เสรี พงศ์พิศ Fb Seri Phongphit ทราบไหมครับว่า ผู้ประพันธ์ทำนองเพลงชาติไทย ชื่อ ปิเตอร์ ไฟท์ พ่อเป็นฝรั่งอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน แม่เป็นไทยเชื้อสายมอญ ต่อมาเขาได้นามว่า “พระเจนดุริยางค์” (ชื่อไทย ปิติ วาทยะกร 2426-2511) ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงชาติไทยสำนวนแรก คือ ขุนวิจิตมาตรา (สง่า กาญจนนาคพันธุ์) พระเจนดุริยางค์ให้ทำนองเมื่อปี 2477 ที่ตอนแรกปฏิเสธ อ้างว่า มีเพลงสรรเสริญบารมีก็น่าจะพอแล้ว แต่ที่สุดก็จัดให้ โดยผู้รู้ทางดนตรีบอกว่า คล้ายๆ ทำนองเพลง ABC ที่เด็กๆ ร้องได้ทุกคน (จริงหรือไม่ลองเทียบดู) ต่อมาในปี 2482 มีการเปลี่ยนชื่อ “สยาม” เป็น “ไทย” จึงต้องเปลี่ยนคำร้อง มีการจัดประกวด และได้เนื้อร้องชนะเลิศของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ที่เราร้องกันมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อก่อนนี้ วันปีใหม่ไทย คือ 1 เมษายน เพลงที่ร้อง คือ เพลงเถลิงศก ประพันธ์คำร้องโดยขุนวิจิตมาตรา ประพันธ์ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ (ผู้สูงวัยเกิน 60 น่าจะจำได้ เนื้อร้องดีงามมาก) “วันที่หนึ่ง เมษายน ตั้งต้นปีใหม่ แสงตะวันพร่างพรายใส สว่างแจ่มจ้า เสียงระฆังหง่างเหง่งก้องร้อง ท้าทายมา ไตรรงค์ร่า ระเริงปลิว พลิ้วพลิ้วเล่นลม (สร้อย) ยิ้มเถิดยิ้มเถิด นะยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส สุขสำราญบานใจ ขอให้สวัสดี ยิ้มเถิด ยิ้มเถิด นะยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส สุขสำราญบานใจ ขอให้สวัสดี สิ่งใดแล้ว ให้แล้วไปไม่ต้องนำพา สิ่งผิดมาให้อภัย พาใจผ่องแผ้ว สิ่งร้าวราน ประสานใหม่ ให้หายเป็นแนว สิ่งใดแคล้ว มาสอดคล้อง ให้ต้องตามกัน (สร้อย) มาจับมือแสดงยินดี ในวันปีใหม่ มาทำใจให้เริ่มประเดิมปฐม มาเถอะมาพวกเรามา มาปล่อยอารมณ์ มาชื่นชม ยินดี วันปีใหม่เอย” เมื่อ “จอมพลป.” เปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย เปลี่ยนวันปีใหม่ จากวันที่ 1 เมษายน มาเป็น 1 มกราคม เพลงเถลิงศกจึง “หลุด” ไปอีกเพลง เพราะ “ประโยคแรก” ผู้คนลืมเลือนเพลงนี้ไป (ยังฟังได้ในยูทูบ) อย่างไรก็ดี ศิษย์เอกของพระเจนดุริยางค์ คือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน (สุนทราภรณ์) ได้สืบทอดคีตศิลป์วิญญาณเพลง โดยได้ประพันธ์เพลง “รื่นเริงเถลิงศก” ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ประพันธ์คำร้อง ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และ ชวลีย์ ช่วงวิทย์ บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี 2498 และอีกหลายคนหลายคณะต่อมา คือเพลงที่เราคุ้นหูได้ยินได้ฟังในช่วงสงกรานต์ทุกปี เนื้อร้องดีงามคล้ายกับเพลงเถลิงศกเดิม “วันนี้วันดีปีใหม่ ท้องฟ้าแจ่มใสพาใจสุขสันต์ ยิ้มให้กันในวันปีใหม่ โกรธเคืองเรื่องใดจงอภัยให้กันหมดสิ้นกันที ปีเก่า เรื่องทุกข์เรื่องเศร้าอย่าเขลาคิดมัน ตั้งต้นชีวิตกันใหม่ ให้มันสดใส สุกใหม่ทั่วกัน....” พระเจนดุริยางค์ เกิดที่กรุงเทพฯ เรียนที่อัสสัมชัญบางรัก เรียนดนตรีกับคุณพ่อและเรียนด้วยตนเอง ต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่สถาบันดนตรีเฟรดริค โชแปง ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เคยทำงานที่กรมศิลปากร เป็นศาสตราจารย์ด้านดนตรีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร พระเจนดุริยางค์ เป็นผู้มีคุณูปการต่อการดนตรีของไทย ได้บันทึกเพลงไทยเดิมด้วยโน้ตดนตรีสากล และเทียบเสียงให้ตรงกับเครื่องดนตรีไทยทุกชิ้น ทำให้เราได้ยินการบรรเลงดนตรีไทยและเทศ ด้วยเครื่องดนตรีไทยกับสากลในวงเล็กวงใหญ่มาจนถึงวันนี้อย่างไพเราะกลมกลืน พระเจนดุริยางค์ เกิดและเติบโตที่เมืองไทย มี “เลือดฝรั่ง” ครึ่งหนึ่ง ทำนองเพลงที่ออกมาอย่างเพลง “เถลิงศก” จึงมีกลิ่นนมเนยบ้าง คล้ายกับเพลง “คิดถึง” ที่แปลงมาจาก “Zigeunerweisen” ของ Sarasate ขณะที่เพลง “รื่นเริงเถลิงศก” ของสุนทราภรณ์ ผู้เป็นศิษย์เอกนั้น มาพร้อมกับกลิ่นรสหอมหวานน้ำตาลมะพร้าวอัมพวา พร้อมจังหวะที่เรียกให้เราลุกออกไปรำวง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผลงานของพระเจนดุริยางค์ด้อยค่าแต่ประการใด เช่นเดียวกับผลงานศิลปะอันยิ่งใหญ่งดงามทางด้านประติมากรรมของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ชาวอิตาเลียนจากเมืองฟลอเรนซ์ คนบ้านเดียวกับเลโอนาร์โด ดาวินชี มิเกลันเจโล งานด้านผ้าไหมของจิม ทอมป์สัน ชาวอเมริกัน และเลอา ดิงยัน ชาวดัตช์ ด้านดนตรีของบรู๊ซ แกสตัน ชาวอเมริกัน ซึ่งล้วนเป็นศิลปกรรมที่ผสมผสานสีสันตะวันตกกับไทยได้อย่างกลมกลืน เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน คุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส เจ้าอาวาสวัดท่าแร่ สกลนคร ชุมชนคาทอลิกใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากการจัดผังหมู่บ้านให้เป็นระเบียบแบบตะวันตก ถนนซอกซอยเป็นตราหมากรุก ก่อตั้งโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ ยังได้ได้ริเริ่มนำเครื่องดนตรีไทยเข้าไปเล่นในโบสถ์ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าที่สุดในโลกของศาสนจักรคาทอลิกก็ว่าได้ เพราะจนถึง “สังคายนาวาติกันที่สอง” (1963-1965) โดยหลักแล้ว มีแต่ออร์แกนเท่านั้นที่เล่นได้ในโบสถ์ ในฐานะเครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ที่เล่นเพลงศักดิ์สิทธิ์ (sacred music) วงดนตรีไทยที่ “เข้าวัด” ในยุคนั้นมี แคน ซอ ขลุ่ย ขิม ออร์แกนถีบ ซึ่งเล่นโดยชาวบ้าน ที่ได้ฝึกฝนจากครูที่ได้เรียนรู้มาจากภาคกลาง บรรเลงเพลง “มหาฤกษ์มหาชัย” และอีกหลายแพลงในวันฉลองสำคัญ อย่างคริสต์มาส ปาสกา และวันฉลองวัด ทำให้พิธีกรรมมีบรรยากาศอลังการ ปลุก “วิญญาณสัมผัสศรัทธา” ของคนท้องถิ่น ที่ไม่ได้ “สะดุดใจ” ในการนำเครื่องดนตรี “นอกศาสนา” (profane) มาเล่นในโบสถ์ เพราะดื่มด่ำกับความไพเราะของเสียงดนตรีที่ยังติดตรึงใจและแว่วในหู “ผู้เขียน” มาจนถึงวันนี้ แรงบันดาลใจที่ทำให้เรียนเล่นดนตรีทั้งไทยและสากล วันที่ 26 พฤษภาคมนี้ วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ของดร.สุกรี เจริญสุข จะไปบรรเลงเพลงคลาสสิกและเพลงโบสถ์ไทยในอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ที่ท่าแร่ ดนตรี คือเสียงเลียนแบบธรรมชาติ ที่ประสานลงตัว เหนือพรมแดน เชื้อชาติ ศาสนา และกาลเวลา