ทวี สุรฤทธิกุล คนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯกรุงเทพฯไม่ใช่แต่ “แปลก” แต่ต้อง “ดูดี” และมี “ความสามารถ” ที่ยกตัวอย่าง “มหา 5 ขัน” พลตรีจำลอง ศรีเมือง มาเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็เพื่อจะบอกว่า “คนกรุงเทพฯใช้อะไรในการเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” เพราะมหาจำลองมีคุณสมบัติที่เป็น “อัตถลักษณ์” ของคนกรุงเทพฯ และอาจจะเป็น “โมเดล” ให้กับการเลือกนักการเมืองมาบริหารประเทศในระดับชาตินั้นด้วย ประการแรก “ความแปลกใหม่” อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เรียกว่า “มนุษย์ต่างดาว” ซึ่งมหาจำลองก็เป็นมนุษย์ต่างดาวในความหมายที่ได้สร้างปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับคนกรุงเทพฯ ที่ต้องจมกับการเมืองเก่า ๆ มาช้านาน “การเมืองเก่า ๆ” ที่หมายถึงนักการเมืองที่ยโสโอหัง บ้าอำนาจ และกอบโกยโกงกิน แต่มหาจำลองได้มาสร้าง “การเมืองใหม่ ๆ” คือการเมืองที่ต้องการคนใจซื่อมือสะอาด คนที่นอบน้อมถ่อมตน เล่นกับลูกชาวบ้าน และมีพฤติกรรมที่น่าไว้วางใจ ซึ่งมหาจำลองได้นำมาซึ่ง “บุคลิกภาพใหม่” ของนักการเมืองเช่นนี้ ประการต่อมา “มีชื่อเสียงที่ดี” ในความหมายที่ว่าจะต้องเคยมีบทบาทและหน้าที่การงานเป็นที่รู้จัก ซึ่งในกรณีของมหาจำลองได้สร้างผลงานปรากฏสู่สาธารณะ ตั้งแต่ที่เป็นนายทหารระดับนายพัน คือเป็นแกนนำกลุ่มยังเติร์ก มีบทบาทในการทำงานการเมืองมาก่อน เพราะเป็นวุฒิสมาชิกและต่อมาก็ได้เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีผลงานที่โดดเด่นคือการต่อต้านกฎหมายการทำแท้งเสรี รวมถึงการต่อต้านการคอร์รับชัน อย่างที่ได้เห็นมหาจำลองออกมาขัดขวางนักการเมืองบางคนในยุคนั้น รวมถึงที่มหาจำลองได้วางตัวเป็น “ผู้ทรงศีล” อันเป็นภาพลักษณ์ทางด้านบวกที่นักการเมืองหลาย ๆ คนไม่มี ประการสุดท้าย “เป็นหน้าเป็นตาให้กับคนกรุงเทพฯได้” เพราะกรุงเทพฯในยุคที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจมาก ๆ มาตั้งแต่ยุคอเมริกันครองเมืองไทย และได้มาสร้าง “ความสกปรก” ไว้ในกรุงเทพฯ เช่น แหล่งบันเทิงเริงรมย์ การจราจรที่คับคั่ง และอาชญากรรมที่มากมาย คนกรุงเทพฯจึงต้องการผู้บริหารที่จะมา “กวาดล้าง” ความสกปรกเหล่านี้น ดังจะเห็นได้จากนโยบายในการหาเสียงของมหาจำลอง ที่ได้วาดหวังที่จะทำให้กรุงเทพฯเป็น “เมืองสะอาด” ตั้งแต่ตามตรอกซอกซอย ไปจนถึงร่างกายและจิตใจของผู้คนในชุมชน ในขณะเดียวกันก็นำความทันสมัยมาสู่กรุงเทพฯ อย่างเรื่องสะพานลอยหลายแห่ง ๆ และระบบรถไฟฟ้า ก็มีการริเริ่มมาในยุคมหาจำลองนั้น ถ้าเราจะไล่เรียงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ได้รับตำแหน่งต่อมาจากมหาจำลอง เราก็จะเห็นว่าทุกคนนั้นมีคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อนี้อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าจะมีข้อใดมากน้อยต่างกันเท่านั้น คนที่เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯต่อมาจากมหาจำลองก็คือ นายกฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา อาจจะไม่ได้มีคุณสมบัติในด้านการเมืองที่โดดเด่นมากนัก (ท่านเป็นสถาปนิก เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และเป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาศิลปกรรมร่วมสมัย) แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากมหาจำลองให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสืบต่อ ภายหลังจากที่มหาจำลองได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปลายปี 2535 เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กรุงเทพฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังธรรม ที่เติบโตมาจากกลุ่มรวมพลังที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชกากรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2528 นั้น จึงเรียกได้ว่านายกฤษฎานี้ได้ใช้ “บุญเก่า” ที่มหาจำลองสร้างไว้นั่นเอง เพราะในการเลือกตั้งต่อมาใน พ.ศ. 2539 นายกฤษฎาก็ได้ลงเลือกตั้งอีกรอบ แต่ไปสมัครในนามพรรคประชากรไทย พร้อมกันนั้นมหาจำลองก็หวนกลับมาเล่นการเมืองในเวทีท้องถิ่นนี้อีก ด้วยการลงสมัครในนามพรรคพลังธรรม แต่ก็พ่ายแพ้แก่นายพิจิตต รัตตกุล ผู้ทีสมัครในนามอิสระ (แต่ก็มีพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนอยู่ข้าง ๆ) การพ่ายแพ้ทั้งของมหาจำลองและนายกฤษฎา ได้นำมาซึ่งคุณสมบัติอีกข้อหนึ่งของการที่จะได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นั่นก็คือ “ความมุ่งมั่นตั้งใจจริง” เพราะนายพิจิตตนั้นเคยสมัครรับเลือกตั้งมาก่อนหน้านั้นแล้วครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2535 ซึ่งพ่ายแพ้นายกฤษฎาที่ได้เป็นผู้ว่าฯในปีนั้นราว 50,000 คะแนน แต่นายพิจิตตก็ไม่ได้ท้อถอย แต่กลับยิ่งทำงานในทางสาธารณะอย่างเข้มแข็งให้มากขึ้นไปอีก ด้วยการตั้งกลุ่มมดงาน ทำการรณรงค์เพื่อพัฒนากรุงเทพฯ ที่เด่น ๆ ก็คือ เรื่องของมลพิษ การจราจร สวนสาธารณะ และความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในสายตาของคนกรุงเทพฯมาโดยตลอด แม้ว่ามหาจำลองจะหวนคืนกลับมาลงเลือกตั้งในปี 2539 ก็ต้องแพ้แก่นายพิจิตตอย่างหลุดลุ่ย ขนาดที่ว่าเอาคะแนนของนายกฤษฎาที่ได้ที่ 3 มารวมด้วย ก็ยังไม่ชนะนายพิจิตต (นายพิจิตตได้ 768,994 คะแนน มหาจำลองได้ 514,401 คะแนน นายกฤษฎาได้ 244,002 คะแนน รวมคะแนนของมหาจำลองกับนายกฤษฎาได้ 758,403 คะแนน นายพิจิตตก็ยังชนะสองคนนี้อยู่ 10,591 คะแนน โดยคะแนนที่นายพิจิตตได้นับเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ คือร้อยละ 59,47 และคะแนนของทั้งสามคนนี้ก็กวาดคะแนนของผู้มาใช้สิทธิไปกว่าร้อยละ 98 จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิ 1,558,532 คน) “ความมุ่งมั่นตั้งใจจริง” ของนายพิจิตตก็ไม่ได้ทำให้นายพิจิตตประสบความสำเร็จมากนักในการบริหารงานในกรุงเทพมหานคร เพราะการเมืองในระดับชาติได้เข้ามา “เล่นงาน” หรือ “ก้าวก่าย” งานของกรุงเทพมหานครอย่างมากมาย ทำให้นายพิจิตตต้องถอดใจและไม่ได้ลงเลือกตั้งในสมัยต่อมาในปี 2543 แต่แบบอย่างในความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงก็ยังเป็น “โมเดล” ให้กับคนที่จะสมัครรับเลือกตั้งในยุคต่อมา โดยเฉพาะในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคมปีนี้ ที่ผู้สมัครจำนวนหนึ่งก็ได้ใช้ภาพลักษณ์ด้านความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงนี้มาหาเสียงเพื่อเอาชนะใจคนกรุงเทพฯอยู่ด้วย แต่ก่อนที่จะมาวิเคราะห์ว่าในการเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม 2535 คนกรุงเทพฯจะเลือกผู้ว่าฯของพวกเขาอย่างไร เราก็คงจะต้องย้อนดูอดีตอีกสักเล็กน้อย เพราะยังมีการเลือกตั้งที่น่าสนใจอยู่อีกหลายครั้ง ตั้งแต่ที่นายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใน พ.ศ. 2543 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ใน พ.ศ. 2547 และ 2551 และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ใน พ.ศ. 2552 และ 2556 เพราะในคราวที่ทั้ง 3 คนได้เป็นผู้ว่าฯนี้ ต่างก็มี “ปัจจัยพิเศษ” ที่นำมาซึ่งชัยชนะของแต่ละคนนั้น โดยเฉพาะสถานการณ์ของการเมืองในระดับชาติ อย่างที่ผู้เขียนเรียกว่า “เป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” กรุงเทพฯไม่ได้เป็นแค่เมืองที่มีปัญหาซับซ้อน แต่คนกรุงเทพฯที่จะเลือกตั้งผู้ว่าฯของพวกเขานั้นยิ่งมี “ปัญหา” ซับซ้อนมากกว่า