ทวี สุรฤทธิกุล การเมืองใหญ่ของประเทศครอบงำการเมืองท้องถิ่นในทุกระดับ และนี่คือตัวแปรสำคัญ ถ้าจะว่าไปแล้ว ตั้งแต่ที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง “มหา 5 ขัน” ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใน พ.ศ. 2528 นั้น ส่วนสำคัญที่ทำให้มหาจำลองได้รับชัยชนะก็คือ ความเบื่อหน่ายของผู้คนที่มีต่อนักการเมืองในรูปแบบเก่า ๆ นั่นก็คือนักการเมืองในสภาที่มีแต่ภาพลักษณ์ไม่ค่อยดี การที่มีคนอย่างมหาจำลองลงมาเล่นการเมืองจึงเป็นทั้ง “ความแปลกใหม่” และ “ความคาดหวัง” ที่คนกรุงเทพฯนำมารวมกัน แล้วตัดสินใจเลือกพลตรีจำลองด้วยคะแนนท่วมท้นในที่สุด รวมถึงที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกเป็นสมัยที่ 2 ใน พ.ศ. 2533 โดยได้คะแนนเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวจากครั้งก่อน (พ.ศ. 2528 ได้ 408,233 คะแนน พ.ศ. 2533 ได้ 703,672 คะแนน) ก็เพราะการเมืองในสภายังปั่นป่วนวุ่นวาย รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณในสมัยนั้นมีการโกงกินกันมากมาย จนถูกเรียกว่า “บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ต” (ที่ในปีต่อมาก็ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ - รสช. ทำรัฐประหารและยึดทรัพย์) ทำให้คนกรุงเทพฯ ที่มักจะเป็นผู้ตั้งประเด็นในการตัดสินใจทางการเมืองให้กับคนในประเทศ ยังคงตั้งประเด็นที่จะเลือก “คนดี” เข้าไปเป็นนักการเมืองตามอุดมคติของพวกเขา ซึ่งก็มีแต่มหาจำลองเท่านั้นที่เป็นทางเลือกที่ตรงสเป็คของคนกรุงเทพฯ ต่อมาใน พ.ศ. 2535 มหาจำลองที่ตอนนี้ได้ตั้งพรรคการเมือง ชื่อ “พลังธรรม” ขึ้นมาลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ส.ส. ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 ก็ได้อาศัย “ความเป็นคนดี” นำทัพ เอาชนะใจคนกรุงเทพฯจนได้ ส.ส.เข้ามามากที่สุดถึง 32 คน (กรุงเทพฯ ในปี 2535 มี ส.ส.ได้ 35 คน มีเพียงนายสมัคร สุนทรเวช กับนางลลิตา ฤกษ์สำราญ จากพรรคประชากรไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ เท่านั้นที่สอดแทรกเข้ามาได้) แต่หลังเลือกตั้งพอเปิดสภาได้ไม่นาน ในวันที่ 5 เมษายน ที่มีการตั้งพลเอกสุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรสช.เป็นนายกรัฐมนตรี มหาจำลองก็ได้อดอาหาร นำประชาชนประท้วงการสืบทอดอำนาจของ รสช. ที่ได้อาศัยพรรคสามัคคีธรรมซึ่งตั้งขึ้นมาจากการรรวบรวม ส.ส.กเฬวรากจำนวนมาก ขึ้นมาหนุนนายทหารคณะนั้น การอดอาหารของมหาจำลองได้นำมาซึ่งการจลาจลในเดือนพฤษภาคม 2535 เพราะคณะ รสช.ได้เข้าสจับกุมมหาจำลอง ในวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ได้ย้ายสถานที่อดอาหารจากหน้ารัฐสภา ไปที่สนามหลวง และสุดท้ายมาถนนราชดำเนินรอบ ๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมาถูกล้อมจับที่นั่น ทำให้ประชาชนลุกฮือเข้าเผาสถานที่ราชการรอบ ๆ บริเวณนั้น และมีการประทะกันของกลุ่มประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารอยู่ถึง 5 วัน จนในวันที่ 22 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ให้มหาจำลองกับพลเอกสุจินดามาเข้าเฝ้า แล้วเหตุการณ์ก็สงบลง หลังเหตุการณ์จลาจลจบลงแล้ว รัฐสภาก็ได้ตั้งให้นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงเดือนกันยายน 2535 ก็มีการเลือกตั้ง ส.ส.อีกครั้ง โดยมหาจำลองยังคงนำทัพพรรคพลังธรรม ลงรับสมัครเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ได้ ส.ส.เพิ่มมาเพียงเล็กน้อย (41 ที่นั่งในเดือนมีนาคม และ 47 ที่นั่งในเดือนกันยายน) และจำนวน ส.ส.ที่ได้ในกรุงเทพฯก็ลดลง (จาก 32 คน เหลือแค่ 24 คน) แต่ว่าพรรคพลังธรรมก็ได้เข้าร่วมรัฐบาล แต่ก็มีผลงานไม่ดีนัก เนื่องจากเป็นพรรคขนาดกลาง จึงถูกพรรคขนาดใหญ่ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดยนายชวนหลีกภัย ในฐานะนายกรัฐมนตรี กับพรรคความหวังใหม่ ที่นำโดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ข่มรัศมีเสียหมด ผลงานของพรรคพลังธรรมจึงไม่ค่อยจะเข้าตาประชาชนเท่าใด จนกระทั่งได้มีความขัดแย้งในรัฐบาลในปี 2538 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีบางคนของรัฐบาลที่ครอบคอรงที่ดิน สปก. ทำให้มหาจำลองต้องยกพรรคพลังธรรมออกมาจากรัฐบาล จนนายชวนต้องประกาศยุบสภาในวันที่ 19 พฤษภาคม แล้วมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม ปีเดียวกันนั้น โดยมหาจำลองไม่ได้ลงเลือกตั้ง รวมทั้งได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังธรรม โดยให้พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคแทน (มีข่าวในครั้งนั้นว่าพรรคพลังธรรมได้ “ถูกเซ้ง” เสียแล้ว) ซึ่งผลการเลือกตั้งทำให้พรรคพลังธรรมได้ ส.ส.มาแค่ 23 คน ซึ่งก็น่าจะเป็นด้วยการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพรรคพลังธรรม จากพรรค “กระยาจก” มาเป็นพรรค “นายทุน” นั่นเอง เมื่อออกมาจากการเมืองเวทีใหญ่แล้ว มหาจำลองก็คงจะยัง “ติดใจ” แสงสีทางการเมืองนั้นอยู่บ้าง เพราะได้หวนคืนมาลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใน พ.ศ. 2539 นั้นด้วย แต่ก็คงเป็นด้วยภาพลักษณ์ “เละ ๆ” ของพรรคพลังธรรมในตอนเลือกตั้งปี 2538 ที่ไม่มีมหาจำลองเป็น “แม่ย่ายาง” ให้แล้ว อันแสดงถึงความท้อถอยของมหาจำลอง แล้วหวนคิดจะมากินบุญเก่าในการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้คนกรุงเทพฯต้องชั่งใจเสียใหม่ โดยเปรียบเทียบกับนายพิจิตต รัตตกุล ที่ดูจะมีความมุ่งมั่นมาอย่างอดทนมากกว่าพร้อมกับความตั้งใจจริงที่ได้ทำงานในการดูแลคนกรุงเทพฯมาโดยตลอด แม้จะไม่ได้เป็นผู้ว่าในการเลือกตั้งครั้งก่อนนั้น รวมถึงที่นายพิจิตตเองก็เหมือนจะรู้ตัวดีว่า ถ้าลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ที่ตนเองก็มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่ ก็คงจะไม่ถูกใจคนกรุงเทพฯ จึงตัดสินใจลงสมัครในนามอิสระ จนได้รับชัยชนะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นายพิจิตตก็ได้เป็นผู้ว่าฯกรุงเทพฯเพียงสมัยเดียว เพราะต่อมาในการเลือกตั้งปี 2543 นายพิจิตตก็ไม่ได้ลงมาสมัครรับเลือกตั้งอีก คงเพราะอาจจะคำนวณแล้วว่าการเมืองในกรุงเทพฯกำลัง “เปลี่ยนไป” หลังจากที่ได้เห็นจำนวนคนที่สนใจมาลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนั้นมีจำนวนมากเหลือเกิน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีคนดังคนเด่นมาลงสมัครด้วยอีกหลายคน เช่น นายสมัคร สุนทรเวช นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นางปวีณา หงสกุล นายธวัชชัย สัจจกุล และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นต้น ที่น่าจะเป็นสัญญาณว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องเป็นไปอย่างรุนแรง รวมถึงที่นายพิจิตตอาจจะคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ส่งคนมาลงตัดคะแนนตนเองอีกถึง 2 คน คือทั้งคุณหญิงกัลยาที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ลงสมัครในนามกลุ่มกรุงเทพสดใส ร่วมกับนายธวัชชัยที่ได้สวมเสื้อของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นทางการ จึงอาจจะทำให้นายพิจิตตไม่มั่นใจว่าจะได้คะแนนพอที่จะเป็นผู้ว่าฯกรุงเทพฯอีกครั้งก็เป็นได้ จึงไม่ลงสมัครอีกดังกล่าว การเลือกตั้งในปี 2543 นั้น นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น รวมถึงได้เปลี่ยนชีวิตของนายสมัครให้มา “เกิดใหม่” โดยพาไปสู่เส้นทางการเป็นนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ. 2551 อันแสดงถึงพลังของการเมืองระดับชาติที่เข้ามีอิทธิพลต่อการเมืองท้องถิ่นได้อย่างชัดเจนนั้นด้วย