ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ แม้จะเป็นเหตุการณ์หรือปมปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง แต่ ณ เวลานี้ ผู้คนต่างก็จับตามองเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดต่อกรณีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งล่าสุด พร้อมกับมวลคำถามมากมายที่เคยลอยล่องอยู่เสมอในฤดูการโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งจะมีผลพ่วงต่อการบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปด้วย ชื่อชั้นของรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง "นายสายัณห์ อินทรภักดิ์" ย่อมคุ้นเคยกันดีกับคนชายแดนใต้ ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานจังหวัดนราธิวาส ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา โดยในขณะดำรงตำแหน่ง เป็นห้วงที่เขาต้องสูญเสียเพื่อนข้าราชการในระดับรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และเป็นเพื่อนรักด้วย คือ "นายอิศรา ทองธวัช" จากเหตุการณ์ถูกลอบวางระเบิดขบวนรถยนต์ขณะกำลังเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในอ.เบตง จ.ยะลา นอกจากนี้ระหว่างการรับราชการ เขามีผลงานมากมายเป็นที่ปรากฏทั้งรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น (ครุฑทองคำ) สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2545 ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดดีเด่น (สำนักงานป.ป.ส.) พ.ศ. 2548 หรือข้าราชการผู้มีผลงานดีเด่นด้านการบริหารงานบุคคล(สำนักงาน ก.พ.) พ.ศ. 2550 เป็นสิ่งการันตีได้เป็นอย่างดีในเนื้องาน ดังนั้นพลันที่ปรากฏจดหมายฉบับที่ 1 ถึงเพื่อนข้าราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เนื้อหาในจดหมายฉบับที่ 1 จากนายสายัณห์ อินทรภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ระบุว่า วันที่ 20 กันยายน 2559 จะตัดสินใจยื่นถวายฎีกา และยื่นฟ้องศาลปกครอง เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งล่าสุด โดยแจกแจงรายละเอียดว่า มีความจำเป็นต้องถวายฎีกาและฟ้องศาลปกครอง เพราะรับราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2558 เป็นเวลา12 ปี ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ยะลา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 ถึงเดือนกันยายน 2558 เป็นเวลา 3 ปี 8 เดือน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ให้นำอายุราชการทวีคูณมาคิดคำนวณด้วย เมื่อได้อายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา 7 ปี 4 เดือน ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง อีก 1 ปี รวม 8 ปี 4 เดือน "ปีที่แล้วกระผม และ นายอุดร น้อยทับทิม อาวุโสที่จะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา แต่ไม่แต่งตั้ง แล้วยังย้ายกระผมจากยะลามาตรังโดยไม่มีเหตุผลอะไรท่านอดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ท่านบอกกระผมว่า ท่านตรวจสอบจากทางฝ่ายทหารแล้ว กระผมไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ท่านจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้กระผมอยู่ยะลาต่อกระผมจะว่าอย่างไร กระผมกราบเรียนท่านว่าอย่าเลยครับ เมื่อมีคำสั่งย้ายกระผมก็จะไปตามคำสั่ง กระผมถามผู้ใหญ่ในกระทรวงว่าย้ายกระผมมาตรังทำไมครับ ผู้ใหญ่ท่านนั้นบอกว่า เออน่าใจเย็นๆ ปีหน้า(หมายถึงปี 2559) จะจัดการให้ เพราะกระผมอายุราชการ รอง ผวจ. 8 ปี 4 เดือน อาวุโสที่สุดในประเทศไทย" นอกจากนี้ยังได้แจกแจงอีกด้วยว่า ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดมา ไม่เคยทุจริตคิดชั่ว ไม่เคยกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ไม่เคยมีปัญหาในพื้นที่กับข้าราชการหรือประชาชน ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองตั้งหน้าตั้งตาทำงานโดยไม่เลือกงาน ทำทุกงาน วันหยุดไม่มี ปีนี้การแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด คนที่เป็นรองฯ มา 2 ปี และ ไม่ถึง 2 ปี ได้รับการแต่งตั้งหลายคน ในขณะที่ตนเองจะเกษียณปี 2560 อาวุโสอันดับ 1 (8 ปี 4 เดือน) ต่อมา ปรากฏจดหมายถึงเพื่อนข้าราชการกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่2) ตอบโต้ นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ชี้แจงผ่านสื่อต่างๆ ก่อนหน้าว่า เป็นการกลืนน้ำหมึกตัวเองในเรื่องการนับอายุราชการทวีคูณผู้ปฏิบัติงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอธิบายว่า เกี่ยวกับการนับอายุราชการทวีคูณผู้ปฏิบัติงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ในประกาศของกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกครั้ง รวมทั้งครั้งล่าสุดนี้ ให้นำเอาระยะเวลาในการปฏิบัติราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาคิดคำนวณ เป็นระยะเวลาในการคัดเลือกด้วย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาให้ถือปฏิบัติทุกกระทรวง และในวันสอบวิสัยทัศน์ กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ก็คำนวณอายุราชการให้แต่ละคนลงนามรับทราบระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของตนเอง "ระยะเวลาของกระผมที่กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ลงนามรับทราบคือ 8 ปี 4 เดือน อาวุโสอันดับ 1 ของรองผู้ว่าราชการจังหวัดในประเทศไทย กรุณาเลิกแกล้งโง่ หรือแกล้งไขสือกันนะครับ พวกกุนซือท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยทั้งหลาย แต่ดีแล้วที่ชี้แจงแบบนี้เข้าทางกระผมเลยครับ ในคำถวายฎีกา และในคำฟ้องศาลปกครองกระผมจะได้ทำเป็นเอกสารแนบประกอบคำถวายฎีกา และประกอบคำฟ้องให้ละเอียดชัดเจน เพราะในวันสอบวิสัยทัศน์ที่กระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 11 ก.ย.59 เวลา 13.30 น. กระผมได้ถ่ายเอกสารการนับอายุราชการของแต่ละคนไว้ในโทรศัพท์มือถือของกระผมเพื่อจะได้ให้จำได้ ไม่คิดว่าจะต้องนำมาใช้ในครั้งนี้" ต่อมา นายสายัณห์ อินทรภักดิ์ ได้หยิบยกเรื่องที่จะร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับข้อสงสัยของผู้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดในครั้งนี้ว่า เหตุใดรองผู้ว่าฯ ที่มีอาวุโสเป็นรองผู้ว่าฯ มา 4-5-6-7-8 ปี ซึ่งมีคะแนนประวัติการรับราชการ (อายุราชการ วุฒิการศึกษา การดำเนินการทางวินัย) รวม30 คะแนน มาแพ้รองผู้ว่าฯ ที่เพิ่งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ 1-2 ปี ในกลุ่มคะแนนสัมภาษณ์วิสัยทัศน์และผลงาน ที่มีคะแนนเต็มเพียง 20 คะแนน จนทำให้รองผู้ว่าฯ อาวุโส 3-8 ปี ต้องตกลงมาอยู่หลังลำดับที่ 24 (แต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด 24 ท่าน) แสดงว่ากลุ่มรองผู้ว่าฯ อาวุโสเกือบจะไม่มีคะแนนสัมภาษณ์ 20 คะแนนเลย เป็นไปได้อย่างไร "ขอกราบเรียนว่า การร้องขอความเป็นธรรมครั้งนี้ ไม่ได้ขอให้ดำเนินการจัดสอบคัดเลือกใหม่นะครับ เพราะท่านรองผู้ว่าฯ อาวุโส 3-4-5-6-7 ปี ที่ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้วท่านไม่ควรที่จะมาได้รับผลกระทบกระเทือน แต่จะขอให้ดำเนินการตรวจสอบคะแนนสัมภาษณ์ผลงานและเอกสารวิสัยทัศน์ของรองผู้ว่าฯ ที่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ เพียง 1-2 ปีว่าทำไมได้คะแนนในกลุ่ม 20 คะแนน ชนะรองผู้ว่าฯ 3-4-5-6-7-8 ปี จนทำให้รองผู้ว่าฯ 8 ปี 4 เดือน อย่างกระผม และรองผู้ว่าฯ 3-7 ปี อีกหลายท่านคะแนนตกลงมาอยู่ลำดับที่ 25-48" เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากทุกฝ่าย ถึงขนาดที่ทาง สหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (ส.ปอ.ท.) ยังได้ยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้อความการแต่งตั้งข้าราชการระดับบริหารสูง (ระดับ 10) ปี2559 ของกระทรวงมหาดไทย ที่ส่งผลกระทบต่อระบบคุณธรรม ยกประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบคุณธรรมให้เห็น 4 ประการ ครอบคลุมถึงเรื่องข้อสงสัยเรื่องการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเทียบเท่า ที่ดำรงตำแหน่งยังไม่ถึง 2 ปี หรือเพียง 2 ปีเศษ จำนวนหลายคน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเทียบเท่า โดยในครั้งนี้มีจำนวนหลายคน รวมถึงปัญหาเรื่องหลักความอาวุโสทางราชการ ความรู้ความสามารถ ความประพฤติ ผลงาน และประวัติการรับราชการ หรือนำเสนอความจริงให้ปรากฏต่อสังคม และกำหนดมาตรฐาน ให้เกิดความยุติธรรม ขณะเหตุการณ์ทั้งหมดกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ท่ามกลางเสียงสะท้อนว่าสิ่งที่ นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกมาชี้แจง กลับถูกพิจารณาในลักษณะมีเงื่อนงำ ไม่ชัดเจน หลายประเด็น รวมถึงที่ให้สัมภาษณ์ว่า "อยากให้สื่อไปถามคนในพื้นที่ดูว่า พฤติกรรมของนายสายัณห์เป็นอย่างไรบ้างถ้าถามผม แล้วผมพูดออกมาก็คงไม่มีใครเชื่อ" กลับถูกตีโต้กลับจาก "คนตรัง"ที่ออกมาการันตีโดยทันทีว่า รองผู้ว่าฯ คนนี้ "ดีจริง" พร้อมกับท้าให้ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง ถึงเวลานี้ เรื่องราวทั้งหมดคงต้องอาศัย "ชุดความจริง" มาอธิบายให้สังคมเข้าใจและคลี่คลาย ก่อนที่ปัญหาทุกอย่างจะลุกลามสร้างความเสียหายอีกมากมายเช่นที่ผู้ใช้นามปากกาว่า "ซี.12" เขียนเสนอไว้ในสื่อฉบับหนึ่งว่า หนทางที่จะระงับยับยั้งปัญหานี้มิให้บานปลายต่อไป ควรจะยอมรับความจริงและจัดการเยียวยาให้ผู้ที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยทันที ความจริงที่มหาดไทยเวลานี้ จึงอยู่กับองค์ประกอบเรื่อง "การยอมรับความจริง"ว่ามีความผิดพลาดแล้ว "เยียวยา" หรือการ "เดินหน้าต่อ" เพื่อแสดงหลักฐานให้เห็นชัดเจนว่า ทำไม นายสายัณห์ อินทรภักดิ์ ถึงไม่ได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจะส่งผลสะเทือนในวงกว้างนั่นย่อมหมายรวมถึงทัศนะและความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อระบบบริหารราชการ อีกด้วย