่ในพรรคการเมืองนี้ จะสลัดคราบหนอนอ้วนในกองผลประโยชน์นั้นออกมาเมื่อใด เพราะมีความเป็นไปได้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง อาจจะไม่เหลือชื่อพรรคพลังประชารัฐในสนามเลือกตั้งนั้นก็ได้ พรรคต่อมา พรรคภูมิใจไทย ก็เป็นพรรคที่ยังพอจะมีอนาคต ว่าไปแล้วพรรคนี้พอมีราคาอยู่ก็ตรงที่ แกนนำของแต่ละกลุ่มยังรักกันดี และมีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ทำให้หัวหน้าก๊วนยังคบกันมาได้ถึงวันนี้ อีกทั้งลูกก๊วนก็ยังไม่แตกแถว (เมื่อถือถาดมารอรับอาหารก็ได้รับการตักแบ่งด้วยดี ในขณะที่บางพรรคมีคนที่เคยอวดใหญ่อวดรวยมาระยะหนึ่ง พอทำมาหากินไม่สะดวก และแกนนำคนอื่น ๆ ไม่ช่วยแบ่งเบาภาระ ก็เล่นเกมแรง ตั้งแต่สมคบคิดที่จะไม่ยกมือให้นายกรัฐมนตรี จนถึงออกมาอยู่ในพรรคใหม่เพื่อสร้างอำนาจต่อรองแลความวุ่นวายโกลาหล) พร้อมกันนั้นด้วยการเก็บกอมรอมริบอย่างระมัดระวัง ไม่โฉ่งฉ่าง ในทำนองเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน ก็พอทำให้การเลือกตั้งในครั้งหน้า “ยังเหลือเบี้ยเหลือหอย” ไว้เลี้ยงดูคนที่อยู่มาแต่เดิม กับที่จะไว้ล่อใจพวกคนใหม่ ๆ เข้ามาได้อีกพอสมควร แต่กระนั้นพรรคภูมิใจไทยก็ดูจะ “ราคาไม่สูง” เพราะขาดหัวในพรรคที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ยกเว้นจะชูนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคให้ขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ แต่ดูกลยุทธของพรรคนี้แล้ว น่าจะหนุนผู้นำทหารอยู่นั่นแล เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยังไม่ได้แก้เรื่องกระบวนการเสนอชื่อและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี กับที่ยังคงอำนาจ ส.ว.ที่มีทหารเป็นผู้ตั้งเข้ามา ไว้ยกมือหนุนนายกรัฐมนตรีกับค้ำจุนรัฐบาล ก็ทำให้พรรคนี้อาจจะแค่ไปกราบผู้ใหญ่ในกองทัพ เพื่อขอโทษว่าจะขอเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่พอเป็นพิธี ขอ “พี่ท่าน” อย่าได้ถือสาหรือเคร่งเครียดว่าจะเอาตำแหน่งนี้จริง ๆ เลย พรรคใหญ่อีกพรรคหนึ่งที่ต้องกล่าวถึง(ทั้งที่ราคาในช่วงนี้ตกลงไปมาก) ก็คือ พรรคประชาธิปัตย์เพราะก็ยังมีบางอย่างที่ยังพอขายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ลงคะแนนที่ไม่ได้คิดอะไรมาก แบบความสงบจบที่ลุงตู่บ้าง แบบอยู่แบบลมหวนกับตาชวนบ้าง (คือติดยึดกับอดีตที่ยาวนานของพรรคนี้ ที่มีคนเก่าคนแก่จำนวนมาก) แต่ก็น่าจะราคาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้ก็ยังมีจุดเด่นในเรื่องการจับกระแสสังคม เช่น ในยุคที่เกลียดทหารก็ด่าทหารอยู่เป็นช่วง ๆ แต่พอมาถึงยุคนี้ที่เขานิยมทหารกัน ก็ยอมอมได้ทั้งหวานทั้งขมที่จะอยู่ในโรงครัวของกองทัพ แบบว่าช่วยกันทำมาหากินแต่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ถ้าจะถามว่าอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้จะเป็นอย่างไร ก็คงพอบอกได้เป็นพรรคที่ “ตัดไม่ตาย ขายไม่ขาด” และจะยังคงสามารถรักษาสภาพความเป็น “ดึกดำบรรพ์” นี้ได้อีกสักระยะ เพราะถ้าปะเหมาะเคราะห์ดี ได้สมาชิกรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาสร้างกระแสอย่างในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็อาจจะชุบฟื้นชีวิต “แฟรงเก้นท์ประชาธิปัตย์” ให้ดูคึกคักขึ้นมาได้บ้าง รวมถึงที่น่าจะยังพอจะได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ แต่ถ้าอยู่ในสภาพนี้(ทราบว่าอย่างกรณีของ “ดร.พี่เอ้” ที่จะลงรับสมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อถึงคราวที่พรรคจะต้องเข้ามาอบอุ้มช่วยเหลือ ก็ดูเงียบกริบ และทำท่าจะ “ไสส่ง” ออกไปเสียอีก)ก็คงไปได้ไม่ถึงไหน และน่าจะมี “เลือดไหลออก” อีกพอสมควร แม้แต่ในเขตภาคใต้ที่เป็นฐานเสียงของพรรคนี้มาโดยตลอด ในระยะหลังก็เริ่มทีพรรคอื่น ๆ เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ ส.ส.ของพรรคนี้จะลดน้อยถอยลง อีกทั้งยังเป็นพรรคที่ “ท้องผูก” ไม่ค่อยจะระบายผลประโยชน์อะไรให้กับใครง่าย ๆ อาจจะทำให้เป็นที่ดุงดูดให้นักการเมืองประเภทเสือหิวเข้ามาหา ในขณะที่คนที่ยังอยู่ในพรรค ก็ต้องอดทนกัดก้อนเกลือกินกันต่อไป จนกว่าจะมีคนมาเซ้งและทำให้การทำมาหากินรุ่งเรืองขึ้นบ้าง คงจะว่ากันได้เพียงพรรคใหญ่ ๆ ที่ร่วมกันเป็นรัฐบาลอยู่ขณะนี้ 3 พรรคนี้ก่อน ส่วนพรรคใหญ่ ๆ ในฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ก็เอาไว้ว่ากันต่อไปในโอกาสอื่น ๆ รวมถึงบรรดาพรรคเล็ก ๆ ที่กูรูจำนวนมากเชื่อว่าท่าจะอยู่ลำบากภายใต้รัฐธรรมนูญและกระบวนการเลือกตั้งที่เป็นอยู่นี้ พรรคที่จะอยู่รอดไม่เพียงแต่จะต้องมีคนใหญ่ ๆ อยู่ในพรรคมาก ๆ แต่คนเหล่านั้นต้อง “ใจใหญ่” มาก ๆ อีกด้วย พรรคนั้นจึงจะดูดีและมีราคา