ทวี สุรฤทธิกุล การเป็นนักการเมืองกำลังเป็นอาชีพ “ในฝัน” ของคนรุ่นใหม่ เพราะสร้าง “ตัวตน” ได้ดีมาก ๆ คนรุ่นใหม่หมายถึงคนที่เกิดและเติบโตในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2530 ในช่วงที่การเมืองแบบ “ธนาธิปไตย” กำลังฟูเฟื่องถึงขีดสุด เพราะได้เกิดรัฐบาล “บุฟเฟต์คาบิเนต” โกงกินกันอย่างโจ๋งครึ่ม จนกระทั่งทหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ต้องออกมายึดอำนาจและยึดทรัพย์รัฐมนตรีเหล่านั้นใน พ.ศ. 2534 แต่คณะ รสช.ก็สมคบกับนักการเมืองขี้โกงอีกกลุ่มหนึ่งคิดสืบทอดอำนาจ ทำให้ถูกประชาชนออกถนนมาต่อต้านจนเกิดการจลาจล ในเดือนพฤษภาคม2535 แล้วก็เข้าสู่ยุคปฏิรูปการเมือง จนกระทั่งสำเร็จออดมาได้เป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน 2540” ซึ่งเด็ก ๆ กลุ่มนี้ก็จะมีอายุราว 10 ขวบ พอที่จะรับรู้บรรยากาศทางการเมืองได้บ้างแล้ว ซึ่งพอมีเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นครั้งแรก ในการเลือก ส.ว. เมื่อ พ.ศ. 2543 และการเลือก ส.ส. เมื่อ พ.ศ. 2544 คนเหล่านี้ก็กำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่น และสามารถซึมซับบรรยากาศทางการเมืองได้มากขึ้น แล้วพอถึงปี 2548 คนเหล่านี้ก็จะมีอายุ 18 ปี ก็มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เป็นครั้งแรก แต่มีการประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง รัฐบาลต้องยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ในตอนต้นปี 2549 ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญประกาศเป็นโมฆะ เนื่องจากมีการจ้างพรรคการเมืองหลายพรรคให้ลงเลือกตั้งเป็นคู่แข่ง เพื่อให้เกิดการแข่งขันตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดจลาจลวุ่นวาย ที่สุดก็มีการทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 เด็กรุ่นนี้ปัจจุบันจะมีอายุราว 30 - 40 ปี นับว่าเป็นคนในวัยทำงานที่กำลัง “แสวงหา” จุดมุ่งหมายต่าง ๆ ของชีวิต แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ผ่าน “ประสบการณ์ทางการเมือง” ที่ค่อนข้างโชกโชน แม้จะเป็นโดยทางอ้อม เช่น ทางสื่อมวลชน และ “โซเชียลมีเดีย” แต่ก็ได้สร้างประสบการณ์ให้พวกเขาได้ซึมซับและเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ที่สามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งยังมีลักษณะเหมือน “เข็มฉีดยา” อันเป็นทฤษฎีด้านการสื่อสารมวลชน ที่โซเชียลมีเดียนั้นได้ “ฉีดข่าวสาร” อย่างตรงจุดตรงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ นั่นก็คือสามารถสร้างกลุ่มการรับรู้และกระตุ้นให้กลุ่มคนที่ถูกฉีดข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ มีพฤติกรรมที่แสดงออกคล้าย ๆ กัน ซึ่งก็คือการสร้างมวลชน หรือ “ม็อบ” ที่มีพลังมาก ๆ นั่นเอง ใครที่ชอบสังเกตการณ์ “พฤติกรรมทางการเมือง” จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ อาจจะพอสังเกตได้ว่า คนรุ่นใหม่มีพฤติกรรมทางการเมืองที่คล้าย ๆ กันอยู่หลายเรื่อง หนึ่งก็คือ เกลียดชังรัฐบาลหรือผู้ปกครองที่มาจากทหาร สอง ต้องการสร้างบรรยากาศทางการเมืองใหม่ ๆ โดยเฉพาะการแสดงออกที่ต่อต้านสถาบันเก่าแก่ต่าง ๆ ไม่เฉพาะแต่สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ยังลงมาถึงสถาบันครอบครัวและครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ด้วย สาม ต้องการพื้นที่ในการแสดงออกและให้ตัวตนของตนเป็นที่ปรากฏ สี่ เชื่อว่าการเมืองไทยที่เป็นมานั้นสกปรกและชั่วช้า ต้องล้มล้างระบบพร้อมกับปรับเปลี่ยนเสียใหม่ โดยไม่ต้องการที่จะประนีประนอมกับนักการเมืองรุ่นเก่า และห้า เชื่อว่าคนรุ่นเก่าหวงอำนาจและไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ต้องทำด้วยการโค่นล้มคนรุ่นเก่าเหล่านั้น เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้พบปะกับลูกศิษย์คนหนึ่งระหว่างงานสังสรรค์ที่กลุ่มลูกศิษย์จัดขึ้น ช่วงหนึ่งลูกศิษย์คนนั้นที่มีอายุ 30 ต้น ๆ ซึ่งก็ต้องถือเป็นคนรุ่นใหม่ในนิยามที่กล่าวมา เขาได้เข้ามาชวนคุยว่า “ท่านอาจารย์รู้จักนักการเมืองมากหลายคน พอจะแนะนำให้ผมได้รู้จักนักการเมืองที่มีโพเทนเชี่ยลมาก ๆ สักคนได้ไหมครับ” ผู้เขียนเลยถามกลับว่า “โพเทนเชี่ยลมาก ๆ คืออะไร” ลูกศิษย์คนนั้นก็อธิบายว่า “คือคนที่จะมีอนาคตรุ่งเรืองและจะประสบความก้าวหน้าในชีวิตการเมือง” ผู้เขียนเลยดึงตัวลูกศิษย์คนนั้นออกมาคุยในที่เงียบ ๆ เพราะเห็นว่าเขาคงมีความสนใจในเรื่องที่จะเป็นนักการเมืองนั้นจริง ๆ หลังจากสอบถามประวัติชีวิตและความสนใจต่าง ๆ อยู่พักใหญ่ ผู้เขียนก็สรุปให้ลูกศิษย์คนนั้นฟังว่า ประการแรก นักการเมืองที่จะมีอนาคตรุ่งเรืองในแนวคิดของคนรุนใหม่นั้นหายากมาก เพราะแม้ว่าคนรุ่นใหม่บางคนจะมีเงินและมีความสามารถในการสื่อสารกับสาธารณะดีมาก แต่ก็ยังขาด “บารมี” หรืออิทธิพลทางการเมือง ซึ่งต้องใช้เวลาแลผลงานสร้างสม ประการต่อมา นักการเมืองจากคนรุ่นใหม่เหล่านั้นนั่นเอง เมื่อต่อสู้กับนักการเมืองรุ่นเก่าและเอาชนะไม่ได้ ก็มักจะเข้าไปรอมชอมหรือยอมเป็นพวกกับนักการเมืองรุ่นเก่า ในที่สุดอุดมการณ์ที่เคยร้อนแรงก็จะเสื่อมลง กลายเป็นนักการเมืองน้ำเน่าเหมือนนักการเมืองรุ่นเก่านั้นต่อไป และประการสุดท้าย คนรุ่นใหม่มักจะมีลักษณะ “สุดโต่ง” คือจะพูดจะทำอะไรก็จะเอาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยเร็ว ซึ่งในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไม่เฉพาะแค่ของไทย ในต่างประเทศก็ต้องใช้เวลาในการประสานให้เกิดความเรียบร้อยและมีเสถียรภาพ แม้แต่ประเทศฝรั่งเศสที่โค่นกษัตริย์ในปี 1789 แต่กว่าจะมีประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพก็ต้องใช้เวลาอีก 170 ปี ในตอนที่มีรัฐธรรมนูญฉบับเดอโกล ในปี 1959 นี่เอง ผู้เขียนได้แนะนำลูกศิษย์คนนั้นด้วยอีกว่า ในการเมืองยุคใหม่ที่มีโซเชียลมีเดียเป็นการสื่อสารหลัก การหาเสียแบบเก่าที่ใช้ระบบหัวคะแนนและการจัดตั้งมวลชนด้วยอิทธิพลและอำนาจเงิน น่าจะเป็นสิ่งที่ล้าสมัยและใช้ได้ผลน้อยลง แม้แต่ในสมัยก่อนก็ยังต้องมีนักการเมืองอย่าง คึกฤทธิ์ ปราโมช สมัคร สุนทรเวช หรือจำลอง ศรีเมือง ที่ไม่ได้ใช้เงินหรืออิทธิพลใด ๆ แต่ใช้พลังในการ “สื่อสารสาธารณะ” ที่เข้าเป้าหรือตรงใจประชาชน คือเป็นคนที่ใคร ๆ เห็นว่า “พิเศษมาก ๆ” และเป็นคนที่มีพลังบางอย่างที่จะต่อสู้กับกลุ่มอำนาจในยุคสมัยนั้น ๆ ได้ ดังนั้นคนรุ่นใหม่ที่ว่าพูดเก่ง ๆ (แบบธนาธรหรือพิธา)ก็ต้องสร้าง “จุดขาย” ให้มีลักษณะเฉพาะตัวขึ้นมา ไม่ใช่สร้างจุดขายที่ว่าด้วยการชวนคนไปล้มสถาบันหรือฆ่าฟันกับทหาร ซึ่งมวลชนในยุคนี้ไม่เสี่ยงพอที่จะแบบนั้นได้ และเมื่อการต่อสู้กับพวกคนรุ่นเก่าทำได้ยาก เพราะคนพวกนี้มีทั้งอำนาจในตำแหน่งและอำนาจในผลประโยชน์ที่แจกจ่ายผูกมัดกันไว้ คนที่จะเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ก็ต้อง “เจาะ” เข้าไปที่กลุ่มนายทหารที่เป็นคนรุ่นใหม่ด้วยกัน เพราะเมื่อนายทหารเหล่านี้เมื่อเติบโตขึ้นไปสู่ตำแหน่งสูง ๆ ก็จะไปปรับเปลี่ยนกองทัพ ที่รวมถึงการปรับเปลี่ยนบทบาทของทหารในทางการเมืองนั้นด้วย ทั้งนี้ต้องกำหนดยุทธศาสตร์เรื่องนี้อย่างสุขุมและเยือกเย็น โดยอาศัยความได้เปรียบทางเทคโนโลยีและพลังของคนรุ่นใหม่ในอุดมการณ์เดียวกัน เท่านี้ก็จะสามารถเอามาเป็นจุดขาย และสร้าง “แฟนคลับ” ได้มากมาย เพื่อให้แฟนคลับเหล่านี้มาเป็นพลังสำคัญที่จะเป็นฐานทางการเมืองให้คนรุ่นใหม่ในรุ่นต่อ ๆ ไปได้ตราบนานเท่านาน ปรมาจารย์แห่งซอยสวนพลู ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยสอนลูกศิษย์หนุ่ม ๆ ว่า “คนหนุ่มอาจจะมีพลังเยอะกว่า ทำงานเก่งกว่าคนแก่ ๆ แต่ก็ยังแพ้คนแก่อยู่เรื่องหนึ่ง คือคนหนุ่มเหล่านั้นยังไม่เคยแก่”