เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit การรู้เท่าทันสังคมที่ท่วมด้วยข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ เป็นเรื่องยาก เพราะหลายอย่างไม่ได้มาแบบซื่อๆ แต่มาแบบแยบยล ด้วยกลไกเทคโนโลยีทันสมัย ซับซ้อน และกลยุทธ์การตลาดและการเมือง จึงอยู่ที่การตัดสินใจเลือกรับ เลือกสิ่งที่เป็นสาระ มีคุณค่า หรือว่าสนใจแต่เรื่องสนุกสนาน ไร้สาระ การโฆษณาที่ดูตื่นเต้น เขาเสนออะไรมาก็อยากได้ไปหมด คนโฆษณาก็เก่ง ทำให้ “ความต้องการ” กลายเป็น “ความจำเป็น” ที่เราต้องมีให้ได้ สั่งให้ได้ ซื้อได้ให้ สังคมที่ไม่มีการเรียนรู้จะแยกแยะหรือสรุปอะไรไม่ค่อยได้ ไม่สามารถวิเคราะห์ (แยก) หรือสังเคราะห์ (สรุปรวม) อะไรที่ให้คุณค่าแก่ชีวิตของตนเองได้ เพราะขาดหลักเกณฑ์ ขาดกรอบคิดนามธรรม (concepts) คนที่ใช้สื่อ ไม่ว่านักการตลาดที่ต้องการขายของ หรือนักการเมืองที่ต้องการขายความคิด ขายโครงการ หาเสียง รู้ว่าคนสมัยนี้ต้องการอะไรที่สำเร็จรูป กินได้ ใช้ได้ แบบเร็วๆ เหมือนบะหมี่ที่ฉีกซองเทน้ำร้อนลงไปก็กินได้ หรือเหมือนฟาสต์ฟู้ด แ-กด่วน ซึ่งล้วนเป็นอะไรที่ไม่ดีต่อสุขภาพ สังคมไทยวันนี้เป็นสังคมบริโภค ที่บริโภคข้อมูลข่าวสารและความรู้สำเร็จรูป ไม่ใช่สังคมที่สร้างความรู้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ “การเรียนรู้” โดยตรงอย่างกระทรวงศึกษาธิการยังรู้ดีว่า การเรียนในห้องเรียนไม่ได้สร้างความรู้ ถึงได้บอกว่า “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ถ้าเข้าใจ “ประโยค” นี้จริง (โดยไม่แยกการเรียนกับการรู้) ก็ควรเชื่อมโยงการเรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติอื่นๆ ในชีวิตจริงของเด็ก ไม่ใช่แต่นอกห้องเรียน แต่ “ตลอดเวลา” และ “ตลอดชีวิต” เพื่อจะทำเช่นนี้ ต้องคิดเรื่องการเรียนรู้แบบบูรณาการ ไม่ใช่แยกส่วน ซึ่งสองปีกว่าที่เกิดโควิด ได้พิสูจน์ความล้มเหลวของระบบการศึกษาที่รับมือกับสถานการณ์ที่ต้องเรียนที่บ้านไม่ได้ ที่จริง น่าจะขอบคุณโควิดที่ “เพิ่มเวลารู้” ไม่ใช่แค่ไม่กี่ชั่วโมงนอกห้องเรียนโดยยังอยู่ในบริเวณโรงเรียน แต่นอกโรงเรียนทั้งวัน อยู่บ้าน แต่ครูก็ไม่ได้ทำ หรือทำไม่เป็น เพราะ “ไม่เข้าใจ” เรื่องการเรียนรู้ ระหว่างโควิดระบาด นักเรียนน่าได้ทำโครงงานเรื่องการดูแลสุขภาพ เรียนรู้เรื่องการกิน การอยู่ การปฏิบัติตน ข้าวปลาอาหาร พืชผักผลไม้ สมุนไพร ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสุขภาพดีมีภูมิต้านทาน เป็นช่วงเวลาที่นักเรียนทุกระดับควรได้ลงมือจัดการชีวิต จัดการสุขภาพของตนเอง เรียนรู้การปลูกผักอินทรีย์ การทำปุ๋ย ทำน้ำหมักชีวภาพ เรียนรู้คุณค่าของผักพื้นบ้าน อาหารท้องถิ่น สมุนไพร โทษของสารเคมี เรียนรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และทำแผนการจัดการดูแลสุขภาพของตนเอง ไม่ควรมีข้ออ้างเรื่องการไม่มีที่ ไม่มีเวลา เพราะถึงไม่มีที่ของตนเอง ก็มีของญาติพี่น้อง ของเพื่อน ที่สามารถทำร่วมกันได้ ทำเป็นกลุ่ม ทำในที่ของวัด หรือสาธารณะที่ผู้ใหญ่ในท้องถิ่นเข้าใจและสนับสนุน ปลูกผัก เพื่อบริโภค เหลือก็ขายได้เงินอีก จะเป็นโครงงานที่ “เพิ่มเวลารู้” จริงๆ ปัญหาอยู่ที่ครูเองก็ไม่เข้าใจเรื่องการเรียนรู้แบบบูรณาการ ไม่เข้าใจว่าการปลูกผัก การทำการเกษตรสามารถเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ ดินฟ้าอากาศ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงปัญหาความยากจน หนี้สินของประชาชนและของประเทศชาติ ถ้ารู้จักเชื่อมโยง ถ้าเรียนแบบเอาปรากฏการณ์มาเรียน (อย่างที่กระทรวงอ้างว่าอยากทำเหมือนฟินแลนด์) การระบาดของโควิด-19 เป็นโอกาสดีให้ได้เริ่มการจัดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับโควิด ที่มีผลกระทบต่อชีวิตของคนทุกด้าน ถ้าเอาชีวิตของเด็กเป็นเป้าหมาย เป็นศูนย์กลางจริง รวมไปถึงครอบครัวและชุมชนที่เขาอยู่ การเรียนรู้ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่การท่องหนังสือ เรียนหนังสือ แต่เรียนเพื่อให้เขาเติบโตในความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตโดยรวม ไม่ใช่เป็นเรื่องๆ อย่างๆ แบบที่เขาเรียนที่โรงเรียน การเรียนที่ให้แต่ “คำตอบ” แก่เด็ก ทำให้เด็ก “ถามไม่เป็น” เพราะไม่ได้ฝึกให้ตั้งคำถาม ถ้าถามเป็น เขาจะหาคำตอบเองได้ไม่ยาก เขาจะหาคำตอบได้เก่งกว่าครูด้วยซ้ำ เพราะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เก่งกว่าครูเสียอีก หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตได้แบบไม่จำกัด เรียนที่โรงเรียนเป็นการเรียนรู้แบบรับ จึงรุกไม่เป็น ไม่มียุคใดที่เราจะหาข้อมูลความรู้ได้มากและง่ายดายอย่างวันนี้ อย่างเรื่องสุขภาพ แค่เข้าไปในยูทูบ เลือกฟังบรรดาคุณหมอเก่งๆ ที่ให้ความรู้การดูแลสุขภาพ ก็จะไม่ต้องพึ่งหมอพึ่งยากันมากอย่างที่ทำกัน ถ้าให้นักเรียนฟังคลิปของหมอบางคนเรื่องสุขภาพ และให้สรุปบทเรียน และให้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เขียนรายงาน จะเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้ “รู้เท่าทันโลกและทันโรค” ดีกว่าการเรียน “สุขศึกษา” จากหนังสือมากนัก ในอดีต สังคมยังชีพ สังคมเกษตร ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ข้าว มีข้าวก็อยู่ได้ อาหารหาได้จากธรรมชาติ คนที่มีความมั่นคงดูได้จากยุ้งข้าวว่าใหญ่แค่ไหน ถ้าใหญ่มาก ใครๆ ก็อยากยกลูกสาวให้ เพราะรู้ว่าจะเลี้ยงดูลูกสาวเขาไม่ให้อดตายได้ เมื่อสังคมเปลี่ยนจากเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรม ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ เงิน มีเงินก็ซื้อได้ทุกอย่าง จึงต้องทำมาหาเงิน เพื่อจะได้ซื้ออยู่ซื้อกิน ซื้อเครื่องอำนวยความสะดวก บัญชีธนาคารมาแทนยุ้งข้าว ใครมีเงินมากก็มีความมั่นคง ผู้คนจึงหาเงินกันเอาเป็นเอาตาย หลายคนก็ตายจริง วันนี้คนมั่นคงถ้ามีความรู้ “คนไม่มีความรู้อยู่ไม่ได้ ถึงอยู่ได้ก็ถูกเขาโกง ถูกเขาหลอก ถูกเขาเอาเปรียบได้ง่าย” ปัญหาสังคม คือ ไม่เป็นสังคมเรียนรู้ เป็นแต่สังคมรับรู้ บริโภคความรู้ ไม่ได้สร้างความรู้ ประเทศที่มีความรู้ สร้างความรู้ เขาเปลี่ยนทะเลทรายให้เป็นป่า ประเทศที่ไม่มีความรู้ ไม่สร้างความรู้เปลี่ยนป่าให้เป็นทะเลทราย อิสราเอลเปลี่ยนทะเลทรายให้เป็นป่า เป็นนาเป็นสวน จ้างคนไทยไปทำงานให้ ส่งออกพืชผลทางการเกษตร ส่งออกน้ำจืด ทั้งๆ ที่ฝนตกปีละ 500 มิลลิเมตร บ้านเราตกปีละ 1,500 ตกทีไรน้ำท่วม หยุดตกก็แล้ง การเรียนรู้เริ่มที่ครอบครัว ที่โรงเรียน ที่ชุมชน แต่ถ้ารัฐบาลที่กุมนโยบายไม่เข้าใจเรื่องการเรียนรู้ สังคมก็คงอยู่ในหลุมดำ ที่พลังความรู้ พลังปัญญาเท่านั้นจะช่วยให้หลุดพ้นออกไปได้