ทวี สุรฤทธิกุล เลือกตั้งผู้ว่าฯคราวนี้ บางคนเชื่อโพล บางคนเชื่อโหร และหลายคนไม่เชื่อใคร ถ้าจะดูตามโพลที่จัดทำกันอยู่หลายเจ้า ทุกสำนักจะให้หมายเลข 8 คือนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นตัวเก็ง โดยมีคะแนนราว ๆ 40 เปอร์เซ็นต์ และมีคะแนนนำอันดับสองคือหมายเลข 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อยู่กว่าเท่าตัว หรือถ้าจะเอาอันดับสามคือหมายเลข 6 พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง มารวมด้วยก็ยังเอาชนะนายชัชชาติไม่ได้ ในขณะที่หมายเลข 1 คือนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แม้จะมีคะแนนไม่มาก แต่ก็มีเสียงค่อนข้าง “ดัง” เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจรัฐในปัจจุบันอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามก็มีคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใครนั้นอยู่อีกราว ๆ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคะแนนก็เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด ในขณะที่ยังเหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึงสัปดาห์ก็จะมีการลงคะแนนในวันอาทิตย์นี้แล้ว บางคนจึงเชื่อว่านายชัชชาติน่าจะชนะอย่างแบเบอร์ อย่างไรก็ตาม ก็มีคนที่ไม่เชื่ออยู่เป็นจำนวนมาก โดยบางคนก็อ้างหมอดู ที่ผู้เขียนได้ยินมาก็มีอยู่ 2 - 3 คน แต่มีคนหนึ่งที่ฟังน่าเชื่อถือ เพราะมีสรรพคุณว่าเคยทายถูกมาหลายเรื่อง บอกว่าหมายเลข 4 น่าจะเฉือนชนะหมายเลข 8 ในตอนท้าย ด้วยเหตุผลที่ว่า หมายเลข 8 นั้นมีกรรมเก่า คือถูกมัดติดกับคนบางคนที่มีคดีและหนีไปอยู่ต่างประเทศ และคน ๆ นี้เป็นกาลีบ้านกาลีเมือง ถือว่าเป็นกรรมที่หนัก และจะส่งผลให้หมายเลข 8 เสื่อมเสียจนพ่ายแพ้ในที่สุด ส่วนหมอดูอีกคนหนึ่งที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงแม้จะอายุยังน้อย แต่ก็พยายามโหนกระแสขึ้นมาจนโด่งดัง ก็ทำนายว่าหมายเลข 6 ต่างหากที่จะชนะเลือกตั้ง เพราะเป็นคนที่บุญมาก มีอย่างที่ไหน อยู่ดี ๆ กำลังจะเกษียณราชการ ก็มีราชรถมาเกยให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยไม่ต้องลงเลือกตั้ง ทั้งตอนนี้ก็ดวงยังไม่ตก อีกทั้งยังมีบุญเก่าส่งเสริมไว้ ก็จะเอาชนะได้อย่างแน่นอน ผู้เขียนอยู่ในฝ่ายที่ไม่เชื่อทั้งโพลและโหร(แต่ก็ไม่กล้าลบหลู่และดูแคลน) เพียงแต่อยากนำเสนอความเชื่อกับความคิดของตัวเองมาร่วมด้วย อย่างที่ได้นำเสนอมาในบทความนี้หลายตอนแล้วนั้นว่า ถ้าจะมองให้เป็นวิทยาศาสตร์ โดยเอาทฤษฎีมาบวกกับประสบการณ์ ก็น่าจะเชื่อได้ว่าคนกรุงเทพฯน่าจะไปเลือกผู้ว่าฯในครั้งนี้ ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาจำนวน 10 ครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 จนถึง พ.ศ. 2556 นั้นแต่อย่างใด ซึ่งจะขอสรุปเหคุผลอันเป็นที่มาของความเชื่อของผู้เขียนไว้ในที่นี้อีกครั้ง ดังนี้ หนึ่ง จำนวนคนที่จะไปลงคะแนน ก็น่าจะเป็นไปตามที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดการณ์ แม้จะมีการคาดการณ์ว่าจะมีคนไปลงเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่น่าจะมากกว่าครั้งก่อน ๆ (ครั้งที่มีผู้มาเลือกตั้งมากที่สุดคือใน พ.ศ. 2556 จำนวนราว 64 เปอร์เซ็นต์) ด้วยเหตุผลที่ว่าคนกรุงเทพฯบางกลุ่ม “เรื่องเยอะ” ส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจที่ยุ่งยาก ด้วยไม่รู้ว่าจะเลือกใคร บางคนเลยขี้เกียจไปเลือก รวมถึงที่บางคนก็ “ถือตัว” คือหวงคะแนน ไม่รู้จะเลือกไปทำไม เลือกแล้วก็ได้คนที่ไม่ถูกใจ และไปเลือกก็เสียเวลา เลยไม่เลือกมันเสียเลย สอง ด้วยเหตุที่การเมืองไทยอยู่ในกระแสของความขัดแย้ง ระหว่างระบอบทหารกับระบอบทักษิณมากว่า 10 ปี (ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 มาจนถึงปัจจุบัน) ผู้เลือกตั้งก็จะยังคงแบ่งเป็น 3 ฝ่ายอยู่เช่นเดิม คือฝ่ายที่ยัง “ถวิลหวัง” ในระบอบทักษิณและต่อต้านทหาร ฝ่ายที่นิยมทหารหรือ “เกาะ” ทหารเอาประโยชน์ ที่จะมีฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณอยู่เป็นจำนวนมากนั้นด้วย และฝ่ายที่ไม่เอาทั้งสองฝ่าย โดยในกลุ่มนี้จะมีทั้งพวกที่เกลียดทั้งทักษิณและทหาร กับพวกที่เกลียดเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มาจากทั้งสองแบบนั้น โดยในสังคมไทยนั้นคนกลุ่มหลังจะมีมากที่สุด ดังนั้นคะแนนการเลือกตั้งครั้งนี้จึงน่าจะ “กระจาย” คือไม่ได้ทุ่มให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งอย่างมากไปทั้งหมด โดยผู้ชนะและผู้ที่มีคะแนนรองลงมาในอันดับสองและสามน่าจะมีคะแนนทิ้งกันไม่มาก (ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามโพล) ทั้งนี้เพราะไม่มี “กระแส” การเมืองที่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน ผลคะแนนจึงน่าจะเบี่ยงเบนจากที่คาดการณ์ไว้พอสมควร สาม นอกจากกระแสการเมืองที่เด่น ๆ ไม่ปรากฏแล้ว ผู้สมัครแต่ละรายก็ดูเหมือนว่าจะมีแต่ระดับ “ธรรมดา ๆ” คือไม่ได้โดดเด่นเหนือกันมากนัก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีคะแนนนำตามโพล 3 - 4 คนนั้น จึงอาจจะทำความยุ่งยากให้กับการเทคะแนนให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง อีกทั้งผู้สมัครในกลุ่มนี้ทั้งฝ่ายระบอบทักษิณกับฝ่ายนิยมทหารก็มีการลงมาตัดคะแนนกันเองค่อนข้างชัดเจน จึงอาจจะทำให้ผลคะแนนเกาะกลุ่มกันมาดังกล่าว อย่างไรก็ตามฝ่ายที่นิยมทหารนั้นออกจะได้เปรียบ เพราะจะมีการลงคะแนนกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากกว่า โดยเชื่อว่าคนที่ไม่เลือกระบอบทักษิณในกลุ่มที่ไม่เอาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น จะหันไปเลือกฝ่ายนิยมทหารเพราะต้องการความ “มั่นคง” มากกว่า ในขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่เอาทหาร ก็ไม่แน่ใจว่าจะออกไปเลือกเป็นจำนวนมากหรือไม่ แต่ถ้าออกไปเลือกเป็นจำนวนมาก คะแนนของผู้สมัครบางคนที่มาอันดับ 4 อันดับ 5 นั้นก็อาจจะมีผลที่น่าตื่นเต้นขึ้นได้ และสี่ เมื่อประมวลรวมปัจจัยหลัก 4 เรื่อง(ที่ได้นำเสนอมาในบทความนี้ก่อนหน้านี้) คือ 1 ตัวผู้สมัคร 2 กระแสการเมืองรายรอบ 3 พลังการสื่อสารสมัยใหม่ และ 4 อารมณ์ของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในปัจจัยตัวที่ 4 คืออารมณ์ของคนกรุงเทพฯนี้ ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่า ท้ายที่สุดผู้สมัครที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลคงจะเป็นผู้ชนะ เพราะอารมณ์เบื่อรัฐบาลค่อนข้างจะมีมากขึ้นในคนหลายกลุ่ม แม้กระทั่งในกลุ่มที่เคยเชียร์คณะรัฐประหารชุดนี้ นั่นก็คืออารมณ์ของคนกรุงเทพฯได้สร้างกระแสการเมืองรายรอบ ที่เป็นปัจจัยตัวที่ 2 ให้รุนแรงขึ้น ผ่านปัจจัยตัวที่ 3 คือพลังการสื่อสารสมัยใหม่ ท้ายที่สุดจึงทำให้ปัจจัยตัวที่ 1 คือตัวผู้สมัครที่ไม่ค่อยจะโดดเด่นเหนือใครมากนักในตอนแรก สามารถสร้างความโดดเด่นขึ้นเหนือทุก ๆ คนได้เป็นอย่างมากได้ในที่สุด แต่ก็ยังเหลือเวลาอีก 5 - 6 วัน ดูซิว่าจะมีผู้สมัครคนไหนสร้างกระแสขึ้นมากลบตัวเต็งนี้ได้หรือไม่ ทั้งนี้ขอให้หาเวลาไปเลือกตั้งให้ได้ ถ้าไม่รู้จะเลือกใครก็ไปกาไม่เลือกใครก็ได้ อย่างน้อยก็เป็นการรักษาสิทธิของเรา และช่วยกัน “รักษาหน้า” คนกรุงเทพฯ อย่าให้มีชื่อว่ารักประชาธิปไตยน้อยกว่าคนต่างจังหวัดนั้นอีกด้วย