ทวี สุรฤทธิกุล “กะจองง็อง ๆ ผู้ว่าเอ๊ย” นี่คือเสียงประกาศหาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขณะนี้เวทีเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เปิดขึ้นแล้ว ตามประกาศของกรุงเทพมหานครเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ว่าผู้ที่คิดจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็เปิดตัวไปแล้วนับสิบคน เทื่อคนเหล่านี้ลงสมัครได้เบอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนต้องพิจารณาหาผู้สมัครที่ตนเองชอบ หรือหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติที่ต้องการ แล้วก็ไปลงคะแนนให้คน ๆ นั้น ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม อีก 2 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งก็ต้องดูว่าจะมีใครผิดหวังหรือสมหวังหรือไม่ เพราะคงจะต้องมีการแบ่งคะแนนกันไป แต่ใครหละจะครองใจคนกรุงเทพฯแล้วได้คะแนนมามากที่สุด ผู้เขียนมีประสบการณ์เลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 จนถึงครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. 2556 รวม 9 ครั้ง ขาดไปเพียงครั้งเดียวในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คือใน พ.ศ. 2518 ที่เพิ่งจะมีกฎหมายให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้ง แต่ตอนนั้นผู้เขียนยังอายุไม่ถึงเกณฑ์ที่จะไปลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้ผู้เขียนได้เคยเป็นทีมงานหาเสียงให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ที่ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 ครั้งติดต่อกัน ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2552 และ 2556 รวมทั้งที่เคยทำการวิจัยและร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาหลายครั้ง ตั้งแต่ยุคที่ ดร.พิจิตต รัตกุล เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งแรกใน พ.ศ. 2539 จนถึงครั้งที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้เป็นผู้ว่าครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2551 ซึ่งในขณะนั้นผู้เขียนเป็นอาจารย์อยู่ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงอยากนำประสบการณ์และความรู้เหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนกับท่านที่สนใจ ในจำนวนที่มีการเลือกตั้ง 9 ครั้งนี้ มีบุคคลที่ได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรวม 6 คน คือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง (2528 – 2535 รวม 2 สมัยแต่สมัยที่ 2 เป็นผู้ว่าฯอยู่ 2 ปีก็ลาออกไปลงเลือกตั้งเป็น ส.ส.) นายกฤษฎา อรุณวงศ์ (2535 - 2539) นายพิจิตต รัตตกุล (2529 - 2543) นายสมัคร สุนทรเวช (2543 – 2547) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน (2547 - 2552 รวม 2 สมัย แต่สมัยที่ 2 เป็นผู้ว่าฯได้เพียงไม่ถึงปี ก็ถูกให้ออกเนื่องจากถูกฟ้องคดทุจริตรถดับเพลิง) และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร (2552 - 2559 รวม 2 สมัย แต่สมัยที่ 2 ถูกรัฐบาล คสช.ปลดออก ด้วยข้อหาพัวพันกับการทุจริตในการจัดทำแสงสีอุโมงค์ไฟ) ทั้งนี้ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯมหานครแต่ละครั้งเป็นไปอย่างเข้มข้น และมีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าจดจำ ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2528 ที่พลตรีจำลองได้เป็นผู้ว่าฯ ต้องบอกว่าเป็นการพลิกล็อคอย่างถล่มทลาย เพราะสามารถชนะนายชนะ รุ่งแสง ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นตัวเก็งได้อย่างเหลือเชื่อ เพราะสื่อทุกสำนักบอกว่ามหาจำลองต้องแพ้อย่างแน่นอน แต่นั่นก็เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ฟ้าถล่ม” เพราะมหาจำลองใช้ความสมถะและการหาเสียงอย่างมัธยัสถ์ ด้วยโปสเตอร์ที่ทำจากฝาเข่งและถุงกระดาษ พร้อมกับทีมงานในชื่อ “กลุ่มรวมพลัง” เอาชนะผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีฐานเสีบงในกรุงเทพฯอย่างแน่นหนามายาวนาน ทั้งยังทุ่มเทหาเสียงอย่างหนัก ถึงขั้นเรียกการหาเสียงของมหาจำลองว่า “พวกแบกะดิน” ซึ่งเรื่องนี้ได้ทำให้เกิดกระแสหมั่นไส้ประชาธิปัตย์ และหันมาเห็นใจมหาจำลอง จนได้รับชัยชนะในที่สุดด้วยคะแนนที่เหนือกว่าพรรคประชาธิปัตย์เกือบครึ่งต่อครึ่ง (408,233 ต่อ 241,002 คะแนน) พลตรีจำลอง ศรีเมือง หรือที่คนทั้งหลายตั้งฉายาท่านว่า “มหา 5 ขัน” คือท่านเป็นคนที่เคร่งในศีล นับถือนิกายสันติอโศก กินวันมื้อ เฉพาะพืชผักและผลไม้เท่านั้น มีชื่อเสียงขึ้นมาเพราะเป็นแกนนำคนหนึ่งของทหาร จปร.รุ่น 7 ที่เรียกว่ากลุ่มยังเติร์ก ซึ่งเป็นกลุ่มนายทหารที่สนับสนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2523 และพลเอกเปรมได้แต่งตั้งให้พันเอกจำลอง ศรีเมือง (ยศขณะนั้น) เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีบทบาททำงานใกล้ชิดกับพลเอกเปรมมาก มหาจำลองชอบแต่งตัวด้วยเสื้อหม้อฮ่อมอยู่เสมอ พร้อมกับผมที่ตัดเกรียน จึงทำให้มีบุคลิกโดดเด่นเป็นที่จดจำ แต่ก็เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน เพราะใน พ.ศ. 2524 สภาผู้แทนราษฎรได้มีการเสนอกฎหมายให้สตรีทำแท้งได้ โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ท่านก็ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และมาต่อสู้นอกสภา จนกฎหมายฉบับนั้นต้องตกไป ก่อนที่จะมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใน พ.ศ. 2528 ดังกล่าว ผู้เขียนได้มีโอกาสได้รู้จักกับมหาจำลองอย่างใกล้ชิดก็ในช่วงที่ท่านได้ลาออกจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้วนี่เอง เพราะท่านได้เดินเข้าออกบ้านสวนพลูอยู่เป็นประจำเกือบทุกเดือนเป็นเวลากว่า 2 ปี (ช่วง พ.ศ. 2525 - 2527) ซึ่งในตอนนั้นผมได้ทำงานเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยอาศัยอยู่ในห้องพักบริเวณบ้านสวนพลูนั้น และมีหน้าที่คอยต้อนรับแขกไปใครมาอยู่เป็นประจำ มหาจำลองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไปมาหาสู่ที่บ้านสวนพลูอยู่เสมอ แต่ท่านจะมาในเวลาเช้ามาก ๆ ทราบจากจ่าเสริฐตำรวจที่ประจำอยู่หน้าบ้าน บอกว่าท่านคงมาตั้งแต่ยังไม่สว่าง เพราะพอตีห้าครึ่งที่จ่าเสริฐมาเข้าเวร ก็เจอมหาจำลองมานั่งอยู่ในเงามืด ๆ ที่ม้านั่งหน้าบ้านสวนพลูนั้นแล้ว ซึ่งจ่าเสริฐก็รู้ดีว่ามหาจำลองเป็นใคร ก็จะเปิดประตูบ้านให้เข้ามานั่งรอที่มุมใต้ถุนเรือนไทยที่ห่างไกลตาผู้คน แล้วให้รออยู่ก่อน เพราะท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะลงมาก็ราว ๆ เจ็ดโมงเช้าทุกวัน ผู้เขียนจะตื่นเวลาประมาณ 6 โมงเช้า พออาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็จะมารอทานข้าวเช้ากับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่โต๊ะทานข้าวใต้ถุนเรือนไทยริมสระบัวหลังบ้าน วันไหนที่มหาจำลองมา จ่าเสริฐก็จะมาบอกพี่หละต้นห้องของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไว้ก่อน แล้วพี่หละก็จะมาบอกผู้เขียน โดยกระซิบบอกว่าอย่าเพิ่งไปรบกวนท่าน เพราะมหาจำลองกำลัง “ฉัน” อาหารเช้าอยู่ตรงใต้ถุนเรือนไทยมุมข้างรั้วโน้น แต่ผู้เขียนก็อดไม่ได้ที่จะเลียบ ๆ เคียง ๆ แอบดู ก็เห็นท่านกำลังแกะถุงผ้าขนาดกว้างยาวสัก 1 ศอก สีเทา ๆ เอาจานก้นลึกขนาดสักคืบกว่า ๆ มาวางข้างหน้า แล้วเทของกินออกจากถุงพลาสติกที่ห่อมาในถุงผ้านั้นเช่นกัน มองไกล ๆ น่าจะเป็นพวกถั่วต่าง ๆ เพราะได้ยินเสียงเทดังกราว ไม่เหมือนเทใบผัก จากนั้นก็เอาช้อนแบบที่เราใช้ตักแกง ตักกินช้า ๆ สลับกับดื่มน้ำในขวดที่เตรียมมา พอท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ลงมาท่านก็รับประทานหมดพอดี มหาจำลองนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้ฉายาว่า “มนุษย์ต่างดาว” ซึ่งจะขออธิบายที่มาในสัปดาห์หน้านะครับ