ทวี สุรฤทธิกุล บางคนเชื่อว่าพวก New Voters คือผู้ที่จะพลิกกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เที่ยวนี้ ผู้เขียนไม่ค่อยเชื่อตามกระแสในลักษณะดังกล่าวมากนัก ด้วยเหตุผลที่ว่าพวก New Voters หรือ First Time Voters ที่หมายถึงคนที่เพิ่งจะได้สิทธิมีอายุถึงเกณฑ์ที่จะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรก ไม่ใช่คนที่จะเดาใจอะไรได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะในบรรยากาศทางการเมืองที่มีความขัดแย้งกันค่อนข้างมากนี้ ตามตัวเลขของกระทรวงมหาดไทยได้แยกจำนวนของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามกลุ่มอายุ ซึ่งในครั้งนี้มีจำนวนผู้มีสิทธิทั้งสิ้น 4,481,068 คน ไว้เป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้ (ในวงเล็บคือเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิทั้งหมด) อายุ 18-27 ปี (First Time Voters) 697,348 คน (15.55 %) อายุ 28-40 ปี 1,012,386 คน (22.59 %) อายุ 41-50 ปี 870,437 คน (19.42 %) อายุ 51-60 ปี 826,745 คน (18.43 %) อายุ 61-70 ปี 613,342 คน (13.70 %) อายุ 71-80 ปี 309,959 คน (6,92 %) อายุ 81-80 ปี 125,438 คน (2.79 %) อายุ 91-100 ปี 22,782 คน (0.51 %) อายุมากกว่า 100 ปี 2,631 คน (0,07 %) ตามตัวเลขนี้ ถ้าเราเทียบจำนวนผู้มีสิทธิให้มีจำนวน 100 คน พวก First Time Voters ก็จะมีแค่ 3 คน และตามสถิติการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. 2556 มีผู้มาใช้สิทธิราว 63 % ซึ่งเป็นจำนวนผู้มาใช้สิทธิที่มากที่สุดมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ นั่นก็คือ ถ้ามีผู้มีสิทธิ 10 คน ก็จะมีผู้มาใช้สิทธิแค่ 6 คนกว่า ๆ ตัดตัวเลขกลม ๆ ว่า 7 คน ก็จะเป็นผู้ที่ไม่มาใช้สิทธิ 3 คน นั่นก็แสดงว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าสถิติการเลือกตั้งยังมีจำนวนประมาณเท่าครั้งก่อนนี้ พวก First Time Voters ก็อาจจะมาใช้สิทธิแค่ 2 คน และ 2 คนนั้นก็ไม่น่าจะเลือกลงคะแนนให้ผู้สมัครคนเดียวกัน ตามทฤษฎีการเลือกลงคะแนนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ผู้เขียนได้นำเสนอมาตลอด ๆ หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่จะขอสรุปย้ำตรงนี้อีกทีว่า คนกรุงเทพฯแม้จะมีอารมณ์วูบวาบไปตามกระแสการเมือง คือเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจได้เสมอ แต่คนบางกลุ่มโดยเฉพาะคนที่ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมาพอสมควร(หมายถึงคนที่มีอายุผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ มาพอสมควรและเคยลงคะแนนเลือกตั้งมาหลายครั้ง) มักจะตัดสินใจที่ไม่ได้เป็นไปตามกระแส แต่จะตัดสินใจบนหลักของ “ความปลอดภัย” คือไม่เอาอนาคตของส่วนรวมไปเสี่ยงกับกระแสการเมืองใหม่ ๆ ซึ่งก็รวมหมายถึงคนที่เพิ่งจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงเป็นครั้งแรก ก็ไม่ได้มีการตัดสินใจที่เป็นเอกภาพ และบ่อยครั้งที่เลือกตามกระแสของคนรุ่นเก่าหรือผู้มากประสบการณ์ทางการเมืองนั้นด้วย นั่นก็คือหลาย ๆ คนก็เลือกตามพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่รายรอบ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของเขามากกว่าคนรุ่นใหม่ด้วยกันเอง ที่บางครั้งก็ยังถือว่าพวกนี้(นักการเมืองรุ่นใหม่ ๆ)ยังเป็นแค่ “คนแปลกหน้า” แม้บางคนจะมีชื่อเสียงโด่งดังระดับที่เป็น “ดาว” แต่ก็ยังเป็นแค่ “ดาวกะพริบ” ไม่ใช่ “ดาวค้างฟ้า” อย่างนักการเมืองที่มีชื่อเสียงมาก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากกว่า ดังนั้นถ้าเป็นไปตามทฤษฎีดังกล่าวนี้(ที่ผู้เขียนเชื่อถือ แต่ท่านผู้อื่นไม่จำเป็นจะต้องเชื่อเหมือนผู้เขียนก็ได้) ร่วมกับสถิติผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่คาดการณ์ว่าก็น่าจะมีอยู่ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จากจำนวนผู้มีสิทธิราว 4 ล้าน 5 แสนคนนี้ ก็จะมีผู้ไปใช้สิทธิราว 3 ล้านคน ตามสัดส่วนนี้พวก First Time Voters ที่มีอยู่ประมาณ 7 แสนคน ก็อาจจะไปเลือกตั้งประมาณ 4 แสน ถึง 4 แสน 5 หมื่นคน และถ้าการตัดสินใจเลือกแบ่งแยกออกเป็น 2 ขั้ว คือขั้วหนึ่งเลือกตามกระแสการเมืองปัจจุบันที่เบื่อรัฐบาลและต้องการอยากจะได้คนรุ่นใหม่ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล กับอีกขั้วที่ยังเลือกตามคนรอบข้างหรือเล่นการเมืองในแนว “ปลอดภัย” ซึ่งก็น่าจะเลือกฝ่ายที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ที่ผู้เขียนเชื่อว่ามีจำนวนของแต่ละขั้วใกล้เคียงกัน ดังนั้นก็จะมีการเทคะแนนได้แค่ 2 แสนคะแนนเศษ ๆ เท่านั้น จึงไม่น่าที่จะเป็นพลังที่จะ “พลิกกระแส” หรือเปลี่ยนผลการเลือกตั้งไปตามกระแสที่กำลังเชื่อว่า “มาแรง” ซึ่งก็คือกระแสที่จะล้มรัฐบาลนั้นได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมาดูกลุ่มผู้มีสิทธิ ในกลุ่มอายุอีก 2 กลุ่มถัดไป คือ กลุ่มอายุ 28 ถึง 40 ปี กับกลุ่มอายุ 41 - 50 ปี ซึ่งตามทฤษฎีของผู้เขียนมองว่านี่คือกลุ่มที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมากพอสมควรและน่าจะเป็นกลุ่มที่มีพลังทางการเมืองมากที่สุดอีกด้วย ก็จะมีจำนวนอยู่ถึง 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ และกลุ่มคนพวกนี้นี่เองที่กำลังเบื่อหน่ายรัฐบาลเป็นที่สุด เพราะถ้าจะพิจารณาถึง ส.ส.คนรุ่นใหม่ในสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ในฝ่ายค้าน ก็จะประกอบด้วยคนกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่ อันสะท้อนถึงเสียงของผูเมีสิทธิเลือกตั้งในอายุเท่า ส.ส.เหล่านี้ ก็น่าจะเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมที่กำลังเติบโตเข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่า ๆ (พวกอายุ 60 ปีขึ้นไป)นั้นอย่างแน่นอน และคนกลุ่มนี้กำลังต้องการ “พื้นที่” ในการแสดงบทบาททางการเมืองอย่างรุนแรง และเป็นไปได้ว่าคนกลุ่มนี้จะเลือกลงคะแนนให้กับฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะลงคะแนนกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนให้กับผู้สมัครในสีตรงข้ามกับรัฐบาลคนใดหรือไม่ ซึ่งก็มีข้อที่จะต้องพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ดังที่จะได้อธิบายในสัปดาห์หน้า กระนั้นเราก็ไม่ควรจะ “ด้อยค่า” กลุ่มผู้มีสิทธิที่เหลืออีก 5 กลุ่ม โดยเฉพาะใน 2 กลุ่มที่อยู่กลาง ๆ คือ กลุ่มอายุ 51 - 60 ปี กับกลุ่มอายุ 61 - 70 ปี ที่มีจำนวนรวมกันถึง 32 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 3 ของมีสิทธิทั้งหมด ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าสองกลุ่มนี้นี่แหละที่จะเป็น “ผู้พลิกผัน” ผลการเลือกตั้งอย่างแท้จริง อย่างที่เคยสร้างผลงานแบบนี้ไว้ในการเลือกพลตรีจำลอง ศรีเมือง ใน พ.ศ. 2528 และเลือกนายสมัคร สุนทรเวช ใน พ.ศ. 2543 ซึ่งหักปากกาเซียนการเมืองในทั้งสองครั้งนั้น สัปดาห์หน้าจะมาปิดชุดบทความนี้ว่า “แล้วคนกรุงเทพฯจะเลือกใคร” ซึ่งน่าจะมีผลออกมาได้ 2 - 3 แนวทาง และอาจจะพลิกผันได้อย่างไม่น่าเชื่ออีกครั้งเช่นกัน