ทวี สุรฤทธิกุล การเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพฯจบลงแล้ว ซึ่งคงส่งผลต่อการเมืองไทยในภาพรวมอย่างแน่นอน บทความนี้เขียนส่งก่อนวันที่จะมีการหย่อนบัตรเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ถ้าน้ำไม่ท่วมหลังเป็ดหรือไม่มีอะไรพลิกล็อค ผู้ชนะก็คงเป็นคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ที่โพลและโหรเกือบทุกสำนักบอกว่าเป็นตัวเต็ง รวมถึงผู้เขียนอีกคนหนึ่งด้วยก็เชื่อเช่นนั้น แต่ถ้าเกิดมีการพลิกล็อก ผู้สมัครคนอื่นได้รับชัยชนะ บทความนี้ก็คงไม่ย้อนกลับไปวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอะไร อย่างที่โบราณบอกว่าไม่ควร “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” เพราะคนที่ชอบย้อนไปขุดคุ้ยอดีตนั้น ท่านว่าก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ “หาเหาใส่หัว” ดังนั้นสิ่งที่ควรทำในตอนนี้ก็คือการมองไปข้างหน้า โดยเอาอดีตนั้นแหละมาเป็นบทเรียน และที่จะเป็นประโยชน์มาก ๆ ก็คือ การเตรียมรับกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะตามมาในอนาคต จากอดีตที่ผิดพลาดนั้น ผู้เขียนจะไม่ระบุว่าผู้สมัครที่พ่ายแพ้แต่ละคนมีข้อผิดพลาดอย่างไร แต่อยากให้มองว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แม้จะเป็นการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น แต่ก็ส่งผลต่อการเลือกตั้งหรือการเมืองในระดับชาตินั้นอย่างแน่นอน จึงขอมองผลการเลือกตั้งที่ออกมาตามนี้(ที่ไม่ได้พลิกล็อค)ว่าจะส่งผลต่อการเมืองไทยในภาพใหญ่ระดับประเทศต่อไปในอนาคตนั้นอย่างไรบ้าง เริ่มต้นต้องวิเคราะห์ก่อนว่า คะแนนเสียงของคุณชัชชาติได้มาจากผู้ลงคะแนนกลุ่มใด โดยดูเทียบกับคนที่มาลงคะแนนในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งบรรดาพรรคการเมืองใหญ่และนักการเมืองมืออาชีพเขาจะมีทีมงานที่คอยรวบรวมสถิตินี้อยู่ด้วย โดยจะส่งทีมงานของพรรคไปรวบรวมผลคะแนนตามหน่วยเลือกตั้งแต่ละหน่วยตั้งแต่ที่มีการปิดหีบและเริ่มนับบัตรขานคะแนน เพราะแต่ละหน่วยเลือกตั้งจะมีชุมชนและผู้เลือกตั้งที่มีทั้งเหมือนและแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อนำผลการนับคะแนนในครั้งต่าง ๆ มาเทียบกัน ก็พอจะมองออกว่าคนในชุมชนใดหรือในกลุ่มอาชีพใด รวมถึงคนที่มีสังกัดหรือรักชอบพรรคการเมืองใด มาเลือกผู้สมัครคนใดเป็นจำนวนเท่าใดบ้าง มีการคาดการณ์กันไว้ล่วงหน้าบ้างแล้วว่า เสียงที่คุณชัชชาติได้รับจะมาจากกลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทย กับกลุ่มคนที่เป็น New Voters หรือผู้ที่ไปใช้สิทธิเป็นครั้งแรก รวมถึงคนที่มีต่อต้านเผด็จการทหาร และคนที่มองการเมืองแบบมุ่งผลปฏิบัติที่เป็นจริงได้แน่นอนกว่า (ตำรารัฐศาสตร์เรียกว่า Pragmatists) คือเชื่อว่าคุณชัชชาติน่าจะมีฝีมือและทำงานได้ผลมากว่าคนอื่น ๆ ทุกคน แม้ว่าจะไม่ค่อยสบายใจกับอดีตที่คุณชัชชาติเคยร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยนั้นมาก่อน แต่ก็ชั่งน้ำหนักว่าจะต้องเลือกเอาคนที่น่าเชื่อถือกว่าคนอื่นนั้นมากกว่า โดยเฉพาะบุคลิกของคุณชัชชาติที่ดู “เข้าถึงง่าย” ที่เหมาะสมกับผู้บริหารงานท้องถิ่น ที่ผู้เลือกตั้งและคนในท้องถิ่นนั้นจะมีความรู้สึกอยากจะให้ผู้บริหารที่ตนเลือกเข้ามา “ใกล้ชิด” และ “เอาใจ” พวกเขาในชุมชนในท้องถิ่นนั้นอยู่ตลอดเวลา การที่คนกรุงเทพฯเลือกคุณชัชชาติ อาจจะไม่ได้แสดงว่าคนกรุงเทพฯนั้นเบื่อหน่ายชิงชังรัฐบาล แต่น่าจะเป็นการเบื่อหน่ายการเมืองในภาพรวมที่มีความเป็นเผด็จการมาหลายปีแล้วนี้มากกว่า อันเป็นสภาพปกติของคนกรุงเทพฯที่มักจะต่อต้านผู้นำแบบนี้มาโดยตลอด และที่คนกรุงเทพฯชอบทำกันเป็นปกติ ซึ่งได้ทำมาแล้วหลายครั้งก็คือ การเทคะแนนให้กับฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้น คนกรุงเทพฯยังชอบ “มวยใหญ่” คือผู้บริหารของพวกเขาควรจะต้องมีศักยภาพหรือพลังอำนาจพอเพียงที่จะต่อกรกับผู้มีอำนาจในระดับที่เหนือกว่านั้นได้ด้วย นั่นก็คือหน้าตาของผู้ว่าราชการก็คือหน้าตาของคนกรุงเทพฯนั่นเอง และคนกรุงเทพฯก็ไม่ยอมที่จะด้อยกว่าใครในเรื่องการหาผู้บริหารท้องถิ่น ที่จะต้องยิ่งใหญ่เหมือนคนกรุงเทพฯนั้นด้วย ดังนั้นการที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนสุดท้องของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาเพื่อเตรียมไว้ให้เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี จึงมองไปได้ด้วยเหตุผลข้างต้น คือต้องหาคนที่ใหญ่พอที่จะสู้กับเผด็จการทหารในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำลังจะมาถึงนี้ให้ได้ และคนที่จะสู้ได้ก็คือทักษิณ ที่มีอุ๊งอิ๊งเป็นนอมินี พร้อมด้วยพรรคเพื่อไทย ที่แกนนำของพรรคเชื่ออีกด้วยว่า การนำเสนออุ๊งอิ๊งขึ้นมาแบบนี้ จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ “แลนด์สไลด์” หรือชนะการเลือกตั้งได้อย่าง “ฟ้าถล่ม - ดินทลาย” นั้นได้อีกด้วย ในทำนองเดียวกันกับกลุ่มการเมืองที่ชื่อว่า “ก้าวหน้า” ที่นำเสนอนายธนาทร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เป็นอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ต่อมาภายหลังที่ถูกยุบพรรคก็ได้ไปแอบแฝงอยู่ในร่างของพรรคก้าวไกล โดยนายธนาทรนั้นเป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่ พวกหัวก้าวหน้า เสรีนิยม และไม่ได้บ้าคลั่งสถาบัน ก็ด้วยเป้าหมายและความเชื่อเดียวกัน คือเชื่อว่านายธนาทรนี่แหละที่ “ใหญ่พอ” พอที่จะเทียบเคียงหรือต่อสู้ได้กับผู้นำทหาร รวมถึงที่จะสามารถ “พลิกโฉม” อย่างที่เป็นกระแสหลักคนรุ่นใหม่ในประเทศนี้ว่า Disruption การเมืองการปกครองไทยแบบจารีตที่ยังล้าหลังและเป็นเผด็จการอยู่นี้ได้ต่อไป ทั้งอุ๊งอิ๊งและธนาทร แม้จะว่ามีชนักติดหลังอยู่มากมาย แต่ทั้งสองคนรวมถึงกลุ่มคนที่สนับสนุนคนทั้งสองนี้ขึ้นมาก็ไม่ได้เอาใจใส่ เพราะได้เคยมีกรณีที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ในกรณีของนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พาพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งมาในปี 2554 นั้นแล้ว รวมถึงที่ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีท่ามกลางกระแสของผู้คนที่ต่อต้าน ก็ยังถูลู่ถูกังเป็นรัฐบาลมาได้ 2 ปีกว่า กระทั่งถูก คสช.ยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่กระนั้นในการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ผ่านมาล่าสุดนั้น พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 จำนวน 136 คน ชนะพรรคพลัง คสช. เอ๊ย พลังประชารัฐ ที่ตั้งมาหนุนทหารที่ได้มาเพียง 110 คน ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ พรรคเพื่อไทยก็เชื่อว่าจะได้ ส.ส.เข้ามาเป็นจำนวนมากถึงขั้นแลนด์สไลด็นั้นอีกเช่นกัน ผู้เขียนมองผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯมหานครในครั้งนี้แล้วก็อดเป็นห่วงพวกที่อยากสืบทอดอำนาจนี้ไม่ได้ เพราะการส่งผู้สมัครมาแย่งคะแนนกันก็ย่อมแสดงว่าในฝ่ายรัฐบาลนั้นก็ไม่มีเอกภาพ ซ้ำยังแย่งชิงผลประโยชน์ต่าง ๆ กันวุ่นวาย โดยเฉพาะการช่วงชิงความนิยมจากประชาชน ที่สุดเมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส.ก็คงจะ “ล่อกันนัว” จนถึงขั้น “ตัวใครตัวมัน” และทำให้ “ระบอบทักษิณ” นั่นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ตอนนี้จึงมีคนบอกว่าได้ยินเสียงจากรั้วเขียว ๆ ดังออกมาว่า “เดี๋ยวก็ตบเท้าเสียหรอก”