เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit ไม่มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนไหนที่อยากเห็นเมืองหลวงแห่งนี้เล็กลง มีแต่เสนอกรุงเทพฯ น่าอยู่ สะดวกสบาย น้ำไม่ท่วม รถไม่ติด คนมีงานทำ อย่างนี้คนต่างจังหวัดก็หลั่งไหลเข้ากรุง เพราะที่นี่เป็นศูนย์รวมของทุกสิ่ง มีแต่จะใหญ่โตขึ้น เป็นอภิมหานคร รัฐทุ่มงบประมาณพัฒนากรุงเทพฯ รถไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐาน เป็นล้านล้าน อาจจะมากกว่างบพัฒนาทุกจังหวัดรวมกัน ก็คงอ้างว่า กรุงเทพฯ คือแหล่งรายได้สำคัญและมากที่สุดของประเทศ แต่วิกฤติทุกครั้ง ตั้งแต่ต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ ถึงโควิดและสงครามยูเครนแสดงให้เห็นว่า “ต่างจังหวัด” และ “ชนบท” คือทางรอดของคนส่วนใหญ่และประเทศ อย่างน้อยก็มีข้าวกิน ไม่อดตาย แต่รัฐบาลไหนมาก็ไม่เห็นพัฒนาชนบทและการเกษตร จาก “ทางรอด” ให้เป็น “ทางหลัก” และ “ทางออก” ของบ้านเมือง เห็นแต่ภาพฝัน นโยบายสวยงาม คำโตๆ อย่างเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน แต่ไม่เห็นผลจริงจังในทางปฏิบัติ กรุงเทพฯ ยังเป็นเป้าหมายของคนชนบท เพราะปัญหาการเกษตรเคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ปัญหาน้ำ ปัญหาไฟ ปัญหาที่ดิน ปัญหาปัจจัยการผลิตอย่างปุ๋ย พันธุ์ข้าวพันธุ์พืช สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เกษตรกรยังเวียนว่ายอยู่ในวงจรอุบาทว์ของหนี้สิน เป็นแค่แรงงานถูกๆ ที่ทำกำไรให้คนอื่นเท่านั้น ทำนาได้ข้าวไม่ถึงครึ่งตันต่อไร่อย่างไรก็ยังได้เท่านี้ ขณะที่เวียดนามได้มากกว่าไทยสองเท่า จีน ญี่ปุ่นสามสี่เท่า เพราะเขามีนโยบายชัดเจน และเจตจำนงทางการเมืองในการส่งเสริมการเกษตร เกษตรกรบ้านเราจึงพึ่งรัฐพึ่งหลวงไม่ได้ พึ่งนักการเมืองก็ไม่ได้ ต้องพึ่งเทวดา พึ่งพ่อค้านายทุน พึ่งความเมตตาและความเห็นใจจากสังคม เสี่ยงตายเอาข้าวไปตากบนถนน หรือไม่ก็ต้องขายข้าวแบบถูกกดราคาจากพ่อค้าที่บอกว่ามีความชื้น ต้องซื้อปุ๋ยยาราคาแพง เพราะการส่งเสริมการทำปุ๋ยอินทรีย์ ไม่มีความมุ่งมั่นจากหน่วยงานรัฐ หลายแห่ง เจ้าหน้าที่รัฐและสถาบันการเงินรัฐยัง “ช่วยขาย” ปุ๋ยยาเคมีด้วย ประเทศที่ผลผลิตข้าวและการเกษตรดีกว่าไทยเขาแก้ปัญหากระบวนการผลิตให้เกษตรกรได้ครบวงจร อย่างนโยบาย “สามสูงสามต่ำ” ของเวียดนาม ที่สร้างระบบชลประทานเกือบทั้งประเทศ ถ้ารัฐไทยมีเจตจำนงทางการเมืองจริง ต้องพัฒนาระบบชลประทานให้เกษตรกรมีน้ำอย่างพอเพียง การไฟฟ้าตอบสนองความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการไฟในการผลิต การสูบน้ำ การอบแห้งพืชผล เหล่านี้เป็นต้นทุนการผลิตที่แพง กระบวนการที่ใช้ทั้งพลังงานหมุนเวียนอย่างแสงแดดและไฟฟ้า เครื่องอบขนาดต่างๆ โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น รวมไปถึงลานตาก ที่จัดให้มีพื้นที่รวมก็ได้ ทางอบต. เทศบาล จัดช่วยจัดการจัดหาให้ ไปจนถึงโรงสีชุมชน ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการพิเศษของรัฐจัดหาให้ แต่หลายแห่งก็ทิ้งร้างไป เพราะเป็นกลไกที่ไม่มีวงจรการผลิต การแปรรูป การตลาดรองรับ ที่สุดก็ต้องขนข้าวไปขายให้พ่อค้า เพราะเป็นหนี้เขา ทำนากันแบบ “ตกเขียว” ไม่มีแรงไปต่อรองกับนายทุน การส่งเสริมการเกษตรที่ครบวงจรของพรรคการเมืองจึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่ไม่เห็นพรรคไหนมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน มีแผนงาน โครงการที่จะพัฒนาเกษตรกรรมให้ดีกว่านี้ ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรม กระทรวงเกษตรแทนที่จะเป็น “แดนสนทยา” ควรเป็น “แดนรุ่งอรุณ” ส่งเสริมการเกษตรที่ “ปลดปล่อย” เกษตรกรจากวงจรอุบาทว์ของการผลิต ที่พึ่งตนเองไม่ได้ในเรื่องปัจจัยการผลิต โดยมีจัดการให้มี “งบประมาณ” และแผนงานในการสร้างคน สร้างความรู้ และสร้างระบบ การจัดการฝึกอบรม การเรียนรู้โดยโรงเรียนชาวนาทำอย่างไรให้ได้ผลจริง และต้องระดมทุกฝ่ายร่วมกัน ไม่ใช่ให้เพียงเจ้าหน้าที่การเกษตร กรมที่ดิน ธกส. แยกกันทำ ไม่มีการ “บูรณาการ” แผนการจัดการเรียนรู้ ไม่มีการสร้างฐานข้อมูล เพื่อสร้างความรู้ จากข้อมูลศักยภาพ ทรัพยากร และปัญหาของเกษตรกร ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ชาวบ้านก็ต้องพึ่งล้งจีน พ่อค้านายทุนคนกลางทั้งไทยและเทศ ระบบการผลิต การแปรรูป การตลาดขึ้นอยู่กับรัฐและพ่อค้า นอกจากพืชเศรษฐกิจใหญ่อย่างข้าว ยาง มัน ปาล์ม และอื่นๆ ที่รัฐและพ่อค้ากุมอำนาจการตลาด ผลผลิตอื่นๆ ทางการเกษตรก็เช่นกัน มีแต่ระบบเศรษฐกิจใหญ่ ไม่มีระบบเศรษฐกิจชุมชน เราเห็นรัฐจัดฉากนำมะม่วงที่ล้นตลาดจากภาคกลาง ภาคเหนือไปขายราคาถูกที่ภาคใต้ เอาลำใยไปแลกผลผลิตอื่นในหน้าลำใยออกมาราคาตก ทำกันเป็นพักๆ เป็นเรื่องๆ อย่างๆ แบบ “หาเสียง” ไม่ได้มีระบบอะไร ทั้งๆ ที่ข้อมูล กลไก ไอทีโมเดิร์นเทรดที่น่าจะนำมาใช้เพื่อสร้างกลไกในการระบายผลผลิตทางการเกษตรจากแหล่งผลิตไปยังผู้บริโภค กระจายจากที่มีมากไปยังที่มีน้อยหรือขาดแคลน เห็นมีแต่แอพการขายตรงจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค แต่ไม่เห็นการรวมกลุ่ม รวมผลผลิต และกระจายไปตามร้านค้าชุมชน ตลาดชุมชน เพราะวิสาหกิจชุมชนที่มีหลายหมื่นแห่งก็ไม่ได้มีพลังอะไร รอการส่งเสริมจากรัฐ ก็ไม่ได้มีนโยบายและเจตจำนงทางการเมืองในเรื่องการรวมกลุ่มเกษตรกร มีสถาบันการศึกษา ตั้งแต่ประถมมัธยมไปถึงอุดม ที่มีการริเริ่มร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาและแก้ปัญหาการเกษตร ลองเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง อย่างโรงเรียนที่อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่เห็นใน “นักข่าวพลเมือง” ของไทยพีบีเอส ที่กลายเป็น “ศูนย์เรียนรู้และพัฒนา” การปลูกผัก ทำการเกษตร การตลาด ให้ชุมชน ให้ชาวบ้านเก่งๆ เป็นครูสอนคนอื่นด้วย สร้างงานและรายได้ให้คนไม่มีที่ดิน ไม่มีงานทำ ถ้ามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ผนึกพลัง กับโรงเรียน กับอบต. เทศบาล ที่มีศักยภาพ มีเจตจำนงทางการเมือง สร้าง “คน-ความรู้-ระบบ” วิจัยและพัฒนา ใช้ไอทีสร้างแพลตฟอร์ม สร้างแอป เครือข่ายการเรียนรู้และการพัฒนา การตลาด กาฬสินธุ์จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาแบบบูรณาการ การผนึกพลัง (synergy) ที่ดีได้ กาฬสินธุ์มีผู้นำท้องถิ่นเก่งๆ มากมาย อาจจะยังขาด “ตัวเชื่อม” (catalyst) ที่มาเร่งปฏิกิริยา เท่านั้น ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวกาฬสินธุ์ สืบทอดวิญญาณเสรีไทย ที่มีฐานใหญ่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์