ทวี สุรฤทธิกุล บางทีอาจจะเป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบไทย ๆ ที่เล่นการเมืองแบบ “มีเจ้ามือ” เขียนเรื่องพรรคการเมืองติดต่อกันมาสองสามสัปดาห์ สาเหตุเพราะผู้เขียนมีเรื่องคาใจในความวุ่นวายทางการเมืองของไทยในขณะนี้ เช่น สภาล่มซ้ำซาก รัฐบาลถูลู่ถูกัง พรรคพังแล้วยังลากกันไป ส.ส.หิวแสง ฯลฯ ซึ่งเห็นว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทย และได้ส่งผลต่อการพัฒนาบ้านเมืองของประเทศไทยตลอดมา ผู้เขียนได้อ่านประวัติศาสตร์ไทยในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีนักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่า ถ้าคณะราษฎรยอมให้มีการต่อสู้กันระบบรัฐสภาอย่างแฟร์ ๆ ด้วยการยอมให้มีพรรคการเมืองขึ้นมาเป็นคู่แข่งและแข่งกันด้วยนโยบายให้เป็นทางเลือกกับคนไทย เราก็จะมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมาตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งตอนนั้นก็มีผู้ที่พยายามจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งแล้วด้วย นั่นก็คือการเกิดขึ้นของ “กลุ่มคณะเจ้า” ในต้นปี 2476 แต่คณะราษฎรไม่ยอม จึงเกิดความขัดแย้งกัน และตามมาด้วยการต่อสู้ที่เกือบจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง นั่นก็คือ “กบฏบวรเดช” ในปลายปี 2476 นั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อตอนที่สงครามใกล้จะจบในปี 2488 กลุ่มเสรีไทยที่ต่อต้านการเข้ามายึดครองประเทศไทยของญี่ปุ่น ได้เสนอให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาช่วยจัดการปัญหาของกองทัพให้กับประเทศไทยด้วย เพราะตอนนั้นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจทางทหารมาก ทางกลุ่มเสรีไทยจึงเสนอให้สหรัฐอเมริกามาจัดการกับกองทัพไทยเหมือนกับที่สหรัฐได้จัดการกับกองทัพญี่ปุ่น คือไม่ให้มีอำนาจในทางการเมืองอีกต่อไป ดังรัฐธรรมนูญที่สหรัฐได้ร่างให้กับญี่ปุ่นนั้น ซึ่งนักวิชาการท่านเดิมก็มีความเห็นว่า ถ้าสหรัฐได้มาช่วยวางโครงสร้างทางการเมืองการปกครองให้กับประเทศไทยในตอนนั้น เราก็อาจจะมีระบบการเมืองที่ดีและมีประสิทธิภาพอย่างญี่ปุ่นก็ได้ แต่ยังไม่ทันที่จะได้ดำเนินการอะไร ก็พอดีกับที่กลุ่มเสรีไทยได้เชิญ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน หัวหน้าเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา กลับประเทศไทยมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจัดให้มีการเลือกตั้งในทันที จากนั้นก็ให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา สำเร็จเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 ที่ว่ากันว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมาก ๆ เช่น ให้มีพรรคการเมือง เป็นต้น (ซึ่งได้นำเสนอในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน ๆ นั้นแล้ว) แล้วก็มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้นอีกครั้ง และสภาก็กำลังจะดำเนินไปด้วยดี ถ้าไม่เกิดเหตูการการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในกลางปี 2490 นั้นเสียก่อน ทำให้รัฐบาลต้องลาออก ตามมาด้วยการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 อันนำมาซึ่งการคืนสู่อำนาจของจอมพล ป. และกองทัพไทยอีกครั้ง และเป็นครั้งที่กองทัพได้หยั่งรากอำนาจลงไปอย่างแน่นลึกและแข็งแกร่ง ที่ได้ส่งผลต่อวัฒนธรรมทางการเมืองไทยอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ “ทหารคือผู้กอบกู้วิกฤติการณ์” ดังที่ทหารได้ทำรัฐประหารด้วยเหตุผลแบบนี้มาอย่างต่อเนื่องในทุกครั้งต่อมา พอผู้เขียนมองย้อนไปตั้งแค่ที่มีการก่อตั้งพรรคการเมืองยุคแรก ๆ คือเมื่อ พ.ศ. 2490 แล้วก็มองเห็นเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาในการก่อตั้งพรรคการเมืองของไทย นั่นก็คือไม่ค่อยพิถีพิถันในการตั้งพรรคแต่ละพรรคเท่าใดเลย คือทำเหมือนเป็นการตั้ง “วงเหล้า วงข้าว” แบบที่คนไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรชอบทำกัน คือนึกอยากจะสังสันทน์เฮฮาพบปะกันเพียงเท่านั้น ด้วยกระบวนการง่าย ๆ แค่เรียกกันเข้ามาตั้งวงร่วมดื่มร่วมกิน พอเมาหรืออิ่มแล้วก็แยกวงกันไป ไม่ได้ถือสาระว่าจะต้องคบกันยืดเยื้อมั่นคงแค่ไหน แม้แต่ในทุกวันนี้ สภาพของ “วงเหล้า วงข้าว” ของพรรคการเมืองไทยก็ยังมีให้เห็นอยู่ ซ้ำร้ายคือยิ่งแย่กว่าสมัยก่อน เพราะในสมัยนี้เป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อหาเงิน “ซื้อเหล้า ซื้อข้าว” อีกด้วย ไม่ได้มารวมกันแค่เพื่อเอาชนะเลือกตั้งเป็นครั้งคราวเหมือนสมัยก่อน แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมกันทำมาหากินและเอาผลประโยชน์มาแจกจ่ายกันใหมู่ตนและพวกพ้องอีกด้วย ทำให้การเมืองยุคนี้เป็น “ธุรกิจการเมือง” อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งได้ทำให้พรรคการเมืองที่จะต้องทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ได้กลายเป็น “บริษัทการเมือง” ที่ทำเพื่อผลกำไรของผู้ร่วมลงขันก่อตั้งพรรคการเมืองเท่านั้น ที่อัปลักษณ์ยิ่งกว่าการที่พรรคการเมืองได้กลายเป็นบริษัทการเมือง ก็คือการเกิดขึ้นของบริษัทการเมืองแบบกินรวบ โดยมีเจ้ามือรายใหญ่เพียงเจ้าเดียวหรือไม่กี่เจ้าในพรรคการเมือง เอ๊ย บริษัทการเมืองนั้น ทำให้ “เจ้ามือใหญ่” มีอำนาจทุกอย่างในพรรค ดังที่เราได้เห็นพรรคแบบนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2544 และพรรคการเมืองนั้นก็ชื่อว่า “พรคไทยรักไทย” หรืออย่างล่าสุดก็คือพรรคพลังประชารัฐ ที่แต่แรกได้ก่อตั้งเป็นแบบ “หุ้นส่วนจำกัด” โดยมีผู้ถือหุ้นหรือ “เจ้ามือ” หลายราย แต่ต่อมาเจ้ามือเหล่านั้นบางคนบางกลุ่มไม่ยอมจ่ายเงินปันผลให้แก่ลูกพรรค ในขณะที่ “พี่” จ่ายอยู่คนเดียว พี่แกก็เลยทวงบุญคุณจนป่วนไปทั้งพรรค เมื่อไม่ได้ผลตามที่มุ่งหวังก็ออกมาตั้ง “วงเหล้า วงข้าว” วงใหม่ อย่างที่กำลังป่วยสภาอยู่ในขณะนี้ มีคนทำนายว่า พรรคพลังประชารัฐจะไม่เหลืออยู่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งก็น่าเป็นไปได้ แม้ว่าหัวหน้าพรรคตามกฎหมายซึ่งก็คือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเดินง่อกแง่กออกมายืนขาสั่นงั่ก ๆ บอกว่า “เอาอยู่” แต่ก็ไม่มีใครเชื่อน้ำยาทหารเก่า(และแ...)คนนี้อีกแล้ว ลำพังแค่บอกลูกพรรคให้มาร่วมประชุมสภาให้พร้อมเพรียงก็ยังทำไม่ได้ ทั้งยังมีคนที่ทำไร่กล้วยและแจกกล้วยให้กับผู้คนในพรรคได้ย้ายออกไปทำไร่กล้วยแห่งใหม่ด้วยแล้ว แกก็ยิ่งหมดหนทางที่จะควบคุมให้ลูกลิง เอ๊ย ลูกพรรค อยู่ในโอวาทของแกได้อีกต่อไป คงอีกไม่นานนี้แกก็ต้องเดินง่อกแง่กกลับไปนอนเลียแผลอยู่แถวป่ารอยต่อ อันเป็นที่มั่นสุดท้ายของแกนั้น คนที่เล่นเป็น เมื่อไม่มีทางสู้แล้วเขาก็กลับไปนอนกินบุญเก่าที่พอจะมีเหลือไว้บ้าง ดีกว่าที่จะคิดสู้จนหมดหน้าตัก แล้วเสียสิ้นทุกอย่าง รวมทั้งเสียสิ้นเกียรติภูมิของแหล่งที่เคยสร้างตัวตนเขาขึ้นมานั้นด้วย