รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต “ไทยครองแชมป์อันดับ 1 ฆ่าตัวตายมากที่สุดในอาเซียน ... พยายามฆ่าตัวตายทุก ๆ 10 นาที” นี่คือ ข้อความที่ระบุไว้ในหัวข้อ “อยู่อย่างสิ้นหวัง ไทยฆ่าตัวตายมากที่สุดอันดับ 1 ของอาเซียน” ซึ่งเขียนโดย “Parichat chk” เมื่อวันที่ 19 เดือนมีนาคม ปีที่แล้ว แม้จะผ่านมาเกือบปี ข้อความนี้ก็ยังมีเหตุการณ์ตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนดูจะไม่มีที่สิ้นสุด ข้อมูลเมื่อปี 2562 ของ WHO หรือองค์การอนามัยโลก ระบุว่า การฆ่าตัวตายของไทยรายปีอยู่ที่ 14.4 ต่อ 100,000 คน ขณะที่เฉลี่ยแล้วในระดับโลกอยู่ที่ 10.5 ต่อ 100,000 คน ทุก ๆ 10 นาที มีการพยายามฆ่าตัวตายในไทย !!! เรื่องนี้ Antonio L Rappo รองศาสตราจารย์สังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการเมืองไทยกว่า 20 ปี ระบุว่า อัตราการฆ่าตัวตายในไทยสัมพันธ์กับเหตุผลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ถ้าแยกเรื่องเศรษฐกิจออกไป คนไทยมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการต่อสู้ทางจิตใจอย่างยาวนานเกี่ยวกับแนวคิดว่าด้วยเรื่องความตาย ปัญหาเศรษฐกิจทำให้คนไทยเครียดและป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ความเครียดของคนไทยในเรื่องเศรษฐกิจ เช่น ของกินของใช้แพง เงินไม่พอใช้ เป็นหนี้แต่ไม่มีเงินจ่าย ไม่มีงานทำ ซึ่งความเครียดเพราะพิษเศรษฐกิจโดยเฉพาะเรื่องรายได้คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น...นี่คือสาเหตุขั้นพื้นฐานส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยฆ่าตัวตายใช่หรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่ชวนคิด โดยเฉพาะกลุ่มพนักงาน คนว่างงาน เกษตรกรและพ่อค้าแม่ค้า ที่อัตราฆ่าตัวตาย ณ วันนี้ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย กูรูเศรษฐกิจคาดว่าเศรษฐกิจไทยที่ฟุบเพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องใช้เวลาฟื้นคืนไม่ต่ำกว่า 3 ปี ข้อมูลล่าสุดจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ระบุว่าไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 5 แสนคน โดยเส้นความยากจนอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน เศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 6.1 ครัวเรือนยากจน 1.4 ล้านครัวเรือน จำนวนผู้ว่างงาน 3.73 แสนคน ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 313-336 บาท จำนวนคนจนที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากมาตรการเยียวยาของรัฐไม่ว่าเป็นคนละครึ่ง เราไม่ทิ้งกัน การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.prachachat.net/general/news-811446) ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมไทยหลังโควิด-19 ที่ผู้เขียนขอยกมานำเสนอคือ แนวคิดของผาสุก พงษ์ไพจิตร และเกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ ระยะสั้น 2-3 ปีต่อจากนี้ โดยระบุเป้าหมายที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าต้องรัดเข็มขัด ทุกคนอยู่ได้พอควร ไม่ถูกบีบคั้นมาก รัฐบาลทำให้เศรษฐกิจออกจากวิถีบริโภคและลงทุนต่ำ พึ่งพาตนเองเป็นหลัก ใช้เงินให้ถูกจุด ระยะปานกลาง 5-10 ปี ต้องมีเป้าหมายสู่อนาคต เศรษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืน ในแนวทางใกล้เคียงกับแผนการ BCE ของรัฐบาลปัจจุบัน พร้อมระบบสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมที่ดี บทความของผาสุก พงษ์ไพจิตร และเกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ ได้ทิ้งทายไว้อย่างแหลมคมว่า “รัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมือง อุดหนุนระบบสุขภาพและสวัสดิการถ้วนหน้า กระจายอำนาจ และได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยตามแนวทางสากล จะมีโอกาสและสามารถจัดการกับผลกระทบของโควิด- 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ยิ่งถ้าท่านผู้อ่านได้ติดตามผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ที่จะสะท้อนข้อมูลจากคนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ รับรองได้เลยว่า จะมองปัญหาเศรษฐกิจไทยได้ทะลุถึงแนวความคิดของตัวผู้อ่านเองว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร? ถึงเวลาแล้วครับที่คนไทยต้องช่วยกัน...!!!