ทวี สุรฤทธิกุล “ในประเทศไทย ทั้งผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองล้วนแต่มีฐานะเป็นเทวดา” ประโยคข้างต้นฟังดูคล้ายการประชดประชัน แต่เมื่อนำมาพิจารณาให้ลึกซึ้ง ก็มีความจริงอยู่อย่างมาก นั่นก็เพราะว่าคนไทยเอาใจยากหรือเข้าใจยาก ทั้งยัง “เรื่องมาก” และ “อยู่ยาก” ในทางการเมืองการปกครอง อย่างที่ได้เกิดปัญหากับการเมืองไทยมาอย่างยาวนานนี้ ซึ่งจะเรียกว่าคนไทยนี้ล้วนแต่เป็น “เทวดา” ก็ว่าได้ คำว่า “เทวาธิปไตย” ถ้าในตำรารัฐศาสตร์จะหมายถึง การปกครองโดยชนชั้นสูง หรือบุคคลที่มีฐานะพิเศษเหนือกว่าคนทั่วไป เป็นคำรวมของลัทธิการปกครองอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน เช่น ราชาธิปไตย และอภิชนาธิปไตย เป็นต้น แต่ที่ผู้เขียนสนใจคำ ๆ นี้ ก็เป็นด้วยได้พบว่า แม้เราจะเปลี่ยนจากราชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 แต่ในเวลาที่ผ่านมาย่างเข้าปีที่ 90 นี้ เราก็ยังไปไม่พ้น “เทวาธิปไตย” เพราะไม่ว่าจะเป็นทหารและนักการเมืองที่มาปกครองคนไทย ต่างก็พยายามจะทำตัวเป็นเทวดาเหนือประชาชน และเมื่อเวลาที่ประชาชนได้อำนาจ ประชาชนนั่นเองก็ทำตัวเป็นเทวดา เรียกร้องและแสดงออกกันวุ่นวาย จนที่สุดเทวดาก็ถือปืนออกมายึดเอาอำนาจในการปกครองนั้นคืนไป นักวิชาการฝรั่งที่เข้ามาศึกษาการเมืองไทยในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พบว่าคนไทยเป็นคนที่มีความ “เฉื่อยชา” ทางการเมือง คือไม่ค่อยสนใจในเรื่องของการเมืองการปกครอง ที่อาจจะเป็นด้วยคนไทยได้ถูกปกครองด้วยคนที่มีอำนาจเหนือมาอย่างยาวนาน อย่างที่นักวิชาการฝ่ายซ้ายเรียกว่าระบบไพร่หรือ “ศักดินา” และด้วยความเชื่อแบบโบราณของคนไทยในเรื่องโชควาสนา ที่ต้องยินยอมให้เทวดาเหล่านั้นปกครอง ก็เป็นด้วยคนเรามีฐานะและโชคชะตาต่างกัน ผู้ปกครองนั้นคือผู้มีบุญ พวกเขาเกิดมาเพื่อปกครองคนอื่น ในขณะที่ราษฎรคือคนที่มีกรรม ต้องเกิดมายากจนและถูกเขาปกครองก็เพราะกรรมเหล่านั้น จงอดทนทำบุญและสร้างกุศล เพื่อให้บุญกุศลเหล่านี้ส่งเสริมให้มีชีวิตที่ดีกว่าในชาติหน้า การก้มหน้ายอมรับกรรมนี้ก็ถือว่าเป็นกุศลอย่างหนึ่ง คือไม่ไปเบียดเบียนใคร ๆ ให้เดือดร้อน ทั้งยังชื่นชมยินดีถ้าผู้ปกครองนั้นปกครองไปได้ด้วยดี แต่ถ้ามีผู้ปกครองที่ชั่วร้าย คนไทยก็จะปลอบใจกันและกันว่า “เป็นกรรมของเราเอง” สิ่งที่ตรงกันข้ามกับเทวาธิปไตยก็คือ “อสุราธิปไตย” ซึ่งเป็นคำที่ผู้เขียนคิดขึ้นมาเอง เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า ถ้าเทวาธิปไตยมีความหมายว่าการปกครองที่ประชาชนต้องก้มหัวให้ด้วยความยินยอมจนถึงยินดี อสุราธิปไตยก็น่าจะมีความหมายว่าการปกครองที่ประชาชนไม่ได้ยินยอม ด้วยถูกบังคับข่มขืนให้ยอมรับจนถึงให้สรรเสริญเยินยอ ซึ่งลัทธินี้น่าจะมีอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ และต้องเป็นเผด็จการที่ชั่วร้ายมาก ๆ จนถึงขั้นที่ผู้คนมองว่ารัฐบาลนั้นเป็นยักษ์เป็นมาร หรือ “อสุรกาย” นั่นเลย แนวคิดเรื่องการปกครองโดยอสุรกาย หรือ “อสุราธิปไตย” ที่ปรากฏโด่งดังเป็นที่รู้จักกันทั่วไปของนักรัฐศาสตร์ ก็คือแนวคิดของโธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbs ค.ศ. 1588 - 1679) หรือเมื่อกว่า 300 ปีที่ผ่านมา ตรงกับไทยก็ราวรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตอนที่ฮอบส์เติบโตมานั้นเป็นช่วงที่อังกฤษกำลังมีสงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1642 - 1651) คือสงครามระหว่างพวกที่นิยมกษัตริย์กับพวกที่นิยมรัฐสภา (ล้มเลิกการมีกษัตริย์ ให้สมาชิกรัฐสภาเลือกผู้ปกครองกันเอง) ซึ่งปรากฏว่าพวกนิยมรัฐสภาได้รับชัยชนะ แต่พวกนิยมกษัตริย์ก็สามารถต่อสู้ชิงอำนาจคืนมาได้ในอีก 8 ปีต่อมา (ค.ศ. 1659) ซึ่งฮอบส์ได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งในปี 1651 อันเป็นปีที่ฝ่ายนิยมรัฐสภาได้รับชัยชนะนั้น ในชื่อเรื่องว่า Leviathan ซึ่งนักรัฐศาสตร์ในยุคหลังวิเคราะห์ว่าเป็นการเขียนโจมตีพวกนิยมกษัตริย์ และเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดเรื่อง “สัญญาประชาคม” (Social Contract) อันเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ Leviathan เป็นชื่อของสัตว์ร้ายในพระคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ มีรูปร่างกึ่งงูกึ่งมังกรตัวใหญ่มาก ๆ อาศัยอยู่ในทะเล ฝรั่งแต่โบราณจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “มังกรทะเล” โดยฮอบส์นำมาใช้ในความหมายของ “อสุรกายทางการเมือง” ซึ่งก็คือพวกที่นิยมกษัตริย์นั่นเอง โดยฮอบส์อธิบายว่า มนุษย์ในธรรมชาตินั้นเต็มไปด้วยความกลัว และการที่ต้องมีผู้ปกครองก็เพราะความกลัวเหล่านั้น มนุษย์ต้องการให้ผู้ปกครองมาปกป้องคุ้มภัยและส่งเสริมอยู่ดีกินดี แต่ผู้ปกครองนั้นเองกลับมาสร้างความน่ากลัวให้เพิ่มมากขึ้น โดยที่ความน่ากลัวนั้นบางทีก็เป็นความยินยอมของผู้ใต้ปกครองนั่นเอง นั่นก็คืออำนาจที่น่ากลัวนั้นก็คือสิ่งที่ประชาชนมอบหมายให้ ดั่งว่าการมอบหมายนี้คือสัญญาระหว่างประชาชนกับผู้ปกครองนั้น ดังนั้นทำไมประชาชนจึงไม่คิดที่จะมอบอำนาจให้กับผู้ที่เป็นตัวแทนของประชาชนนั้นเสียเองเล่า ซึ่งก็คือการมอบอำนาจให้รัฐสภา อันเป็นเป้าหมายของสงครามกลางเมืองในตอนนั้น และได้เป็นเป้าหมายหรือ “หัวใจ” ของระบอบรัฐสภาสมัยใหม่ ที่ต้องเพิ่มพูนอำนาจให้กับตัวแทนของประชาชน เพราะหลังจากนั้นแม้กษัตริย์จะคืนสู่อำนาจได้อีกครั้ง แต่ก็ “ปรับตัว” ไม่ได้อยู่ “เหนือหัว” ประชาชนเหมือนเดิม ทั้งยังยอมที่จะให้รัฐสภานั้นเป็นใหญ่ และลดราชฐานะลงมาเป็น “ผู้ร่วมใช้อำนาจ” ผ่านรัฐสภาและรัฐบาลเท่านั้น ว่ากันว่าตอนที่คณะราษฎรเริ่มวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงที่เรียนอยู่ในประเทศฝรั่งเศสนั้น ได้คิดที่จะล้มเลิกระบอบกษัตริย์อย่างสิ้นเชิง แต่เมื่อใกล้ ๆ วันยึดอำนาจก็เกิดเปลี่ยนใจ ที่จะให้กษัตริย์นั้นยังคงมีอยู่ แต่จะไม่ให้มีอำนาจไม่ว่าจะในทางใด ๆ แต่อย่างใด อย่างที่ได้เขียนแถลงการณ์ด่าว่ากษัตริย์อย่างรุนแรงในวันที่ยึดอำนาจนั้น ทว่าพอยึดอำนาจได้แล้วก็ถอดใจยอมผ่อนปรนให้ทรงมีพระราชอำนาจในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และการขอพระราชวินิจฉัยในนโยบายของรัฐบาล ซึ่งนักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นด้วยแนวคิดของรัฐสภาแบบอังกฤษได้เข้ามาแทนที่แบบฝรั่งเศส หรือเปลี่ยนแนวคิดจาก “อสุราธิปไตย” มาเป็น “เทวาธิปไตย” นั่นเอง น่าเสียดายที่ต่อมาคณะราษฎรนั้นก็คิดอยากจะเป็น “เทวดา” เสียเอง ไม่ต่างกับคณะทหารที่ปกครองประเทศต่อมาหลังจากที่แยกสลายคณะราษฎรได้ในการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ที่ได้ปกครองประเทศไทยมาหลายรุ่นจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ล้วนแต่คิดว่าตนเองเป็นเทวดามาปกครองประชาชนเช่นกัน ในทำนองเดียวกันที่นักเลือกตั้งได้เข้ามาปกครองประชาชน ก็คิดที่จะสร้างตนเองให้เป็นเทวดาจนเหนือมนุษย์ แล้วก็ไม่สามารถอยู่ค้ำฟ้าเป็นอมตะได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนมารวมรูปในตอนท้ายกลายเป็น “อสุรกาย” ด้วยกันทั้งสิ้น ถ้าจะเอาอย่างอังกฤษ ก็จะต้องไม่ให้ผู้ปกครองนั้นกลายเป็นเทวดา ในขณะเดียวกันก็ไม่กลัวอสุรกายใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากผู้ปกครองที่ไม่ดีในบางยุคสมัยนั้น