เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit สังคมไทยวันนี้มีลักษณะเหมือนเพลง “จดหมายผิดซอง” ของมนต์สิทธิ์ คำสร้อย หรือไม่ก็เหมือนคนซื้อเลขซื้อหวย คนรวยคือเจ้ามือ คนซื้อนานๆ ถูกทีก็ดีใจ แต่หวยก็เป็นเพียงการปลดปล่อยความกดดันและปัญหา เหมือนยาแก้ปวดที่กินเดือนละสองครั้ง บ้านเมืองเราร้องเพลงผิดคีย์มานาน จนทั้งคนร้องคนฟังนึกว่าร้องดี เพราะคุ้นกับการร้องเพี้ยนๆ แบบนี้มานาน ทั้งรัฐบาลและประชาชนทนชินกับการร้องที่ไม่พัฒนา ถ้าเป็นตลกก็ไม่ขำ แต่ทำอะไรไม่ได้ ไล่ลงเวทีก็ไม่ได้ เพราะเขาเป็น “เจ้าของ” เวที มีคนจำนวนมากอยากวิพากษ์สังคมไทย แต่ส่วนใหญ่กลัวว่าจะเป็นเหมือนบิชอปเฮลเดอร์ คามารา ของบราซิลเมื่อหลายปีก่อน ที่บอกว่า “เมื่อข้าพเจ้าให้อาหารคนจน เขาก็เรียกข้าพเจ้านักบุญ เมื่อข้าพเจ้าถามว่าทำไมพวกเขาถึงจน เขาก็ว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์” การตั้งคำถามสังคมโดยใช้กรอบคิดมาร์กซิสต์ ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะเป็นที่ยอมรับในทางวิชาการทั่วโลกว่า “การวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์” สังคมด้วยวิธีหรือเครื่องมือมาร์กซิสต์นั้นมีพลัง หรือมีความคมที่ทำให้มองเห็นปัญหาได้ดี แต่ไม่ได้แปลว่าต้องใช้วิธีแก้ไขแบบมาร์กซิสต์หรือคอมมิวนิสต์ แนวคิดเรื่องชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม การกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบ การแบ่งแยก การผูกขาด การไม่ยอมรับความหลากหลาย การต่อสู้ การปลดปล่อย เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบของการวิพากษ์แบบมาร์กซิสต์ ซึ่งเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่หากนำมาต่อกันจะเห็นภาพสังคมอย่างชัดเจน สังคมไทยแบ่งแยกชนชั้นมานาน คนมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมเป็นเหมือนกลุ่มคนที่รวมกันอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร รั้วรอบกำแพงสูง มีรสนิยม มีตลาดบน คนอื่นอยู่ตลาดล่าง ชั้นต่ำลงไป ไม่ใช่ไฮโซ ที่สื่อต่างนิยมชมชอบเรียกและเสนอข่าว เพราะเป็นเรื่องราวที่คนอยากรู้ โดยเฉพาะพวกรสนิยมสูงรายได้ต่ำ คนเหล่านี้คบหากันเฉพาะกลุ่ม เครือข่ายเดียวกัน ศิษย์เก่าสำนักเดียวกัน ร่วมรุ่นสถาบันอบรมดังๆ ที่แย่งกันเข้า จะได้มีเครือข่าย ทำให้เกิดเวทีที่ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองมาบรรจบพบกัน ผนึกพลังกันทำสิ่งดีๆ ก็มี แต่มักจะเป็นการรวมกัน “สร้างอิทธิพล” เติมความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมทางสังคม สังคมยังมีระบบแบบนี้ เปิดโอกาสให้ผู้นำทางการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ ได้รวมกัน “กินรวบ” “ผูกขาด” มากยิ่งขึ้น ลดโอกาสคนส่วนใหญ่ให้เล็กลงแคบลงจนหลายอย่างหมดไปเลย มีการสร้างแนวคิดผิดๆ ว่าแทนที่จะให้ปลาชาวบ้าน ให้สอนชาวบ้านให้จับปลา จะได้มีปลากินตลอดชีวิต ซึ่งผิดประเด็น ชาวบ้านจับปลาเป็น แต่ไม่มีโอกาสจับปลา เพราะสังคมได้ล้อมรั้วตั้งกำแพงไม่ให้ “ชาวบ้าน” เข้าไปจับปลา ในพื้นที่ที่ถูกจับจองจากผู้มีอำนาจที่กอบโกยและผูกขาดทรัพยากร ออกกฎหมายที่เอื้อให้ทุนใหญ่ผูกขาดมากกว่ากระจายให้การประกอบการเล็กๆ ของคนเล็กๆ ซึ่งต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบเพื่อความอยู่รอด มีคำถามว่า ทำไมคนส่วนใหญ่จึงเหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสถานการณ์เหล่านี้ คงไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่รู้สึกว่ามีความเหลื่อมล้ำ แต่คนจำนวนมากยังคิดว่าเป็นกรรม ควรทำบุญให้มาก ชาติหน้าจะได้ไม่ลำบาก หรือรับว่า ความไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องธรรมชาติ นิ้วมือยังไม่เท่ากัน เป็นวิธีคิดที่ผิดประเด็นเช่นกัน โอกาสทางสังคมไม่ได้มีการกำหนดมาตั้งแต่เกิดเหมือนนิ้วมือ สังคมเป็นคนสร้างมันขึ้นมา ทำให้คนมือยาวสาวได้สาวเอา คนไม่ได้เกิดมามีมือยาว สังคมดึงมือคนบางคนบางกลุ่มให้ยาว พร้อมกับเปิดช่องว่างให้ แต่ปิดโอกาสคนจน ดูกฎหมายหลายข้อก็มีลักษณะเช่นนี้ การครอบงำทางความคิด ค่านิยม โดยผู้มีอำนาจในสังคม เป็นการครอบงำทางวัฒนธรรมที่ร้ายแรงไม่แพ้การใช้กฎหมาย ใช้อาวุธ ใช้กำลัง นี่คือความคิดเรื่อง “อำนาจนำ” (hegemony) ของอันโตนิโอ กรัมชี ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี ที่ “แก้” แนวคิดของมาร์กซ์ โดยบอกว่า การครอบงำนี้มีความร้ายแรงกว่าอีก เพราะได้ประชาชนส่วนใหญ่ โดยไม่ต้องจับกุมคุมขัง ใช้กำลัง แต่ทำให้ยอมสยบโดยไม่โต้เถียงต่อต้าน บ้านเราจึงมีค่านิยมผิดๆ ที่ส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ ความเหลื่อมล้ำ ชนชั้น พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนสูงๆ เพื่อจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ให้ลูกเรียนโรงเรียนดีๆ มหาวิทยาลัยดีๆ จะได้มีเครือข่าย ได้เพื่อนอีกระดับหนึ่ง เหล่านี้คือความนิยมในอำนาจ ปัจจัยที่ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ เกิดรัฐประหาร โดยที่ประชาชนไม่ได้ต่อต้าน เพราะเมื่อมีการเลือกตั้ง นักการเมืองก็ฉ้อฉลจนทหารอ้างความชอบธรรมเข้ามาจัดระเบียบ กงกำกงเกวียนเวียนไปมาจะครบร้อยปี เหมือนถูกสาปให้อยู่ใน “หลุมดำ” ใครเข้ามา ไม่ว่าทหารหรือพลเรือนก็ดูเหมือนมาช่วยกันขุดหลุมดำให้กว้างให้ลึกลงไปอีก จนยากจะหลุดรอดออกมาได้ สังคมไทยต้องยอมรับ “วิภาษวิธี” ให้มีการโต้แย้ง วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อนำไปสู่การสรุปที่ดีกว่า ซึ่งจะเกิดได้ถ้าหากมีการยอมรับความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ให้โอกาสทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ให้โอกาสได้แสดงศักยภาพของตนเอง ที่ถูกกดทับไว้ด้วยระบบที่ต้องรื้อถอนสร้างใหม่ สังคมไทยไม่เพียงแต่ควรรับรู้ว่ามีความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม การผูกขาด แต่ต้องการ “สำนึกใหม่” สำนึกที่รอให้รัฐสร้างให้ไม่ได้ แต่มาจากข้างล่าง สร้างรากฐานใหม่ให้สังคม การสร้างเวที สร้างเครือข่ายประชาสังคม ระดมพลังความคิดและพลังประชาชนจากทุกภาคส่วน จะเป็นแรงขับเคลื่อนสังคมไปสู่การปลดปล่อยจากการครอบงำโดยผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สังคมที่ไม่ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะไม่เกิดวัฒนธรรมการวิจารณ์ จะมีแต่การด่าว่า โจมตีนินทาว่าร้าย ด้วยถ้อยคำรุนแรง เฮดสปีด ที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ความขัดแย้ง แตกแยก ภาคประชาสังคมต้องมีเครือข่ายธรรมาภิบาล ใช้ข้อมูล ความรู้ เพื่อควบคุม ตรวจสอบ และมีส่วนร่วม จึงจะลดอำนาจการผูกขาด สังคมที่โอกาสไม่เท่าเทียม ผู้คนจะพึ่งตนเองไม่ได้ ส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ ที่จะล้มล้างได้ด้วยการสร้างสำนึกใหม่ ที่จะทำให้ประชาชนมีอำนาจ และพึ่งตนเองได้ ไม่ยอมให้มีการกดขี่ ครอบงำด้วยอำนาจนำ เพื่อจะได้ออกจากหลุมดำ และกับดักที่เราสร้างมันขึ้นมาเอง