ทวี สุรฤทธิกุล คนกรุงเทพฯอาจจะเดาใจยาก แต่ก็เข้าใจง่ายเมื่อพวกเขาจะเลือกใคร นั่นเป็นเพราะอะไร? สิ่งที่คนกรุงเทพฯใช้ในการตัดสินใจทางการเมือง(ระยะหลังก็รวมถึงการเมืองในระดับประเทศด้วย)นั่นก็คือ “อารมณ์” ที่ผู้เขียนเคยอ่านพบในตำราฝรั่ง ซึ่งเขาเรียกว่า Emotional Politics หรือ “การเมืองเชิงอารมณ์” โดยมี 2 อารมณ์หลัก คือ อารมณ์รักกับอารมณ์เกลียด ซึ่งแต่ละอารมณ์ก็จะมีลำดับขั้นตามความหนักเบาของแต่ละอารมณ์นั้น นั่นก็คือ รักแค่สนใจ รักด้วยความเอาใจใส่ จนถึงรักอย่างหลงใหลคลั่งไคล้ ทำนองเดียวกัน ความเกลียดก็มีตั้งแต่ ไม่อยากสนใจ รังเกียจและโจมตี จนถึงอาฆาตเคียดแค้น ตอนที่คนกรุงเทพฯเลือกพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี 2528 เพียงแค่คู่แข่งคือนายชนะ รุ่งแสง จากพรรคประชาธิปัตย์ (ซึ่งที่จริงมีคะแนนนำมหาจำลองมาตั้งแต่ต้น) พูดออกมาว่า มหาจำลองนั้นเป็นแค่ “สินค้าแบกะดิน” ก็ได้ไปกระตุก “ต่อมอารมณ์” ของคนกรุงเทพฯเข้าอย่างแรง จนอารมณ์ที่เคยแค่มองว่ามหาจำลองเป็นคนแปลก ๆ หรือรักด้วยความน่าสนใจ ได้กลายเป็นความสงสาร หรือรักอย่างเอาใจใส่ อยากเข้าไปช่วยเหลือ (ภาษาคนเล่นการพนันบอกว่า คนไทยชอบมวยที่เป็นรอง) ที่สุดก็ได้กลายเป็นกระแสความคลั่งไคล้ ทำให้ได้รับคะแนนอย่างท่วมท้น ส่วนนายชนะเมื่อพลาดผิดที่พูดคำ “ด้อยค่า” นั้นออกไป คนกรุงเทพฯที่ส่วนใหญ่เคยเลือกหรือรักพรรคประชาธิปัตย์ ก็เปลี่ยนอารมณ์เข้าสู่โหมดเกลียดชัง และก็ยกระดับขึ้นเป็นการหันไปเป็นศัตรู ที่สุดผู้คนก็เกิดความเคียดแค้นชิงชัง โจมตีนายชนะและพรรคประชาธิปัตย์ว่า ทำไมจึงเล่นการเมืองแบบน่ารังเกียจอย่างนั้น อันนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ของนายชนะดังกล่าว เช่นเดียวกันกับชัยชนะของนายพิจิตต รัตตกุล ในปี 2539 ก็เป็นด้วย “ความสงสาร” ที่เริ่มจากความตั้งใจจริงของนายพิจิตต ที่พยายามลงเลือกตั้งมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2535 แม้เขาจะแพ้แต่ก็ยังทำงานสาธารณะและรณรงค์เรื่องมลพิษให้กับคนกรุงเทพฯมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มหาจำลอง ที่ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯไปลงเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในปี 2535 แล้วกลับมาลงเลือกตั้งขอเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกครั้งในปี 2539 ด้วยนั้น แม้คนกรุงเทพฯจะไม่ได้มีอารมณ์เกลียดมหาจำลองมากมายนัก แต่ด้วยการที่มหาจำลองได้ออกไปเล่นการเมืองระดับชาติ และก็ได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางความเละเทะของการเมืองใหญ่ พอไม่ประสบความสำเร็จก็หวนคืนมาบริหารกรุงเทพฯ ทำให้คนกรุงเทพฯหลายคนเกิดความสงสัยว่ามหาจำลอง “จะเอาอะไรกันแน่” จนกระทั่งคิดไปว่าน่าจะยังมีผลประโยชน์อะไรให้ได้ “แสวงหา” อยู่ด้วยหรือไม่ ทำให้บางคนเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และบางคนก็เริ่มเบื่อหน่าย ซึ่งเป็นลำดับขั้นแรกของอารมณ์เกลียดชัง จากนั้นก็พัฒนากลายไปเป็นการคุ้ยหาจุดอ่อนต่าง ๆ มาโจมตี กระทั่งบางคนก็ถึงกับโกรธแค้นและไม่เลือกมหาจำลองในที่สุด ทว่าพอมาถึงการเลือกตั้งในปี 2543 ที่นายพิจิตตไม่ได้ลงเลือกตั้งอีก(ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่ได้วิเคราะห์มาในสัปดาห์ก่อน) โดยมีความน่าตื่นเต้นว่าผู้สมัครแต่ละคนล้วนแต่เป็นคนใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะนายสมัคร สุนทรเวช ที่จะว่าไปแล้วเขาใหญ่เกินกว่าที่จะลดตัวลงมาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพราะเคยเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้นเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยตรง ดังนั้นการลดตัวลงมาของนายสมัครเพื่อขอรับเลือกตั้งเป็นแค่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงมีคนตั้งข้อสงสัยและวิเคราะห์กันไปมากมาย ผู้เขียนตอนนั้นเป็นรองคณบดีของสาขาวิชารัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ขอทุนจากโครงการวิทยาลัยการเมืองของมหาวิทยาลัย มาทำ “มินิรีเสิร์ช” หรือ “งานวิจัยเล็ก ๆ” เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะหาคำตอบถึงปัจจัยที่คนกรุงเทพฯจะเลือกผู้สมัครแต่ละคน โดยได้ค้นพบคำตอบจากแบบสอบถามที่สำรวจจากลูกศิษย์ของมหาวิทยาลัยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนั้น จำนวนราว 500 กว่าคน (แต่มีผู้ตอบแบบสอบถามอย่างสมบูรณ์เพียง 300 คนเศษ) ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีผู้ให้ข้อมูลจำนวนไม่มาก แต่ด้วยระบบการคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลอย่างเจาะจง ทำให้ข้อมูลที่ได้ค่อนข้างจะเป็นข้อมูลที่ตอบออกมาจากความรู้สึกจริง ๆ ของผู้ให้ข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งทำให้ผลการวิจัยออกมาค่อนข้างใกล้เคียงกับผลของการเลือกตั้ง ตอนแรกผู้เขียนก็ไม่เชื่อว่านายสมัครจะเป็นผู้ชนะ เพราะผู้เขียนใช้ทฤษฎี “รักหรือเกลียด” ตามตำราฝรั่งที่อธิบายมาข้างต้นนั้น โดยมีความเชื่อส่วนตัวว่าน่าจะมีคนเกลียดนายสมัครมากกว่าคนที่รักนายสมัคร เพราะช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ออกมาใช้แล้ว โดยความสำเร็จของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากพื้นฐานการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ประชาชนอยากให้มีการปฏิรูปการเมือง โดยปัญหาหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนั้นตั้งหลักการไว้ก็คือ สร้างการเมืองใหม่ที่ใสสะอาด ส่งเสริมให้คนดีเข้ามาสู่การเมือง และกำจัดหรือป้องกันคนไม่ดีให้พ้นไปเสียจากระบบการเมือง ผู้เขียนจึงเชื่อว่าพลังนี้น่าจะยังมีอยู่มากในตอนนั้น โดยที่นายสมัครก็ได้ชื่อว่าเป็น “นักการเมืองที่อื้อฉาว” มาตั้งแต่ครั้งที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลยุคคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ใน พ.ศ. 2519 นั้นแล้ว ซึ่งรัฐบาลชุดนั้นที่ปกครองด้วยเผด็จการทหาร และเป็นยุคที่มีปัญหากับสังคมไทยในหลาย ๆ เรื่อง เพราะได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลขวาจัดและปราบปรามพวกฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรง แม้ว่าต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งนายสมัครจะได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.มาในทุกครั้ง แต่ก็มีการวิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะ “พลังอนุรักษนิยม” ยังแข็งแกร่งในสังคมคนกรุงเทพฯบางส่วน และคนกลุ่มนี้มักจะ “เกาะกลุ่มกันตัดสินใจ” โดย “ปักใจ” ในการเลือกผู้แทนราษฎรของเขาไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ในขณะที่พลังก้าวหน้าและคนที่มีความคิดใหม่ ๆ หรือคนรุ่นใหม่ พวกนี้แม้จะมีจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้จับกันเป็นกลุ่มก้อน และมักจะยึดอิสระทางความคิด ทำให้เวลาลงคะแนนนั้นมีการกระจายตัวไปให้ผู้สมัครต่าง ๆ หลาย ๆ คน จนต้องพ่ายแพ้แก่พลังอนุรักษนิยมดังกล่าว นายสมัครนี้เป็นคนที่พังทฤษฎี “อารมณ์รักหรือเกลียดชัง” โดยสิ้นเชิง แต่ได้สร้างอารมณ์ใหม่แก่สังคมไทย นั่นก็คือ “อารมณ์หมั่นไส้” ที่น่าจะเกิดขึ้นที่ประเทศไทยนี้เป็นแห่งแรก