เสือตัวที่ 6 เดือนรอมฎอน เป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและถือเป็นเดือนแห่งการอุทิศร่างกายและจิตวิญญาณให้แก่พระผู้เป็นเจ้า และยังเป็นหนึ่งในธรรมเนียมมุสลิมที่คุ้นเคยของประชาชนต่างศาสนาเป็นอย่างดี ในฐานะเทศกาลถือศีลอด ซึ่งชาวมุสลิมทุกคนจะไม่รับประทานอาหารและเครื่องดื่มใดๆ แม้กระทั่งการกลืนน้ำลายของตนเองตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน เพื่อเป็นการฝึกความอดทนต่อความหิวกระหาย ทั้งยังเรียนรู้ให้เห็นใจผู้ที่ยากจนและขาดโอกาสในสังคม พร้อมทั้งงดเว้นจากการร่วมประเวณี และต้องเข้มงวดระมัดระวังตนเองไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต้องห้ามของศาสนาและการกระทำในสิ่งที่ไร้สาระ รวมทั้งต้องไม่กระทำใดๆที่ ขัดต่อคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเคร่งครัด โดยแก่นแกนของเทศกาลถือศีลอดจึงเป็นการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อให้รู้จักอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากต่างๆ ด้วยความเพียรและสติปัญญา เป็นการขัดเกลาจิตใจให้อิสลามิกชนเป็นผู้มีสติหนักแน่น อดทนต่อความหิวโหย อดทนต่อความโกรธ ไม่ปล่อยจิตใจไหลไปตามสิ่งเย้ายวนอารมณ์ โดยเทศกาลถือศีลอดของพี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทยที่ผ่านมาจวบจนทุกวันนี้ มักจะเป็นหมุดหมายสำคัญในการแสดงศักยภาพและการมีตัวตนของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่มีเป้าหมายสำคัญในการแบ่งแยกปกครองกันเองของคนในพื้นที่แห่งนี้เรื่อยมาอย่างยาวนาน ทั้งก่อนเข้าเทศกาล ระหว่าง และหลังจากออกเทศกาลสำคัญดังกล่าวของพี่น้องชาวมุสลิมตลอดมา และครั้งนี้เดือนรอมฎอนเป็นช่วงต้นเดือน พ.ค. 65 โดยสำนักจุฬาราชมนตรีได้ประกาศเรื่อง การดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮิจเราห์ศักราช 1440 ความว่าให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ในวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ซึ่งมีผู้เห็นดวงจันทร์ในวันและเวลาดังกล่าว มีการแจ้งตรวจสอบและรายงานผลการดูดวงจันทร์ไปยังจุฬาราชมนตรี และมีการประกาศกำหนดเดือนรอมฎอนอย่างเป็นทางการ เทศกาลถือศีลอดก็จะเริ่มขึ้นในเช้าวันรุ่งขึ้น โดยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถานที่ดูดวงจันทร์บริเวณศาลาดูดวงจันทร์ เขาปาเร๊ะ ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เพื่อกำหนดวันแรกของการถือศีลอดอดในเดือนรอมฎอน กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้สั่งการให้สร้างสถานการณ์ในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลรือเสาะ ก่อนห้วงเดือนรอมฎอน และ ห้วง 10 วันแรกในเดือนรอมฎอน โดยปฏิบัติการก่อเหตุระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการจู่โจม 1 พร้อมกำลังชุดลาดตระเวน ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เดินทางไปส่งหมายเรียกพยานคดีจราจรในพื้นที่ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อ ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้กำลังพลเสียชีวิต 2 นาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 3 นาย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นการกระทำของ นายอาหามัด ลือแบซา แกนนำ RKK ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ เพื่อสร้างสถานการณ์และแสดงศักยภาพ อันเป็นการส่งสัญญาณให้ฝ่ายรัฐรับรู้ว่า คนกลุ่มที่ต่อต้านรัฐกลุ่มนี้ ยังคงมีความเหนือกว่าหน่วยงานภาครัฐและพร้อมที่จะลงมือก่อเหตุรุนแรงต่อฝ่ายรัฐได้ทุกเมื่อถ้าแกนนำกลุ่มต้องการ ทั้งยังสร้างอำนาจต่อรองแฝงที่ส่งไปให้กลุ่มตัวแทนขบวนการร้ายแห่งนี้ ให้มีความกล้าแข็งมากขึ้นในการพูดคุยสันติสุขกับผู้แทนขอรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้น ช่วงทีมการเจรจาสันติสุขระหว่างขบวนการแบ่งแยกการปกครองที่ชื่อบีอาร์เอ็นกับผู้แทนรัฐบาลไทยที่มาเลเซีย คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ฝ่ายรัฐบาลไทยนำโดย พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ กับคณะผู้แทนขบวนการบีอาร์เอ็น นำโดยอุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน เป็นหัวหน้าคณะบีอาร์เอ็น โดยมี ตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกและมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ โดยเนื้อหาสำคัญของแถลงการณ์บีอาร์เอ็นเป็นภาษาไทยระบุว่า เป็นผลจากการเจรจาสันติภาพระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 31 มี.ค. - 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า ในการเจรจาครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงในบางประเด็น ได้แก่ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะยุติปฏิบัติการทางการทหารตลอดช่วงเดือนรอมฎอน จนถึงวันที่ 10 ของเดือนเชาวัล ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. ถึงวันที่ 14 พ.ค. 2565 เป้าหมายของข้อตกลงดังกล่าวคือเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่สงบสุขสำหรับสังคมปาตานีที่อยู่ในพื้นที่ และยังเป็นกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อสร้างสันติภาพอันแท้จริงที่ปาตานี ทั้งสองฝ่ายได้นำเสนอกรอบการทำงานหรือ TOR เกี่ยวกับการจัดตั้งคณะทำงานร่วม (Joint Working Group, JWG) เพื่อประเด็นสารัตถะ ได้แก่ 1) ทางออกทางการเมือง 2) การรับฟังความเห็นสาธารณะ และ 3) การลดการใช้ความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า จากการเดินทางไปพูดคุยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียกับฝ่ายของบีอาร์เอ็น และมีผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดีทั้ง 2 ฝ่าย มีท่าทีที่มีมิตรไมตรีต่อกัน ผลสรุปในการหารือกันนั้น ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยและถกแถลงหลักการสำคัญที่จะยึดถือร่วมกันตลอดมาในการพูดคุยและจะถูกนำไปสานต่อในการพูดคุยระยะต่อไป มีด้วยกัน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ทั้งสองฝ่ายต้องลดความรุนแรงลง การแสวงหาทางออกของปัญหาทุกอย่างด้วยการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และการแสวงหาทางออกทุกอย่างด้วยกระบวนการทางการเมือง ซึ่งการพูดคุยของทั้งสองฝ่ายเห็นว่าหลักการดังกล่าวนั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์และความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือความสงบสุขในพื้นที่ ผู้คนใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในพื้นที่ และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งอยากเห็นการแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าของปัญหา อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนอย่างสันติสุขอย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งถือเป็นหมุดหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแสวงหาทางออกของปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่กลุ่มนี้กับรัฐที่มีมาอย่างยาวนาน หากแต่ประเด็นสำคัญน่าจะไม่ได้อยู่ที่จุดหมายปลายทางของหลักการสำคัญ 3 ประการดังกล่าวอย่างผิวเผินเท่านั้น เพราะหากพิจารณาเนื้อแท้ของสาระสำคัญระหว่างทางจะเห็นได้ว่า มีสาระสำคัญมากมายที่แต่ละฝ่ายจะต้องเตรียมเนื้อหาสาระของการต่อสู้ทางความคิดเพื่อนำไปสู่หมุดหมายสำคัญ นั่นคือการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายบนวิถีของแนวคิดพหุวัฒนธรรมนำสู่สันติสุข บนแนวคิดที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับชัยชนะร่วมกัน มากกว่าการถูกดึงรั้งไปสู่หมุดหมายสำคัญของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะสันติสุขที่แอบซ่อนการบรรลุหมุดหมายในการปกครองกันเองอย่างเป็นอิสระจากรัฐ