เสือตัวที่ 6 สงครามข่าวสาร (Information Warfare : IW) ในสงครามรัสเซียบุกยูเครนเมื่อ 24 ก.พ.2022 ที่ผ่านจนถึงปัจจุบันนั้น จะเห็นได้ว่าคู่ขัดแย้งและพันธมิตรทั้งสองฝ่าย ต่างใช้ยุทธการในแบบสงครามข้อมูลข่าวสาร(IW) ในยุคศตวรรษที่ 21 กันอย่างเต็มรูปแบบ โดยใช้สงครามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อ Social Media ที่มีเครื่องมือทันสมัยในทุกรูปแบบที่เป็นไปได้ จนยากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลสู่สาธารณะในประชาคมโลกในวงกว้างเป็นวินาทีได้อย่างเช่นสงครามในอดีตอีกต่อไป การช่วงชิงการนำ ทำลายล้างทางความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม พร้อมการปลุกปลอมขวัญและกำลังใจของฝ่ายตน มีให้เห็นอย่างชัดเจน ทำให้ทุกวันนี้ ผู้เสพสื่อสารมวลชนทั้งโลก พึงให้ความระมัดระวังต่อการตกเป็นเหยื่อของสงครามข้อมูลข่าวสาร (IW) ยุคใหม่นี้มากเป็นพิเศษ เพราะอาจตกเป็นเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่งของคู่ขัดแย้งไปได้โดยไม่รู้ตัว และการทำสงครามข้อมูลข่าวสาร (IW) ในสงครามยุคใหม่ล่าสุดนี้ ล้วนมีความล่อแหลม หมิ่นแหม่ต่อการตกลงใจเข้าสู่สงครามครั้งนี้โดยพลั้งเผลอ ซึ่งนั่น หากประเทศมหาอำนาจทางทหารอันหมายถึงประเทศที่มีอาวุธทำลายล้างสูงอย่างนิวเคลียร์ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ ณ ประเทศใด นักการทหารอาชีพจะตระหนักรู้ดีว่า การสื่อสารข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะในภาวะสงคราม ล้วนแล้วแต่มีวาระซ่อนเร้นอันเป็นข้อมูลที่เป็นจริงทั้งหมดไม่ ข้อมูลข่าวสารทั้งหลายที่ออกมาจากแต่ละฝ่ายนั้นล้วนแล้วแต่แฝงไว้ซึ่งประโยชน์ที่คาดหวังว่าจะได้รับจากการตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อในสงคราม คนในโลกยุคใหม่ในขณะนี้ จึงต้องสร้างภูมิต้านทานการรับสื่อในมาจากทั่วทุกสารทิศทุกเครื่องมือในหลากหลายช่องทางในปัจจุบัน อาทิ การให้ข่าวถึงความอ่อนล้าของกองทัพรัสเซียที่ไม่สามารถเข้ายึดเมืองใหญ่ของยูเครนได้ รวมทั้งการขาดการส่งกำลังน้ำมันรถถัง การขาดเสียงอาหารของนักรบแนวหน้าเพราะตามส่งให้ไม่ทัน หรือการยอมมอบตัวของทหารรัสเซียต่อยูเครนพร้อมคำรับสารภาพว่าถูกหลอกมาทำสงครามที่พวกเขาไม่ได้เต็มใจ ที่ถูกปล่อยออกมาจากฟากฝั่งตรงข้ามรัสเซียมาอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้ จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงการใช้สงครามข้อมูลข่าวสาร (IW) ในการทำสงครามอย่างเต็มกำลังของทั้งสองฝ่าย หากแต่การทำสงครามข่าวสาร (IW) เหล่านั้น อาจส่งผลเชิงยุทธศาสตร์ไม่มากนัก แต่อาจมีผลในแง่ของสภาพขวัญและกำลังใจของบรรดาทหารนักรบในแนวหน้าและในกองทัพของรัสเซียเท่านั้น หาเป็นผลในทางจิตวิทยาเชิงยุทธศาสตร์ที่มุ่งหวังการก่อให้เกิดผลในวงกว้างในระดับนานาชิติไม่ ด้วยการทำสงครามข่าวสาร(IW) นั้น โดยเนื้อแท้แล้ว มุ่งหวังผลลัพธ์สุดท้ายก็คือการทำลายความชอบธรรมของชาติคู่สงครามในหมู่พันธมิตรและประชาคมโลกมากกว่า อาทิ ล่าสุดเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวสารทางฝ่ายตรงข้ามรัสเซียส่งถึงสาธารณะชนว่า กองทัพรัสเซียยิงขีปนาวุธโจมตีศูนย์ฝึกทหารยาโวริฟ ซึ่งอยู่ใกล้กับโปแลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกของ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization) หรือ นาโต ทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะเป้าหมายที่ถูกโจมตีครั้งนี้ อยู่ใกล้พรมแดนของโปแลนด์ ห่างจากพรมแดนโปแลนด์ไปเพียง 9.6 กม และ NATO มีพันธสัญญาว่า NATO จะร่วมต่อต้านด้วยอาวุธ หากประเทศสมาชิกถูกคุกคามหรือถูกโจมตีด้วยอาวุธ นอกจากนี้ยังมีรายงานนักข่าวต่างชาติถูกยิงเสียชีวิตเป็นครั้งแรกในสงครามที่ยูเครนด้วย ในขณะที่รัสเซียกล่าวว่า ศูนย์ฝึกแห่งนี้ เป็นแหล่งซ่องสุมอาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายตรงข้าม และของนักรบต่างชาติที่มาช่วยยูเครนจึงสมควรแล้วที่จะต้องถูกทำลาย ในขณะที่การยั่วยุของทั้งสองฝ่าย ล้วนเป็นประเด็นหมิ่นแหม่ต่อการเกิดสงครามทำลายล้างขนาดใหญ่ที่ทุกประเทศในโลกขณะนี้ พึงระมัดระวังทุกย่างก้าวอย่างสูงสุด ล่าสุด ประธานาธิบดีอันเดรจ ดูดา ของโปแลนด์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า หากรัสเซียใช้อาวุธเคมี อาจทำให้ NATO ต้องตัดสินใจใหม่ในการเข้าช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครน เพราะก่อนหน้านี้ NATO นั้นตัดสินใจว่า จะไม่เข้าแทรกแซงการทหารต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียด้วยเกรงว่าจะลุกลามบานปลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น พร้อมการออกมาตรการกดดันเชิงเศรษฐกิจและสังคมจิตวิทยาต่อรัสเซียอันอาจเป็นการยั่วยุผู้นำรัสเซียให้จนตรอก และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้อาวุธและกำลังทหารที่รุนแรงขึ้น อาทิ นายไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี สหราชอาณาจักร กล่าวกับบีบีซีว่า เขาได้เพิ่มช่องทางขอวีซ่าเข้าสหราชอาณาใหม่ให้กับผู้อพยพชาวยูเครน นอกจากนี้ก็ได้ประกาศว่า จะให้เงินอุดหนุน 350 ปอนด์ต่อเดือนสำหรับชาวสหราชอาณาจักรที่ให้ที่พักแก่ชาวยูเครนที่หนีสงครามมา สงครามข่าวสาร ยั่วยุฝ่ายตรงข้ามรัสเซียมีอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ผู้หนึ่งกล่าวหาว่ารัสเซียขอการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์กับจีน เพื่อนำไปใช้ทำสงครามรุกรานยูเครน นอกจากนี้รัสเซียยังขอให้จีนมอบความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เพื่อลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ถึงขั้นว่านายเจก ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ จะเข้าพบกับนายหยาง เจี๋ยฉือ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านนโยบายต่างประเทศของจีน เพื่อแสดงเจตจำนงว่าไม่ยอมให้จีนหรือชาติใดชดเชยความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับรัสเซียเด็ดขาด ในขณะที่รัสเซียตอบโต้ว่า ไม่เคยร้องขอให้จีนช่วยเหลือทางการทหารแต่อย่างใด และล่าสุด แต่สำนักงานประธาน EU ได้ระบุว่า รัสเซียจะถูกเพิกถอนสถานะการค้า ในฐานะชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favoured Nation) ซึ่งสามารถเปิดทางให้ EU ออกคำสั่งห้ามหรือจัดเก็บภาษีลงโทษต่อสินค้าของรัสเซีย และกำหนดให้รัสเซียมีสถานะเทียบเท่ากับเกาหลีเหนือหรืออิหร่าน รวมถึงการสั่งห้ามนำเข้าเหล็กกล้าและเหล็กของรัสเซีย การสั่งห้ามส่งออกสินค้าหรู อาทิ รถยนต์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50,000 ยูโร (55,000 ดอลลาร์) และการสั่งห้ามลงทุนในบริษัทน้ำมันและภาคพลังงาน สถานการณ์ในยูเครนขณะนี้ พัฒนาผันแปรไปอย่างรวดเร็วด้วยเครื่องมือทางเทคโนโลยีอันทันสมัยยุค Online มีการยั่วยุ ตอบโต้กันไปมาระหว่างคู่ขัดแย้ง สร้างแรงกดดันที่จะเกิดมหันตภัยในอนาคต ล้วนส่งผลให้ทางจิตวิทยาเชิงยุทธศาสตร์ในวงกว้างที่ล่อแหลมต่อการตัดสินใจใดๆ ของผู้นำมหาอำนาจทั้งหลายที่กำลังขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะมีผลในระยะยาวต่อปฏิสัมพันธ์และกติกาโลกใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ ของทุกประเทศในโลกใบนี้ จึงไม่ใช่การเอาชนะกันเฉพาะหน้าในสงครามหนนี้ หากแต่คือการป้องกันไม่ให้การกระทำใดๆ ที่เป็นการชักนำความขัดแย้งครั้งนี้เดินไปสู่ภาวะความหมิ่นแหม่ ในการยกระดับสงครามให้สูงขึ้น จนลุกลามไปถึงขั้นที่ไม่อาจควบคุมได้อีกต่อไป