เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit สงครามในยูเครนเพียง 10 วัน ทำให้มีผู้อพยพจากประเทศนี้เข้าไปในประเทศสหภาพยุโรปกว่า 1.5 ล้านคน และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเป็นหลายล้านถ้าหากสงครามไม่สงบโดยเร็ว พวกเขาอพยพเข้าไปในโปแลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกของอียู ก่อนจะเดินทางต่อไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะเยอรมนี ซึ่งรับไปแล้วหลายแสนคน นับเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่สหภาพยุโรปพร้อมใจกันเปิดประตูรับผู้อพยพหนีภัยสงครามในยูเครน พร้อมกับให้สิทธิในการพักอาศัยได้ถึง 2 ปี อาจต่อได้อีก ให้ทำงานได้ ประกันสุขภาพ ประกันสังคมได้ ซึ่งแตกต่างจากผู้อพยพหนีภัยสงครามจากซีเรีย อัฟกานิสถาน อีรัก และอื่นๆ ที่ไม่ได้รับสิทธิมากมายเช่นนี้ นโยบายนี้น่าจะเป็นอาวุธอีกอย่างหนึ่งในสงครามครั้งนี้ ซึ่งมีทุกรูปแบบ ทั้งด้วยอาวุธที่ทำลายชีวิต และทรัพย์สิน และการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งมีผลกระทบไม่ใช่ต่อรัสเซียเท่านั้น แต่รวมไปถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วย เพราะแลกกันแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน หายนะทุกฝ่าย เยอรมนีรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียนับล้านคนเมื่อปี 2014-2015 ซึ่งนางอังเกลา แมร์เคิลบอกว่า “เราทำได้” เพราะเธอเชื่อว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ “วิน-วิน” ทั้งสองฝ่าย ผู้อพยพได้ชีวิตใหม่ เยอรมันไม่ได้แต่ “บุญ” เท่านั้น แต่ได้ “คน” ที่เป็น “ทรัพยากร” สำคัญ เป็นแรงงานที่หนุนเศรษฐกิจเยอรมนีที่ใหญ่สุดของยุโรป แต่ผลกระทบทางการเมืองก็มี ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็รณรงค์ต่อต้าน หาว่าไปแย่งงานชาวเยอรมัน ทำให้เธอเสียคะแนนไปไม่น้อย แต่ก็ได้รับเลือกตั้งให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 ในปี 2017 เพราะสถานการณ์ได้พิสูจน์ว่า แนวคิด “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” ของเธอไม่ได้ผิด เศรษฐกิจของเยอรมนีเติบโตเข้มแข็ง ผู้อพยพชาวยูเครนส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนชั้นกลางขึ้นไปมากกว่าคนระดับล่างหรือ “รากหญ้า” ชาวนา กรรมกร โดยเฉพาะชาวนาคงไม่ทิ้งที่ดินที่นาของตนเอง ผู้อพยพจึงเป็นคนเมืองที่มีอาชีพ มีฐานะ มีทักษะในการงาน มี “คุณค่า” ต่อสังคมที่พวกเขาไปอยู่ ขณะเดียวกันก็ทำให้ยูเครนขาดบุคลากรที่มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ถ้ารัสเซียสามารถเข้าครอบครองยูเครนได้ ประเทศนี้คงขาด “ทรัพยากรมนุษย์” ไปเป็นจำนวนมาก คงต้องใช้เวลาเพื่อฟื้นตัวเอง ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และที่ 2 ผู้คนอพยพจากยุโรปไปอเมริกาหลายสิบล้านคน ทุกสาขาอาชีพ รวมไปถึงวิศวกร สถาปนิก แพทย์ นักวิชาการ นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ นักคิดนักเขียน นักดนตรี ประเทศนี้จึงพัฒนา “ทางลัด” อย่างรวดเร็ว เพราะได้คนมีคุณภาพมาช่วย สหรัฐอเมริกามีผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้านต่างๆ มากที่สุด 383 คน ขณะที่สหราชอาณาจักร 132 เยอรมนี 108 แต่ถ้าดูประวัติผู้ได้รับรางวัลโนเบิลชาว “อเมริกัน” พบว่ากว่าครึ่งเป็นผู้อพยพจากยุโรป ชาวจีนที่อพยพจากแผ่นดินใหญ่ไปไต้หวันกับเจียง ไคเชก ล้วนหัวกะทิ เป็นกำลังสำคัญให้ไต้หวันพัฒนาอย่างรวดเร็ว กลายเป็น “มันสมอง” ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียไปพร้อมกับญี่ปุ่น เกาหลี ก่อนที่จีนจะปรับยุทธศาสตร์เป็นสี่ทันสมัย ไล่ตามประเทศเหล่านี้อย่างที่เห็นกันวันนี้ โดยเน้นที่การศึกษา การพัฒนาคนเช่นกัน ระหว่างสงครามเวียดนาม ชาวเวียดนามหลายล้านคนอพยพลี้ภัยไปอยู่ประเทศที่สาม มีค่ายผู้อพยพที่ประเทศไทยหลายแห่ง ประเทศที่สามอย่าง อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย มักมา “เลือก” แต่คนมีความรู้ ทักษะในสาขาอาชีพต่างๆ ปล่อยให้แรงงานมือทั่วไปไว้ให้ประเทศไทย ผู้อพยพเวียดนามไปตั้งหลักแหล่งในประเทศต่างๆ กลายเป็น “ทรัพยากรบุคคล” เป็นกำลังสำคัญของประเทศนั้นๆ ที่ฝรั่งเศสปลายศตวรรษที่ 20 ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ร้อยละ 20 เป็นคนเวียดนาม คนเวียดนามส่วนหนึ่งกลับประเทศหลังสงคราม หรือไม่ก็ช่วยเหลือด้านการเงิน ความรู้ ประสบการณ์ และวิชาการ เพื่อฟื้นฟูประเทศ ซึ่งผู้อพยพเหล่านี้น่าจะเป็นกำลังสำคัญทำให้เวียดนามพัฒนาจนแซงหน้าไทยไปแล้วหลายด้าน ขณะที่สถานการณ์ในกัมพูชา ภายใต้รัฐบาลเขมรแดง เกิดการ “ฆ่าล้างผ่าพันธุ์” ไปหลายล้านคน ล้วนเป็น “ทรัพยากรบุคคล” ที่มีคุณค่าไม่ว่าใช้สมองหรือใช้แรงงาน นานหลายปีกว่ากัมพูชาจะฟื้นตัวได้ เช่นเดียวกับพม่าที่รบกันและมีปัญหาการเมืองไม่หยุดจนถึงวันนี้ ทำให้คนพม่าอพยพย้ายถิ่นไปทำงาน ไปอาศัยในประเทศอื่นหลายล้านคน ประเทศพัฒนาทั้งหลายต่างก็เห็นคุณค่าของ “ทรัพยากรบุคคล” เน้นการพัฒนาการศึกษาและทักษะ มีแต่จะต้อนรับ “ทรัพยากรบุคคล” จากประเทศต่างๆ และไม่ “ไล่” คนเก่งๆ ของตนเอง แต่จะสร้างแรงจูงใจและระบบสวัสดิการ ความมั่นคง เพื่อให้อยู่ในประเทศ หรือให้กลับมาถ้าไปเรียนหรือไปทำงานที่อื่น การวิจัยในสหรัฐฯพบว่า ร้อยละ 85 ของ “สินทรัพย์” ขององค์กร สถาบัน ชุมชน สังคม มาจากคุณภาพของคนที่ทำให้เกิดการเจริญพัฒนา มากกว่าเงินทองหรือทรัพยากรอื่น จึงเป็นคำถามที่ชอบธรรมว่า การที่ประเทศ “ด้อยพัฒนา” ทั้งหลายยังคงอยู่ในสถานภาพเช่นนี้ เป็นความตั้งใจของอำนาจรัฐที่ไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา เพราะคนมีความรู้น้อย จะถูกครอบงำ ถูกปกครองง่าย ไม่ต่อต้าน ไม่คิดมาก (วันนี้สื่อทุกสื่อของไทยจึงสนใจแต่เรื่อง “แตงโมตกน้ำ” มากกว่าสงครามยูเครน) การปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชน จึงเป็นยุทธการสำคัญของอำนาจรัฐและ เผด็จการทุกยุคสมัย ไม่ว่ายามสงครามหรือยามปกติ การครอบงำสื่อ การใช้ IO ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่ไม่ได้ร้ายแรงน้อยกว่าการใช้กำลังและอาวุธอื่นๆ