พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ที่จริงแล้ว การจลาจลหลายจุดในอเมริกาที่เกิดขึ้นในช่วงของการหาเสียงของแคนดิเดทประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือในช่วงนี้ ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์การเมืองอเมริกันหลายคน ทั้งพวกเขาเคยวิเคราะห์ว่ามันจะเกิดขึ้น ตั้งแต่เมื่อช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2008 ก่อนโอบามาจะได้รับเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำ ทั้งนักวิเคราะห์ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย เค้าของความขัดแย้งจนเป็นสาเหตุให้มีการใช้กำลังหน่วยรักษาความปลอดภัยแห่งครั้งนี้ วิเคราะห์กันว่าส่วนหนึ่งมาจากปมด้อยปมเด่นทางสีผิวที่สะสมมานานและรอเหตุการณ์เป็นตัวจุดฉนวนทำให้ปะทุ ซึ่งเรื่องนี้พลเมืองอเมริกันส่วนใหญ่ทราบกันเป็นอย่างดี การเลือกตั้ง 2008 ปีที่โอบามาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำสหรัฐฯนั้น หลายฝ่ายชี้ว่าอเมริกาได้ก้าวข้ามความแตกต่างๆพ้นแล้ว ซึ่งพวกเขาหมายถึงความแตกต่างทางด้านสีผิวนั่นแหละ แต่แล้วเหตุการณ์จลาจลที่ปะทุขึ้นขึ้นหลายเมืองในช่วงที่ผ่านทำให้นักวิเคราะห์ในภาคสื่อมวลชนเหล่านี้ จำต้องประเมินสถานการณ์กันใหม่ทั้งหมด ขณะที่เรื่องความแตกต่างด้านสีผิวนี้ เป็นประเด็นอ่อนไหวมากที่สุดในอเมริกา ทุกฝ่ายทราบเป็นอย่างดี ทั้งเค้าลางของความขัดแย้งจนมีการใช้กำลังรุนแรงดังกล่าว ที่เปรียบเสมือนลาวาภูเขาไฟรอวันปะทุมานานหลายปี จนเมื่อมีปัจจัย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็น “ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ” ส่วนหนึ่ง ก็ทำให้ลาวาร้อนเกิดระเบิดขึ้นมา หากพูดในแง่ของความยุติธรรมของการใช้กฎหมาย หลายฝ่ายมองว่ารัฐอเมริกันทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นสามารถรักษามาตรฐานทางด้านความยุติธรรมไว้ได้เป็นอย่างดี เหตุการณ์เมืองเฟอร์กูสัน เกิดขึ้นและขยายเร็ว แต่ก็จากไปเร็วเช่นกัน แต่ประเด็นใหญ่ที่หลายฝ่ายกังวลและเป็นประเด็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งปี 2016 นี้ก็คือ กำลังการรองรับการขยายตัวของนโยบายรัฐสวัสดิการที่หมายถึงความสามารถในการอุดหนุนคนรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยในอเมริกา ขณะที่คนผิวสีและต่างด้าวจำนวนมาก อยู่ในกลุ่มคนมีรายได้น้อย ในฐานะแคนดิเดทพรรครีพับลิกัน แนวอนุรักษ์นิยม โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศอย่างชัดเจนว่า เขาไม่เอาต่างด้าวเข้ามากินสวัสดิการของรัฐอเมริกัน โดยยกตัวอย่างรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐหนึ่งที่ประสบปัญหาต่างด้าวล้นเมือง จนเป็นเหตุให้รัฐนี้ถึงกาลล้มละลาย แม้ทรัมป์ไม่เอ่ยถึงกลุ่มคนผิวสี แต่โดยสามัญสำนึกของคนอเมริกันโดยทั่วไปก็ทราบดีว่า คนผิวสีดุจเดียวกับต่างด้าว ระบบภายนอกของอเมริกันมีมาตรฐานเดียว แต่ภายในไม่มีใครรู้ เพราะไม่สามารถเดาใจได้ ปกติแล้ว เป็นที่ทราบกันว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุกครั้งโหวตเตอร์ผิวสีเทคะแนนให้เดโมแครตตามกรอบใหญ่แห่งนโยบาย “เสรีนิยม” โดยดูจากคะแนนโหวตตามเมืองต่างๆ ที่มีประชากรผิวสีอยู่กันมากๆ ต่างจากรีพับลิกัน ที่ได้ได้รับความนิยมจากกลุ่มผิวขาวเป็นหลัก ซึ่งนี่ถือว่าเป็นประเพณี (tradition) ของการเลือกตั้งอเมริกันแทบทุกครั้ง หากแต่ไม่มีใครหรือสื่อใดกล้าวิเคราะห์ถึงประเด็นนี้ต่อหน้าสาธารณะ เพราะอาจขัดกับหลักแบ่งแยกสีผิวได้ ซึ่งในอเมริกาถือว่า เป็นเรื่องใหญ่มาก ในยามที่ความหวั่นวิตกทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาวะความสุ่มเสี่ยงด้านสวัสดิการของรัฐ เช่น เงินกองทุนประกันสังคม (social security fund) ที่คาดกันว่าจะมีปัญหาจนต้องขยายอายุของผู้มีสิทธิ์ได้รับ (เมื่อรีไทร์) ออกไปมากขึ้น เงินสวัสดิการของรัฐต่างๆ ในด้านการศึกษาและสาธารณสุขที่กำลังมีปัญหาเงินไม่พอกับรายจ่ายด้านนี้ ทำให้นโยบายหาเสียงของทรัมป์ พุ่งโจมตีไปที่ “ปัญหาของการมีคนต่างด้าวจำนวนมากในอเมริกา” อย่างตรงไปตรงมา ท้าท้ายลัทธิเสรีนิยมที่เป็นของอเมริกันเอง อย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การหาเสียงประธานาธิบดีอเมริกัน จนเหล่าชนที่อ้างตัวว่าเป็นพวกเสรีนิยม ที่ส่วนใหญ่เป็นแฟนของเดโมแครตผวาว่า ถ้าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีแล้วอเมริกาจะเป็นรัฐทีมีแต่ความเกลียดชังไปทั่วประเทศ เกิดความรุนแรงในด้านต่างๆ มากขึ้น โดยรัฐอเมริกันไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งจะเกิดการกีดกันในเรื่องต่างๆ มากขึ้น เช่น ในเรื่องสีผิว หรือแม้กระทั่งในเรื่องศาสนา จนลืมไปว่า ที่มาของทรัมป์นั้น เขามาจากนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีฐานในอเมริกาและยุโรปมายาวนาน ดังนั้นความคิดของทรัมป์ จึงเป็นความคิดแบบธรรมดาๆ ของนักธุรกิจทั่วไปคนหนึ่ง เขาต้องการทำงาน (ดีล)ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว จนถูกโยงถึงข้อหาที่ว่า “ทรัมป์เด็ดขาดเกินไป จนเขาไม่มีวันทำงานทางการเมืองได้สำเร็จ เพราะความขัดแย้งทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ง่าย” แน่นอนว่าในแวดวงเดโมแครต ไปโฆษณาทรัมป์ในทำนองนี้ ทว่าในอีกแง่หนึ่ง ความรุนแรงของการจลาจลหลายๆเมืองในอเมริกาเที่ยวนี้ ก็ทำให้ความเป็นตัวตนของทรัมป์ เด่นชัดขึ้นกว่าเดิม ในมาดของผู้ควบคุมและดูแลความสงบ ในขณะที่สื่อและอเมริกันกำลังตั้งคำถามว่า “อเมริกาเป็นอะไรไป เกิดอะไรขึ้นกับอเมริกาในเวลานี้???” คำถามดังกล่าว พาจินตนาการของคนส่วนมากย้อนไปถึงความเป็นอเมริกันแบบเก่า ประชาธิปไตย เสรีภาพ ภราดรภาพในอดีต ดูเหมือนภาพเหล่านี้ได้เลือนหายไปจากสังคมอเมริกันมานานพักใหญ่แล้ว โดยเฉพาะที่สำคัญก็คือ ความเป็นผู้นำโลกของรัฐอเมริกัน ทรัมป์ก็เลยใช้ประเด็นนี้หาเสียง ด้วยการพูดออกไปตรงๆ ซึ่งก็แน่นอนว่าเขาเองไม่ได้หวังการได้ใจของสื่อมวลชนหรือประชาคมโลก แต่หวังได้ใจของโหวตเตอร์ชาวอเมริกันมากกว่า จนประชาคมสื่อมวลชนและนักวิจารณ์นานาชาติต่างพากันรุมสับเขาเสียเป็นการใหญ่ ยามนี้จะใครรู้ใจคนอเมริกันมากไปกว่าคนอเมริกันด้วยกันเอง 8 ปีของโอบามา เป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า มันเป็นไปตามความคาดหวังของพวกเขาหรือไม่ เหมือนพวกโรบินฮู้ดที่รอแล้วรออีกกับการปฏิรูปงานอิมมิเกรชั่น (ต่างด้าว) ของประธานาธิบดีโอบามา โอบามามีสิทธิ์ที่จะบอกว่า ก็มันไม่ได้ขึ้นกับเขาคนเดียวหรือเดโมแครตพรรคเดียวแต่ขึ้นกับสมาชิกพรรครีพับลิกันด้วย ถ้าสองพรรคไม่ปรองดองร่วมโหวต นโยบายของเขาก็เป็นไปไม่ได้ ซึ่งก็คงจริง ไม่มีใครเถียง แต่จะมีประโยชน์อะไรกับนโยบายที่โอบามาเคยแถลงต่อรัฐสภาและประชาชน ผู้เคยโหวตให้เขาด้วยความหวังที่จะ “เปลี่ยน”ชีวิต ไปในทางที่ดีขึ้น การจลาจลที่เกิดขึ้นหลายเมืองหลายรัฐ ได้เตือนและชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว !!!