รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านเกิดกระแสหนังดังทะลุใจคนไทยทั่วบ้านทั่วเมือง ‘Gangubai Kathiawadi’ – ‘คังคุไบ กฐิยาวาฑี’ หรือ ‘หญิงแกร่งแห่งมุมไบ’ ที่ออกฉายทาง Netflix ซึ่งเป็นเรื่องราวชีวิตจริงของหญิงจากตระกูลดีของอินเดียที่ชีวิตพลิกผันก้าวเข้าสู่วงการค้าประเวณีในเขตกามธิปุระของนครมุมไบเมื่อปี 1960 ในหนังสะท้อนภาพการใช้ความรุนแรงต่อเพศหญิง มองว่าโสเภณีเป็นอาชีพที่แย่ ต่ำต้อย ไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี และคุณภาพชีวิตของโสเภณีในซ่องก็ยัง ‘สกปรก’ ขาดสุขลักษณะที่ดี คังคุไบเคยต่อสู้เรียกร้องไม่ให้มีการย้ายซ่องออกจากกามธิปุระ และยังเคยได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเธอจึงใช้ตำแหน่งที่ได้มาเรียกร้องให้อาชีพโสเภณีเป็นอาชีพที่เท่าเทียมและมีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ เช่น แพทย์ วิศวกร ทนายความ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เธอได้รับการระลึกถึงอยู่เสมอและมีการทำรูปปั้นขนาดใหญ่ของเธอประดับไว้ในซ่องโสเภณี คังคุไบตัวจริงเสียชีวิตเมื่อปี 2520 เธอได้รับการจดจำมาโดยตลอดเพราะเธอเป็นสตรีคนแรก ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิของ “Sex Worker” ที่ต้องการให้ชีวิตของโสเภณีและเด็กกำพร้าดีขึ้น ทำให้เธอมีฉายาว่า “ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ” และ “แม่พระแห่งโสเภณี” คำว่า “โสเภณี” หมายถึง ผู้หญิงขายบริการทางเพศ ผู้หญิงขายตัว หรือผู้หญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี แต่ความหมายของคำนี้ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นความหมายดังเช่นปัจจุบันนี้ “โสเภณี” หมายถึง หญิงงามชั้นสูงอยู่ปราสาท ซึ่งเป็นผู้สร้างเทวสถาน สร้างวโนทยานสำหรับไว้เที่ยวเตร่ (อ่านเพิ่มที่ www.legacy.orst.go.th) ทุกวันนี้ อาชีพโสเภณีในเมืองไทยยังถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อศีลธรรมอันดี และความสงบเรียบร้อย แต่ในความจริงสังคมไทยกลับมีโสเภณีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เมืองพัทยาเมืองเดียวน่าจะมีผู้หญิงขายบริการทางเพศไม่ต่ำกว่า 2.7 หมื่นคน แต่ทั่วประเทศคงมีราว ๆ 4.3 หมื่นคน และอาชีพโสเภณีไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น แต่มีทั้งเพศชาย เพศหญิง และกลุ่มหลากหลายทางเพศ รวมไปกลุ่มข้ามชาติอีกด้วย ประเทศที่มองว่าอาชีพโสเภณีหรือการค้าบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมาย มองว่าเป็นเรื่องของเสรีภาพที่จะทำอาชีพนี้ มีการจัดการดูแลความปลอดภัยและจัดเก็บภาษีอย่างเป็นกิจลักษณะ เช่น นิวซีแลนด์ เบลเยียม อิตาลี แอฟริกาใต้ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เป็นต้น ความเคลื่อนไหวล่าสุดของประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปี 2022 เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายการค้าประเวณี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 59.39% เห็นควรกับที่จะให้การค้าประเวณีเป็นเรื่อง ถูกต้องตามกฎหมาย และควรจัดเก็บภาษีต่าง ๆ จากผู้ค้าประเวณี (อ่านเพิ่มที่ www.moneybuffalo.in.th) และยังมีข้อมูลจากการวิจัยที่น่าเชื่อถือระบุว่าการทำอาชีพโสเภณีในปัจจุบันของเมืองไทยมาจากความสมัครใจ !!! ไม่ใช่จากความยากจน... หลายฝ่ายพยายามดันเรื่อง “โสเภณี” ที่ถูกมองว่าผิดกฎหมายไทยให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแล และบริหารจัดการผลประโยชน์ให้ทั่วถึงและเป็นธรรม แต่ดูจะเป็น ‘โจทย์หิน’ สำหรับประเทศไทย เพราะมีฝ่ายสูญเสียประโยชน์หลายกลุ่ม... ท้ายนี้ ท่านคิดเห็นอย่างไร? กับปัญหาโสเภณีในเมืองไทยที่ทั้งซับซ้อนขึ้น ไร้ทั้งขอบเขต และกาลเวลา...สะท้อนให้ฟังกันบ้างครับ...เหมือนหรือแตกต่างจากหนังอินเดีย Gangubai Kathiawadi’ – ‘คังคุไบ กฐิยาวาฑี’ หรือ ‘หญิงแกร่งแห่งมุมไบ’ แง่มุมใดบ้าง?