เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit กลับไปอ่านและเรียนรู้จากประวัติศาสตร์โลกจะไม่แปลกใจว่า ทำไมรัสเซียจึงบุกยูเครน เพราะร้อยปีก่อน สหภาพโซเวียตมีสมาชิก 15 ประเทศ อย่างอุซเบกิสถาน คาซัคสถาน ลัตเวีย จอร์เจีย และอื่นๆ ยูเครนก็เป็นหนึ่งในนั้น ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย หลังจากการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ ในปี 1990 ประเทศเหล่านี้ก็ประกาศตนเป็นอิสระ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตยังมีอิทธิพลเหนือประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ ที่เป็นคอมมิวนิสต์เกือบหมด เมื่อเกิดการแข็งข้อ ก็มีการยาตราทัพรถถังไปกำราบปราบปราม อย่างกรุงบูดาเปสต์ ฮังการี (1956) และกรุงปราก เชกโกสโลวาเกีย (1968) การขยายอำนาจแผ่ไปครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เกิดขึ้นมาตลอดประวัติศาสตร์ อาณาจักรเปอร์เซีย หรืออิหร่านเดิมเริ่มตั้งแต่ 700 ปีก่อน ค.ศ. และยิ่งใหญ่สุดในปี 550 ก่อน ค.ศ. ภายใต้พระเจ้าซีรุสมหาราช ที่ขยายอาณาจักรจากตะวันออกติดปากีสถาน ทางใต้ไปถึงอียิปต์ ตะวันตกกรีก และยุโรปตะวันออก และล่มสลายภายใต้อำนาจใหม่ของอเล็กซานเดอร์มหาราช แห่งมาเชโดเนีย อาณาจักรกรีกเมื่อ 350 ปีก่อน ค.ศ. อเล็กซานเดอร์ (356-323 ก่อนค.ศ.) สืบราชสมบัติเมื่อายุ 20 ปี อยู่ในอำนาจเพียง 13 ปี ส่วนใหญ่ใช้เวลาในการรบ ขยายอาณาเขตจากเอเชียตะวันตกไปถึงแอฟริกาเหนือ ครอบคลุมดินแดนแถบทะเลอาเดรียติก และยุโรปตะวันออก นับเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดยุคหนึ่งของโลก ที่ยิ่งใหญ่ต่อมาเป็นจักรวรรดิโรมัน ที่อยู่ยงมายาวนานกว่า 700 ปี ตั้งแต่สิ้นอเล็กซานเดอร์มหาราช มาจนถึงศตวรรษที่ 5 ขยายอาณาเขตไปทั่วยุโรป แอฟริกาเหนือและเอเชียไมเนอร์ ขณะที่อาณาจักรอิสลามก็เริ่มก่อตัว ขยายอำนาจจากตะวันออกกลางไปตะวันตก และแข็งแกร่งตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 และมีอิทธิพลไปจนถึงศวตรรษที่ 20 ในนามจักรวรรดิออตโตมาน ที่ครอบครองยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันตก และแอฟริกาเหนือ ขณะที่ยุโรป ตั้งแต่ยุคกลางมาจนถึงศตวรรษที่ 19 มีจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) ที่ศาสนาคริสต์เป็นรากฐาน ภายใต้การนำของบรรดากษัตริย์และจักรพรรดิ ตั้งแต่ชาร์เลอมาญในศตวรรษที่ 9 จนถึงราชวงศ์ฮับสบูร์กของออสเตรีย-ฮังการี ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 มหาอำนาจในยุโรปอย่าง สเปน โปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา ล่าเมืองขึ้นทั่วโลก แต่ก่อนหน้านั้น ในศตวรรษที่ 12-13 เราได้เห็นพลังอันยิ่งใหญ่ของคนเอเชียอย่างเจงกิสข่านและลูกหลาน ที่เดินทัพเป็นหมื่นไมล์ไปทุกทิศเพื่อพิชิต “โลก” เป็นมหาอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีบันทึกไว้ ผู้นำเดี่ยวที่โด่งดังมากที่สุดในการขยายอำนาจและอาณาจักร คือ นโปเลียน ที่พิชิตไปทั่วยุโรปจนถึงรัสเซีย ทางใต้ถึงแอฟริกาเหนือ เป็นนายพลอัจฉริยะอายุ 24 ปี นับเป็นยอดแม่ทัพคนหนึ่งของประวัติศาสตร์ จากนั้นจีงมาถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เห็นการ “รุกราน” ของเยอรมันในยุโรปและญี่ปุ่นในเอเชีย จนถึงยุคสงครามเย็นระหว่างค่ายประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ มีสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ และเมื่อค่ายคอมมิวนิสต์ล่มเมื่อปี 1989 ภูมิรัฐศาสตร์ก็เปลี่ยนไป ศตวรรษที่ 20 สหภาพโซเวียตมีผู้นำสำคัญอย่างเลนิน สตาลิน ครุสเซฟ ที่กุมอำนาจปิดประเทศด้วยม่านเหล็ก แต่ก็มีกอร์บาซอฟ มีเยลต์ซิน ที่ตามมา “เปิด” ม่าน และยุติสงครามเย็น จีนมีเหมา เจ๋อตุง ที่ปิดประเทศ แต่ก็มีเติ้ง เสี่ยวผิง ที่มาเปิดประตูสู่ 4 ทันสมัย นี้คือวิภาษวิธีทางประวัติศาสตร์ กงล้อจะหมุนเช่นนี้ต่อไป เหมือนที่รัสเซียมีวลาดิมีร์ ปูติน จีนมีสี จิ้นผิง ที่ต้องคานอำนาจอเมริกา เพราะยุทธศาสตร์ “การป้องกันตนเองดีที่สุด ไม่ใช่การตั้งรับ แต่การรุกไปข้างหน้า” แต่ไม่ว่านักรบผู้ยิ่งใหญ่ แม่ทัพเกรียงไกรปานใด ตั้งแต่อเล็กซานเดอร์มหาราช จูเลียส ซีซาร์ เจงกิสข่าน ถึงนโปเลียน มาจนถึงฮิตเลอร์ และผู้นำมหาอำนาจใหญ่น้อยทั้งหลาย ไม่มีใครอยู่ยั้งยืนยง ตายไปอาณาจักรกว้างใหญ่ที่ไปพิชิตมา สูญเสียชีวิตผู้คนไปเป็นล้านๆ บ้านเรือนพังทลาย จักรวรรดิก็ล่มสลายไปด้วย แต่ที่คนมักมองไม่เห็น คือการครอบงำทางวัฒนธรรม (hegemony) โดยเฉพาะในยุคที่สื่อไอทีครองโลก เหมือนที่อันโตนิโอ กรัมชีบอกไว้ร้อยปีก่อนว่า การครอบงำไม่ได้มีแต่กำลัง อาวุธ หรือกฎหมาย แต่ “ค่านิยม” ที่ผู้นำ หรือประเทศมหาอำนาจโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ผู้คนเชื่อ เดินตาม โดยไม่คัดค้าน โต้แย้ง ยุคนี้การต่อสู้ “สงครามเย็น” ด้วย “อุดมการณ์” แบบเดิมนั้นล้าสมัยไปแล้ว เป็นยุคที่ “เศรษฐศาสตร์การเมือง” เป็นอาวุธสำคัญกว่านิวเคลียร์ สำคัญกว่า “อุดมการณ์” ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดทฤษฎีเศรษฐกิจลูกผสม อย่าง “เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม” (Socialist Market Economy) ของจีน ของเวียดนาม ไม่เช่นนั้น คงไม่เห็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ประเทศประชาธิปไตยทำมาค้าขาย ไปลงทุนในจีน ในเวียดนาม อย่างมหาศาล วันนี้ประเทศมหาอำนาจแข่งขันและต่อสู้กันทางไอที ทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อการเมือง ต่อขบวนการประชาธิปไตย ใครจะกุมอำนาจเหนือประชาชน (โลก) ได้มากกว่ากัน ปูตินรุกรานยูเครน ไม่ว่าจะอ้างอย่างไรก็ไม่ต่างจากหมาป่ากับลูกแกะ ที่ต้องการกินแกะอ้างว่ากวนน้ำให้ขุ่น จึงมีข้อหาต่างๆ นานา น่าจะต้องการผนวกอย่างน้อยส่วนหนึ่งของยูเครน “กลับ” ไปเป็นของรัสเซีย เหมือนที่ยึดไครเมียไปก่อนนี้ อ้างว่า คนในเขตที่กำลังสู้รบเพื่อการปลดปล่อยจากยูเครนเป็นคนเชื้อสายรัสเซีย นักวิเคราะห์เยอรมันบอกว่า รัสเซียไม่ต้องการให้ยูเครนเป็นสมาชิกอียูและนาโต เพราะจะมีอิทธิพลสูงมากทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองต่อรัสเซีย เพราะยูเครนเป็นประเทศใหญ่สุดที่เชื่อมต่อยุโรปกับรัสเซีย จะสร้างความปั่นป่วนให้รัสเซียที่เป็นเผด็จการในคราบประชาธิปไตย อเมริกา ยุโรป และอื่นๆ จะรบกับรัสเซียไม่ใช่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่ด้วย “เศรษฐกิจ” ด้วยการแซงก์ชันสารพัด ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างหนัก ไม่ว่าจะวิเคราะห์กันแบบไหนก็ล้วนแต่เป็นสถานการณ์ที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ (escalation) เพราะ “คนไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ จะทำให้เกิดซ้ำอีกอย่างแน่นอน” (ซานตายานา)