รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต หลังจากที่รัฐบาลปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อเดือน ก.ย. 64 ที่ผ่านมา และล่าสุดรองนายกฯ วิษณุ เครืองามให้สัมภาษณ์ช่วงต้นเดือน ก.พ. 65 ทำให้ไทม์ไลน์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ชัดเจนขึ้น และอาจมี การเลือกตั้งช่วงเดือน พ.ค. 65 ส่งผลให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบการเลือกตั้ง พรรคการเมืองผู้สมัครชิงผู้ว่าฯกทม. และคนกทม.ที่มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะพวก “New voter” ที่มีอยู่ราว 6.1 หมื่นคน รู้สึกคึกคักและสนใจเป็นพิเศษ เหตุใด? การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คราวนี้จึงเป็นที่จับตาและน่าสนใจยิ่งนัก แน่นอนว่านอกจากสนามเลือกตั้งกทม.จะว่างเว้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มานานถึง “9 ปีเต็มแล้ว” ยังมีอีกปัจจัยที่สำคัญ ไม่แพ้กันคือ “ตัวผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม.” ซึ่งแม้ว่าบางพรรคยังไม่เปิดเผยตัวผู้ชิงผู้ว่าฯ กทม.ก็ตาม ด้านผลสำรวจการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในสายตาคนกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ธ.ค. 64 ของสวนดุสิตโพล พบข้อมูลสำคัญคือ คนกรุงเทพฯ คิดว่าถึงเวลาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.แล้ว (ร้อยละ 90.57) และคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญผู้ว่าฯ กทม.จะสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่สังกัด (ร้อยละ 65.72) แต่ขอให้เป็นผู้ว่าฯกทม.ที่มี “สเปกตอบโจทย์” เป็นใช้ได้ คือ ทำงานเร็ว แก้ปัญหาไว พร้อมที่จะทำงาน (ร้อยละ 85.40) ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์สร้อย ไชยเดช อาจารย์ประจำโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้เหตุผลว่า “คนกทม.มองที่ตัวบุคคลและนโยบายมากกว่า” กล่าวได้ว่า ณ วันนี้ พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนกทม.สนใจ “ตัวตนหรือคุณสมบัติของผู้ว่าฯ กทม.เหนือกว่าพรรคการเมือง” และหากมี “นโยบาย” ที่ฟังดูแล้วสะท้อนถึงความสำเร็จในการแก้ปัญหาของกทม.ด้วยก็จะยิ่งดีใหญ่ โดยคนกรุงเทพฯ เห็นว่าปัญหาสำคัญ 5 อันดับแรกที่ผู้ว่าฯ กทม. ควรเร่งสะสางและจัดการ ได้แก่ การจราจร ระบบขนส่งสาธารณะ (ร้อยละ 85.14) คุณภาพชีวิตของประชาชน (ร้อยละ 70.46) การมีงานทำ รายได้ ค่าครองชีพ (ร้อยละ 64.58) น้ำท่วม น้ำเสีย (ร้อยละ 60.59) และสิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียว ขยะ และฝุ่นควัน (ร้อยละ 59.88) ตามลำดับ (สวนดุสิตโพล, 2564) ส่วนผลสำรวจควันหลงเลือกตั้งซ่อมกับการเมืองไทย เมื่อเดือน ก.พ. 65 ของสวนดุสิตโพล พบข้อมูลสำคัญคือ การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งซ่อมเพียง 1 เขตของกรุงเทพฯ กลับมีผลกระทบต่อการเมืองไทยในภาพรวม (ร้อยละ 60.83) ขณะที่การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ พบว่าประชาชนจะจับตาดูผลงานของนักการเมืองมากขึ้น (ร้อยละ 77.13) การหาเสียงดุเดือดขึ้น บรรยากาศการเมืองร้อนแรงมากขึ้น (ร้อยละ 60.44) และพรรคการเมืองต้องปรับกลยุทธ์ การทำงาน (ร้อยละ 46.30) อาจมีการปรับครม. ยุบสภาฯ (ร้อยละ 39.18) และน่าจะมีการซื้อเสียงมากขึ้น (ร้อยละ 33.59) นอกจากนี้ คนกรุงเทพฯ ยังมองว่าการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร ส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หลากหลายมิติ เรียงตามลำดับคือ ผู้สมัครเลือกตั้งต้องปรับกลยุทธ์การทำงาน ขยันลงพื้นที่ (ร้อยละ 67.04) การแข่งขันสูงขึ้น (ร้อยละ 53.07) ประชาชนสนใจการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มากขึ้น (ร้อยละ51.56) พรรคการเมืองเห็นแนวทางการส่งผู้ลงสมัคร (ร้อยละ 39.28) และอยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยเร็ว (ร้อยละ 38.15) เมื่อส่องจากผลสำรวจของสวนดุสิตโพล พบว่าพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯ โฟกัสไปยัง “ตัวบุคคลและนโยบาย” ดังนั้น ตัวตนหรือคุณสมบัติของผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ยุคโควิด-19 ที่น่าจะพิชิตใจคนกรุงเทพฯ ไม่ยากท่ามกลาง “ภัยต่าง ๆ” ที่รายล้อมทั้งโควิด-19 ความไม่มั่นคงทางรายได้ ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ และผลกระทบจากภัยสงคราม นอกเหนือจาก ทำงานเร็ว แก้ปัญหาไว พร้อมที่จะทำงาน อาทิ ต้องมีความสามารถด้านการพูดต่อหน้าชุมชน การพูดในโอกาสต่าง ๆ การพูดโน้มน้าวใจหรือปลุกพลังภายใน ต้องมีความคิด ความรู้ และความสามารถที่ปฏิบัติได้จริง มีความเป็นผู้นำหรือภาวะผู้นำ มีความกล้าเสี่ยงอย่างสร้างสรรค์ มีสุขภาพแข็งแรง สุขภาพจิตดี เป็นต้น ขณะที่นโยบายต้องสร้างให้ “ต๊าช” สนับสนุนให้ผู้ว่าฯ กทม.ได้ทำงานรับใช้และตอบสนองความคาดหวังและความต้องการคนกรุงเทพฯ ภายใต้กรอบระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ท้ายนี้ เหตุผลที่คนกทม. จะออกไปสิทธิเลือกตั้งคืออะไรบ้าง วิธีการหาเสียงมีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มากน้อยเพียงใด ผลสำรวจคะแนนนิยมจากสำนักโพลมีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ และประเด็นอื่น ๆ คงต้องติดตามผลสำรวจของสวนดุสิตโพลสัปดาห์นี้ ครับ ...