รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ใครบ้าง? ไม่เคยถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ‘ป่วน’…คำตอบที่ยิ่งกว่าชัวร์คิดว่า...ไม่น่าจะไม่มีเลย...ถ้าไม่โดนกับตัวเองโดยตรงก็ต้องมีเพื่อน ๆ หรือญาติ ๆ ใกล้ตัวสักคน...แล้วท่านรอดพ้นมาอย่างไร? เชื่อหรือไม่ว่าคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปใช้โทรศัพท์มือถือ คิดเป็นร้อยละ 94.8 หรือ 60.5 ล้านคน ขณะที่จำนวนประชากรทั้งประเทศเท่ากับ 66.17 ล้านคน จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลมีจำนวนไม่แตกต่างกันนักคือ ร้อยละ 95.8 และ ร้อยละ 94.0 ตามลำดับ โทรศัพท์มือถือที่ประชาชนใช้มากที่สุดคือ สมาร์ทโฟน ร้อยละ 86.4 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, 2563) ...แล้วอย่างนี้จะรอดพ้นจากภัย ‘Call Center’ ก็คงจะยากล่ะครับ แก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นภัยสังคมรูปใหม่ที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เข้ามาอาละวาดอย่างหนักในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2550 แล้ว โดยชาวไต้หวันเป็นชาติแรกผู้คิดค้นการหลอกลวง ‘ATM Game’ ก่อนพัฒนาเป็น ‘Call Center’ การหลอกลวงจะทำให้เหยื่อเชื่อทางโทรศัพท์เพื่อให้เหยื่อไปที่ตู้ ATM และโอนเงินให้กับคนร้ายด้วยความกลัวหรือความโลภ จนพัฒนาก้าวหน้าเป็นองค์กร ‘Call Center’ ที่ชัดเจน มีพนักงานประจำ แบ่งหน้าที่กันทำเป็นกิจลักษณะ มีรายได้จากเงินเดือนและการแบ่งเปอร์เซ็นต์ ซึ่งฐานที่ตั้งเพื่อการลวงเหยื่อมีอยู่ในหลายประเทศแถบเอเชียเป็นส่วนใหญ่ เช่น จีน ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา เป็นต้น คอลเซ็นเตอร์เป็นแก๊งโจรหรืออาชญากรทางเทคโนโลยีที่สร้างความเสียหายเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพราะทำให้เหยื่อที่ถูกหลอกลวงสูญเสียทรัพย์สินเงินทองจนกระทั่งทำให้บางรายถึงกับคิดสั้นฆ่าตัวตายลาโลกไปก่อนสมควร เหยื่อที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้มตุ๋นมักเกิดจากความกลัว ความโลภ ความไม่เดียงสา โดยบางคนคิดว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็น ‘เทวดา’ จะมาโปรดคอยช่วยเหลือตอนลำบากเพราะไม่มีเงินหรือตกงาน ผู้ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้แก่ ผู้สูงวัย ข้าราชการเกษียณที่มีเงินสะสม และผู้หญิง (อ่านเพิ่มเติมที่ https://researchcafe.org/call-center-crime/) ข้อมูลล่าสุดปี 2564 จากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญกรรมทางเทคโนโลยี ระบุว่ามีเหยื่อถูกหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากถึง 1,600 คน มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 1,000 ล้านบาท รูปแบบการหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้นจะปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาขึ้นกับสถานการณ์ ตอนแรกเริ่มจากโทรศัพท์ ปัจจุบันมีทั้งการส่งแฟ๊กซ์ ส่ง SMS การส่งอีเมล์ ไปจนถึงแชตผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยเฉพาะ “เฟซบุ๊ก” ที่คนร้ายมักลวงเหยื่อให้ตายใจหรืออาศัยความรักของเหยื่อให้โอนเงินมาให้ ช่วงนี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับมาอาละวาดหนักขึ้นอีกครั้ง ทำให้ประชาชนต้องเจอกับ ‘พิษซ้อนพิษ’ ไม่ว่าจะเป็นพิษคอลเซ็นเตอร์ พิษโควิด-19 โดยเฉพาะพิษเศรษฐกิจ ตกงาน ไม่มีรายได้ เจ็บป่วยไม่มีเงินรักษา อาหารถุงพร้อมกิน ของกินของใช้ทุกอย่างทะยอยปรับราคาสูงขึ้น รวมถึงค่าน้ำมัน ค่ารถโดยสารสาธารณะ ทำให้ต้องหาแหล่งเงินมาช่วยประคองชีวิตให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปก่อน แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นตามใจคิด เพราะพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายหนักไปกว่าเดิม บางรายถึงกับอึ้งหนักเพราะ ‘เงินเก่าที่พอมีก็หายวับ เงินใหม่ที่อยากได้เพิ่ม กลับกลายเป็นหนี้ก้อนใหม่ซะงั้น’ ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รวบรวมภัยทางเทคโนโลยีที่มิจฉาชีพชอบใช้กลวงเหยื่อ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่นอกเหนือจากการลวงดูดผ่านเงินโอนเงิน เช่น หลอกขายของออนไลน์ เงินกู้ออนไลน์ดอกเบี้ยโหด เงินกู้ทิพย์ (เงินกู้ออนไลน์ที่ไม่มีจริง) หลอกให้ลงทุนโดยอ้างผลตอบแทนสูงที่ไม่มีจริง หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ หลอกให้รักลวงเอาทรัพย์สิน ลิงก์ปลอมหลอกแฮกข้อมูลโทรศัพท์ แชต Line/Facebook ปลอม Account ลวงยืมเงิน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว – OTP หลอกลวงเอาภาพโป๊เปลือยเพื่อใช้แบล็กเมล์ โฆษณาออนไลน์ลวงทำงาน หลอกบังคับทำงานในต่างประเทศ บัญชีม้า (ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร) เป็นต้น สำหรับวิธีแก้ปัญหากรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล ได้เคยนำเสนอไว้ ดังนี้ ด้านการดำเนินการของรัฐ – 1) ตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจที่ดำเนินการเฉพาะคดีการล่อลวงผู้เสียหายด้วยวิธีโทรศัพท์หรือวิธีการที่มีลักษณะคล้าย ๆ กัน โดยมีสายด่วนให้ประชาชนที่ถูกหลอกลวงโทรเข้ามา 2) ประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ที่คนร้ายใช้บัญชีเพื่ออายัดเงิน และ 3) ต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา หรือการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศที่มีแก๊ง คอลเซ็นเตอร์ข้ามแดน ด้านกฎหมาย – 1) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 โดยกำหนดรูปแบบและลักษณะการกระทำผิดในการล่อลวงผู้เสียหายด้วยวิธีโทรศัพท์หรือวิธีการที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันเป็นความผิดร้ายแรง และ 2) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนของความผิดฐานฉ้อโกง การฉ้อโกงโดยแสดงเป็นผู้อื่น หรือการฉ้อโกงประชาชน ให้มีความผิดฐานฉ้อโกงในรูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเป็นความผิดที่มีระวางโทษที่สูงให้เหมาะสมกับลักษณะการกระทำความผิด นอกจากนี้ ต้องประสานกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ “ล็อคเลขพิษ” ที่ชอบโทรป่วน และที่สำคัญกว่าเพื่อให้เราพ้นเงื้อมมือ ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ภัยสังคม ณ วันนี้ เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองและทุกคน “ไม่กลัวอย่างไร้เหตุผล ไม่โลภอยากได้โดยไม่ลงแรง และไม่ใจอ่อนกับคนไม่รู้จัก” ท้ายนี้ ห้ามพลาด!!! ผลโพล “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ภัยสังคม ณ วันนี้ ของสวนดุสิตโพล อาทิตย์นี้ติดตามกันครับ...