พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ เหลืออีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีของคนอเมริกัน ขณะที่มีเหตุการณ์ซ้อนเกิดขึ้น นั่นก็คือเหตุการณ์วางระเบิดในเมืองต่างๆ ภายในประเทศนี้ ที่นับเป็นความซับซ้อนของสถานการณ์อย่างหนึ่ง แม้ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหน่วยงานต่างๆ ฝ่ายอเมริกันจะออกมายืนยันถึงการควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ทั้งหมดก็ตาม และทุกองคาพยพในส่วนของรัฐและเอกชนยังคงทำงานตามปกติทุกๆ เมือง ไม่ว่าในรัฐใดก็ตาม แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็สร้างความตระหนก ตะลึงพรึงเพริดให้แก่คนอเมริกันและชาวโลกไปพอสมควร ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อทั้งการเมือง การเลือกตั้งและเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจแห่งนี้ ทั้งๆ ที่ช่วงนี้บรรดาหน่วยงานของไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ ก็ทยอยเดินทางมายังอเมริกากันไม่ขาดสาย จาก 2 เหตุผลใหญ่ คือ หนึ่ง ติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งอเมริกันและ สอง ดูงานการเลือกตั้งอเมริกัน ภายใต้ 2 เหตุผลดังกล่าว ผมคาดว่า พวกที่มีอาชีพสื่อมวลชน เป็นพวกที่เดินทางมายังแดนอเมริกามากที่สุด และเป็นอย่างนี้มาทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยเฉพาะในช่วงใกล้วันเลือกตั้งหรือในวันเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะการเลือกตั้งผู้นำอเมริกันเสมือนเป็นการเลือกตั้งผู้นำของโลกที่ผู้คนทุกประเทศ ล้วนตระหนักดีว่า นโยบายหรือบุคลิกลักษณะของประธานาธิบดีอเมริกันนั้น มีผลต่อความเป็นไปทางการเมือง และทางเศรษฐกิจของโลก อันโลกพึงติดตามรับฟังและติดตามด้วยความสนใจ สื่อมวลชนไทยเองก็ไม่น้อยหน้าสื่อชาติอื่น ที่มาด้วยเหตุผลของหน้าที่หรือการทำงาน และส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า การทำงานของสื่อมวลชนในปัจจุบันนั้น มีการแข่งขันกันสูง กล่าวคือ นอกจากหาข่าวผ่านสำนักข่าวต่างประเทศ(Wire services) แล้ว ยังมีการหาข่าวหรือข้อมูลตรงจากพื้นที่อีกด้วย ซึ่งก็นิยมทำกันหลายสมัยต่อเนื่องกันมาและสมัยเลือกตั้งนี้ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน ภาพที่เห็นในส่วนการทำงานของสื่อมวลชนไทย เช่น สื่อทีวี หรือสื่อหนังสือพิมพ์ที่เดินทางมาทำข่าวการเลือกตั้ง ในสมัยเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา ส่วนหนึ่งก็คือ การมุ่งเฉพาะรายงานสถานการณ์ทั่วไปหน้าหน่วยเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวอเมริกันได้ อาจเป็นเพราะขาดการเตรียมตัวของผู้สื่อข่าวหรือองค์กรข่าวที่หมายถึงการประสานงานล่วงหน้าก่อนมาทำข่าว หรือโดยวัฒนธรรมของการเสนอข่าวแบบฉาบฉวย ขอเพียงได้ชื่อว่ามาทำข่าวที่อเมริกา เป็นอันใช้ได้แล้วก็เป็นได้ ได้แบ็คกราวด์ของภาพที่หน่วยเลือกตั้งก็ถือว่า สำนักข่าวของเราโกอินเตอร์แล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว หลักการของการทำงานด้านสื่อมวลชนเชิงลึกไม่ควรเป็นอย่างนี้ เพราะสื่อมวลชนต้องแสวงหาข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลเชิงลึกให้ได้มากที่สุด ซึ่งหากไม่มีคอนเนกชั่นกับแหล่งข่าวท้องถิ่นแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดภาพของความฉาบฉวยขึ้น สื่อมวลชนไทยบางสำนักถึงขนาดหาข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นคือ หาข้อมูลจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นนั่นเอง ซึ่งเป็นลักษณะของไหวพริบแบบศรีธนญชัยประการหนึ่ง ลืมไปว่า การเตรียมตัวก่อนมาเดินทางมาอเมริกาหรือการประสานกับแหล่งข่าวท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องดังกล่าวนี้ สื่ออเมริกันกระทำกันเป็นวัฒนธรรมมานาน เช่น การนัดสัมภาษณ์นักการเมืองที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ หรือแม้แต่สื่อมวลชนด้วยกัน หรือแม้แต่การสัมภาษณ์ประชาชนทั่วไป ไม่เพียงแค่การหาข่าวหน้าหน่วยเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เหตุผลส่วนที่สอง คือผู้ที่เดินทางมาดูงานการเลือกตั้งอเมริกันครับ คนกลุ่มนี้ นอกจากเป็นหน่วยงานเอกชนแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐของไทยรวมอยู่ด้วย ปีนี้ผมไม่ทราบว่าคนของรัฐไทยจะเดินทางมาเพื่อการนี้มากน้อยขนาดไหน การเดินทางมาของคนกลุ่มนี้แน่นอนว่า รัฐให้การสนับสนุนด้านงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อย่างเช่น ก่อนหน้านี้ หน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดที่มีนายประพันธ์ นัยโกวิท เป็นหัวหน้าคณะ เคยเดินทางมาดูงานด้านการเลือกตั้งของอเมริกามาแล้วเช่นกัน ซึ่งก็ถือว่าตรงกับงานที่กกต.รับผิดชอบอยู่ซึ่งก็คือการจัดการการเลือกตั้งในประเทศไทย ถือเสียว่า แบบฉบับการจัดการการเลือกตั้งในอเมริกาเป็นแบบฉบับที่น่าสนใจเช่นเดียวกับการเลือกตั้งในประเทศประชาธิปไตยในโลกอีกหลายประเทศ ส่วนกกต.ของไทยจะนำเอาแบบฉบับของการเลือกตั้งดังกล่าวไปใช้ในประเทศไทยได้มากน้อยขนาดไหน หรือถูไถใช้แบบ “หอเอน” ก็สุดแล้วแต่สถานการณ์และองคาพยพทางการเมืองที่เกี่ยว เพราะหากไม่นำเอาเนื้อหาสาระของการดูงานไปใช้เลย การเดินทางไปมาดูงานเมืองนอกก็ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายและเวลาที่เดินทางมา ขณะที่การเดินทางมาเมืองนอกอย่างอเมริกาหรือแม้แต่ประเทศอื่นๆ ของคนกลุ่มนี้ มิใช่เฉพาะดูงานเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการดูงานหลายหลากมากมิติ เพราะแม้แต่ในบ่อนคาสิโนลาสเวกัสก็มีกลุ่มดูงานนี้ให้เห็นอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งอาจถือเป็นของแถมการดูงานก็เป็นได้ นอกเหนือไปจากการนำเสนอในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย เช่น วัฒนธรรมไทย สินค้าไทย หรือแม้แต่การนำเสนอเชิงวิชาการ ทั้งในส่วนของการนำเสนออย่างเดียวและการแลกเปลี่ยนซึ่งกัน สิ่งที่ผมคิดว่า ฝ่ายไทยควรมีคือศึกษาทำความเข้าใจวัฒนธรรมอเมริกันมาอย่างดีเสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจโดนเขาหักหน้า คือไม่ไหว้หน้า เหมือนที่คณะทางการของไทยคณะหนึ่งเคยโดนมา ที่สำนักงานของสว.อเมริกันท่านหนึ่ง ณ ย่านดาวน์ทาวน์ ถนนลาสเวกัสบูเลอวาร์ด เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา แม้ว่าฝ่ายไทยจะไปหาเขาโดยมิตรจิตรมิตรใจเพียงใดก็ตาม ผมไม่คิดว่าการเตรียมการเดินทางไปพรีเซ้นต์งานต่างๆ ในต่างประเทศ จะดำเนินการในกรณีมาอเมริกาเท่านั้น แต่ควรเตรียมการก่อนเดินทางสำหรับทุกประเทศ ยกเว้นคิดว่า เดินทางร่วมคณะไปท่องเที่ยว ถ่ายรูปโชว์อัพโหลดลงเฟซบุ๊ค เหมือนที่นิยมกระทำกันมาตลอด เสมือนการดูงานหรือพรีเซ้นต์งานเป็นดุจดังการท่องเที่ยว หากเพราะเรามีความรู้สึกกันในแบบวัฒนธรรมไทยไปแล้วว่า การเดินทางไปโดยงบประมาณของบุคคลหรือหน่วยงานอื่น เป็นเสมือนการท่องเที่ยว ที่โอ.....ชีวิตของเราช่างโชคดีอะไรเช่นนี้ !!! ในส่วนของการนำเสนอทางด้านวิชาการของไทยเองก็มีปัญหาให้เห็นเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ไม่เพียงแต่ยกโขยงกันไปจำนวนมาก เสมือนเดินทางไปดูงานมหรสพข้ามประเทศแล้ว พวกที่ยกโขยงกันไปนั้น ส่วนใหญ่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับงานวิชาการที่เอามานำเสนอ บางคนยังไม่ทราบว่านำเสนอเรื่องอะไรด้วยซ้ำ เดี๋ยวนี้ทางฝ่ายอเมริกันหรือฝรั่งส่วนใหญ่เขารู้ทันวัฒนธรรมจำอวดแบบไทยๆ ครับ ก็เลยมีคนหัวใสทำธุรกิจหากินกับนักวิชาเกินสร้างภาพ สร้างเวทีให้นำเสนอเลย อยากพูดอะไรพูดไป แต่ต้องจ่ายกะตังค์ให้เขา หากต้องการขึ้นเวทีนำเสนอเชิงวิชาการ เขาถ่ายรูป บันทึกภาพทุกอย่างให้เสร็จสรรพเลย ไม่ทราบฝรั่งโง่หรือใครโง่กันแน่ครับ “เวทีอโลกน์”แบบนี้ ตอนนี้มีทั่วไป ทั้งในอเมริกา ยุโรปหรือแม้กระทั่งออสเตรเลีย