เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit วิกฤติข้าวยากหมากแพงวันนี้รุนแรงอย่างยิ่ง ลำบากกันถ้วนหน้าจริงๆ จึงเกิดคำถามว่า ทำไมเราจึงรอให้เห็นโลงศพแล้วจึงหลั่งน้ำตา กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ คำถามถึงทุกคนที่เกี่ยวข้อง มากสุดคือรัฐบาล แต่ก็รวมไปถึงเราชาวบ้านชาวเมืองด้วย ที่ไม่ได้ช่วยกันถักทอตาข่ายความปลอดภัย กางไว้ไม่ให้คนพลาดหล่นลงมากระแทกพื้นบาดเจ็บหรือตาย จากการมีชีวิตบนความเสี่ยงเหมือนทำงานบนที่สูง หรือไต่เชือกแสดงกายกรรมในอากาศ โควิดและการรบสู้ที่ยูเครนส่งผลกระทบไปทั่วโลก ผลของโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างเชื่อมสัมพันธ์กันหมด การผลิต การบริโภค เรื่องพลังงาน อาหาร ปุ๋ย น้ำมันพืช จากรัสเซียและยูเครน น้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซียที่ห้ามส่งออก เมื่อห่วงโซ่อุปทานสะดุด ทุกอย่างก็ปั่นป่วนขึ้นราคา เงินเฟ้อทั่วโลกสูงแบบที่ไม่เคยมีมาหลายสิบปี เมืองไทยคงไม่มีแผนสองรองรับวิกฤติอย่างน้อยสองเรื่องใหญ่ คือ อาหารและพลังงาน ซึ่งสัมพันธ์กัน ยังพึ่งการนำเข้าน้ำมันและก๊าซ แผนพลังงาน “สำรอง” อย่างพอเพียงในยามวิกฤติคงไม่มี เพราะถ้ามี ทุกอย่างคงไม่ขึ้นราคารุนแรงอย่างวันนี้ นอกจากน้ำมันและก๊าซ เรายังมีพลังงานทางเลือกหลากหลาย ไม่ว่าสายลม แสงแดด น้ำ ปาล์ม อ้อย หญ้า ไผ่ มัน ข้าวโพด และยางนากับไม้หลายชนิดที่ให้น้ำมัน ก็ไม่เห็นว่ามีแผน มียุทธศาสตร์อะไร ไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ 138 ล้านไร่ ปลูกข้าวครึ่งหนึ่ง ถ้ามีการพัฒนาการปลูกข้าว ลดการทำนาลงครึ่งหนึ่ง ก็จะมีที่ดินอย่างน้อย 30 ล้านไร่ บวกกับพื้นที่อื่นๆ อีก 30 ล้านไร่ เพื่อปลูกพืชพลังงาน อาหารสัตว์ วัตถุดิบที่ยังต้องนำเข้าในปริมาณที่สูง ไม่ว่าข้าวโพด ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง ที่น่าตกใจวันนี้ คือ การนำเข้าผักผลไม้จากจีน ซึ่งราคาถูกกว่า เพราะการผลิตของจีนที่มีประสิทธิภาพ ผลผลิตต่อไร่ได้มากกว่าเราสองสามเท่า เราจึงสู้ราคาเขาไม่ได้ ขณะที่ผลไม้ที่เขาผลิตไม่ได้ เขาก็เข้ามา “จัดการ” ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การเก็บ การขนส่ง อย่างกล้วย ลำไย ทุเรียน มังคุด และตั้งราคาเองด้วย สถานการณ์เช่นนี้น่ากลัวว่า การเกษตรไทยอาจจะรอวันตาย เพราะไม่พัฒนา ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนดีพอ ทั้งๆ ที่หน่วยงานราชการมากมายวิ่งรอกเข้าออกหมู่บ้าน ไม่รู้ไปส่งเสริมกันแบบไหน ขณะที่จีนและประเทศที่พัฒนาและก้าวหน้า เขามีระบบเศรษฐกิจฐานความรู้และเทคโนโลยี มีงานวิจัยรองรับ และไปถึง 4.0 5.0 ไทยเรายังเป็นเศรษฐกิจฐานแรงงาน มีงานวิจัยน้อย มีเทคโนโลยีที่ล้าหลัง ทั้งๆ ที่เรามีศักยภาพสูงมาก ดูการริเริ่มของภาคเอกชน คนหนุ่มสาว สตาร์ทอัพ ที่เกิดจากการความพยายามของตนเอง ไม่ใช่การส่งเสริมของรัฐ ซึ่งในหลายกรณี แทนที่จะส่งเสริมสนับสนุน กลับเป็นปัญหาอุปสรรคด้วยซ้ำ เมืองไทยไม่ได้ขาดทรัพยากร ที่เป็นต้นทุนเพื่อการพัฒนาจนถึงระดับที่ “พึ่งพาตนเอง” ได้ ไม่ต้องทนทุกข์ยากลำบากเมื่อเกิดข้าวยากหมากแพง สิ่งที่ขาดแคลน คือ “วิญญาณประชาธิปไตย” เพราะที่เป็นอยู่เห็นแต่ “ร่าง” ไม่ต่างจาก “คนตายที่เดินได้” (dead man walking) ไม่ได้รังเกียจ “ทหาร” ที่เข้ามาทำงาน “การเมือง” เพราะทหารที่มีวิญญาณประชาธิปไตย ที่กอบกู้บ้านเมือง ที่ “ปฏิวัติ” ในความหมายที่ดีก็มีมากมาย อย่าง “นายพลคนดัง” เดอโกล, ไอเซนฮาว, เจียงไคเช็ค แต่ประวัติศาสตร์โลกก็มี “นายพลคนไม่ได้เรื่อง” มากมาย ที่นำชาติบ้านเมืองถอยหลังลงสู่หุบเหวหายนะ สังคมไทยยัง “ปกครอง” ด้วยอำนาจ ไม่ได้มีการ “บริหาร” แบบประชาธิปไตย ที่ถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของ เป็นหุ้นส่วน ที่ฝ่ายบริหารกับประชากรมีความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม เคารพให้เกียรติ ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบเจ้านายลูกน้อง ระบบอุปถัมภ์เหนียวแน่น เป็นรัฐราชการที่ใช้อำนาจกับเงินบริหารจัดการบ้านเมือง ประชาธิปไตยจึงเป็น “วาทกรรม” ที่ถูกนำมาใช้เป็นความชอบธรรมให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าสู่อำนาจ แล้วใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล แทนที่จะพัฒนา กลับฉุดบ้านเมืองให้ถอยหลังลงคลองน้ำเน่า ที่ประชาชนเฝ้ามองตาปริบๆ ประชาธิปไตยจึงเป็นเพียงการรับไหว้นักการเมืองที่เดินหาเสียง เชิญชวนเราไปเข้าคูหากาบัตรให้เท่านั้น ผู้นำที่มีวิญญาณประชาธิปไตยมองเห็นศักยภาพและพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชน ของชุมชน ของสังคม มองเห็นทุนทรัพยากร ทุนทางสังคม ทุนทางปัญญา และพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมกันพัฒนาทุนมหาศาลเหล่านั้น ดึงเอาศักยภาพออกมา ผู้นำที่เก่ง ไม่ว่าเป็นทหาร ดารานักแสดง ตลก อาชีพอะไรก็เป็นผู้นำที่ดีได้ถ้ารู้จักหาคนเก่งมาร่วมงาน ซึ่งมีอยู่มากมายในทุกสังคม บางคนเกษียณแล้ว ไปพักแล้วเขายังตามมากอบกู้บ้านเมืองอย่างนายพลเดอโกล ผู้ประสานให้ได้รัฐธรรมนูญสู่ “สาธารณรัฐที่ 5” ของฝรั่งเศสที่อยู่ยืนมาถึงวันนี้ ผู้นำที่ดีจึงมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ที่ร่วมกันสร้างคน สร้างความรู้ สร้างระบบ โดยตระหนักว่า ไทยเราไม่ได้มีอาวุธหนักไปรบกับใคร แต่มี “อาหาร/พลังงาน” เป็น “อาวุธ” ที่มีพลานุภาพยิ่งกว่า เหมือนที่รัสเซียกำลังใช้ “รบ” กับอเมริกาและพันธมิตร สังคมวันนี้อยู่ในสภาพเหมือนเพลงของเจิน เจิน บุญสูงเนิน “อยู่ดีดีทรุดลงไม่น่าเสียใจ อยู่อยู่ไปพลาดผิดไม่น่าเศร้าซึม ทำตัวเหมือนสิ้นแล้วทุกสิ่ง วันวันเมาโซเซ ร่างที่ไร้วิญญาณเหมือนหุ่นไล่กา...” แต่ที่สุดก็ต้องยอมรับชะตากรรม ปลุกวิญญาณตัวเองให้ตื่นขึ้น แม้สังคมยังไม่พร้อม ร้องเพลง “ต้องสู้ถึงจะชนะ” ให้จบ “เปรียบชีวิตคนดังคลื่นใต้น้ำในทะเล บางครั้งขึ้น บางครั้งลง ดวงดี (ยินดี) ดวงอับ (ช่างมัน) พรหมท่านลิขิตไว้ให้เป็น สามสิบลิขิตฟ้า เจ็ดสิบต้องฝ่าฟัน ต้องสู้ ต้องสู้ จึงจะชนะ...” แต่ต้องสู้อย่างที่ซุนวูบอกไว้ 2,600 ปีก่อนว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง แต่การรบที่ยิ่งใหญ่สุด คือ รบชนะโดยไม่ต้องรบ เพราะสู้ด้วยยุทธศาสตร์ รบด้วยปัญญา ชนะด้วยความรู้”