เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit การเรียนรู้ที่ทุบกำแพงห้องเรียนสถานศึกษาไม่ว่าระดับใด ทำให้เราอยู่ในโลก “ที่เป็นจริง” ติดตามความเปลี่ยนแปลงอย่างรู้เท่าทัน เกิดความรู้ เกิดปัญญา ลองสรุปบางบทเรียนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 หนึ่ง เยอรมนีเลือกประธานาธิบดี ผลปรากฏว่าได้คนเดิมทำหน้าที่ต่อไปอีกหนึ่งวาระ 5 ปี คือ ดร.ฟรังค์-วาลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ผู้เคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมาก่อนสองสมัย และหน้าที่สำคัญอื่นๆ ปริญญาเอกทางกฎหมาย และได้รับการยอมรับสูงมากจากสังคม จนได้รับเลือกถึงร้อยละ 78 จากคณะผู้เลือกตั้ง 1472 คนซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และผู้ที่รัฐต่างๆ ได้เลือกตั้งมาเพื่อเป็นผู้เลือกประธานาธิบดี ประธานาธิบดีของเยอรมนีเป็น “ประมุข” ของชาติ ส่วนผู้บริหารสูงสุด คือ นายกรัฐมนตรี ดร.ฟรังค์-วาลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ได้รับการยอมรับว่า เป็น “ผู้นำ” ไม่ใช่ “ผู้ปกครอง” ท่านมีบทบาทสำคัญในการ “นำ” ชาติ โดยเฉพาะในยามวิกฤติ เมื่อบ้านเมืองเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ท่านออกมาให้ “สติและปัญญา” แก่สังคม ดังกรณีภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ปีที่แล้ว โรคระบาดโควิด และความตึงเครียดที่ยูเครนในขณะนี้ “ผู้นำ” กับ “ผู้ปกครอง” เยอรมนีแยกสองคำนี้อย่างมีนัยสำคัญ เคยมีประสบการณ์เลวร้ายจากฮิตเลอร์ที่เป็น “ท่านผู้นำ” (der Fuehrer) ที่นำชาติสู่หายนะ เพราะได้กลายเป็นเผด็จการทรราช ภายใต้หน้ากาก “ผู้นำ” ในขณะที่ต่อมาได้คอนราด อะเดเนาว์ เป็น “ผู้นำ” ที่ไม่ใช่ “ผู้ปกครอง” หรือ “เผด็จการ” เพราะเป็นผู้สร้างสังคมประชาธิปไตย สอง สหภาพยุโรป (EU) “ลงโทษ” ฮังการีและโปแลนด์ โดยการตัดเงินช่วยเหลือหลายหมื่นล้านบาท ด้วยข้อหาที่ศาลของอียูได้พิจารณาว่าทำผิด “หลักนิติธรรม” (rule of law) อันเป็นคุณค่าสำคัญที่ประชาคม 27 ประกาศยอมรับและให้การส่งเสริมร่วมกัน ทั้งสองประเทศที่เป็นสมาชิกของอียูนี้ถูกสอบว่าทำลายความเป็นอิสระของศาล สื่อ และเอ็นจีโอ รวมทั้งการตัดสิทธิ์คนกลุ่มน้อยในประเทศของตน ประชาคมยุโรปเคยเน้นเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าอย่างอื่นตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง วันนี้รวมไปถึงการส่งเสริม “ประชาธิปไตย” ภายใต้ “หลักนิติธรรม” โดยเฉพาะหลังปี 1990 เมื่อ “ค่านคอมมิวนิสต์” ในยุโรปตะวันออกล่ม และสมัครเข้าเป็นสมาชิกในประชาคมยุโรป (EC European Community) ที่เปลี่ยนเป็นสหภาพยุโรป (EU European Union) ในปี 1993 บทเรียนสำหรับอาเซียน (Asean) ที่มีสมาชิก 11 ประเทศที่มักอ้างว่า “ไม่ก้าวก่ายเรื่องภายใน” ของแต่ละประเทศ เหมือนสร้างเกราะให้ตนเอง เพราะมีคำถามว่า จะเป็นเพียง “ประชาคมเศรษฐกิจ” หรือจะรวม “ทุกอย่าง” บนฐานระบบคุณค่าของสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ภายใต้คำว่า “หลักนิติธรรม” หรือ “หลักนิติรัฐ” ซึ่งเหมือนกล้าๆ กลัวๆ ที่จะแสดงท่าทีเรื่องนี้ ดังกรณีของสถานการณ์ในพม่า สาม สถานการณ์โควิดที่หลายประเทศเริ่มประกาศ “ปลดล็อก” หรือ “คลายล็อก” ในหลายรัฐของสหรัฐฯ ในหลายประเทศในยุโรป แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดจะไม่ได้ลดลง หลายประเทศสูงขึ้น อย่างสหรัฐเคยขึ้นไปวันละล้าน ฝรั่งเศสวันละห้าแสน และอีกหลายประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีที่ติดกันวันละแสน แต่นอกจากจะไม่ตื่นตระหนกแล้ว ดูจะไม่ตื่นเต้น ไม่กลัวกับตัวเลขอีกต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่า โควิด-19 น่าจะถึงจุดพีก และกำลังดิ่งหัวลงและกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” เหมือนไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่ทั่วไป ระบาดเป็นระยะๆ คนป่วยคนตายกลายเป็น “เรื่องปกติธรรดา” คนไม่สนใจตัวเลขที่แสดงจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ไปติดตามตัวเลขผู้ป่วย ผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้มากกว่า ซึ่งปรากฏว่าไม่ได้สูงขึ้นตามจำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนเหมือนช่วงที่สายพันธุ์เดลต้าระบาด จึงประเมินกันว่า โอไมครอนน่าจะเป็นการกลายพันธุ์ที่อ่อนตัวลงเหมือนการ “สั่งลา” ของโควิด แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะยังเตือนไม่ให้ประมาท และยังต้องฉีดวัคซีนเข็ม “ต่อๆ ไป” (ไม่รู้กี่เข็ม) จนให้เป็นที่เคลือบแคลงว่าเป็นเหตุผลปนธุรกิจมากกว่าหรือไม่ โลกวันนี้ไม่มีพรมแดน เป็นเหมือน “ประชาคม” เดียวไปแล้ว การเรียนรู้จึงไม่ควรถูกขีดวงแคบๆ ในประเทศของตนเอง เพราะทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กัน และไม่ควรเลือกสัมพันธ์แต่เรื่อง “ปากท้อง” หรือเศรษฐกิจ แต่เรื่อง “ชีวิต” โดยรวม จึงหมายถึงเรื่องความเป็นอยู่ สิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐาน ศักดิ์ศรีมนุษย์ที่ควรได้รับการยอมรับนับถือถ้วนหน้า สังคมไทยจะก้าวไปไกลว่านี้ ถ้าเป็นสังคมเรียนรู้ เรียนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ไม่ใช่ผลักตัวเองให้ไปอยู่ชายขอบ หลับตาต่อสถานการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งมีผลกระทบต่อตัวเองอย่างแน่นอน อยู่ที่ว่า เรามี “ผู้นำ” หรือมีแต่ “ผู้ปกครอง” ที่ใช้อำนาจ เรามี “หลักนิติธรรม” ของสังคมประชาธิปไตยจริง หรือเป็นประชาธิปไตยหลอกให้ไปเลือกตั้ง ที่หลังจากนั้นคนที่ถูกเลือกก็ไปเข้าสู่เกมแห่งการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์กัน เป็นเพียงนิติรัฐในนาม ที่ละเมิดสิทธิคนจน คนชายขอบ ประหนึ่งพวกเขาเป็นผู้ที่รอรับ “ทานในงานชิงเปรต” บทเรียนเรื่องโควิด มีคำถามว่า คนกลายเป็นเพียง “เหยื่อ” ของธุรกิจวัคซีนหรือไม่ โดยที่รัฐไม่ได้ส่งเสริม “ทางเลือก” การรักษา ไม่ได้ส่งเสริมการทำให้ภูมิต้านทานชีวิตของผู้คนสูงขึ้น โดยการดูแลสุขภาพด้วย “ภูมิปัญญา” ของท้องถิ่นและของชาติซีงมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่ถูกละเลย ไม่ว่าอาหารการกินหรือสมุนไพร เรียนรู้จากสังคมโลก ทำให้เห็นว่า สังคมบ้านเรายังเป็นเหมือนคนป่วย ทั้งๆ ที่ทางออกมีอยู่ แต่ดูเหมือนวนเวียนอยู่ในหลุมดำ หรือกะลาแลนด์ แดนสนธยา