เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit จากประชาธิปไตยครึ่งใบใต้การนำของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ช่วงทศวรรษ 2520 ก็มาถึงประชาธิปไตยเต็มใบเมื่อได้รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวันได้เพียง 3 ปี ก็ถูกรัฐประหารโดย รสช. คุณอานันท์ ปันยารชุน ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ปีเดียวก็มีการเลือกตั้ง เมื่อ ส.ส. เป็นนายกไม่ได้ พลเอกสุจินดา คราประยูรก็ยอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” เมื่อมีการประท้วงทั่วประเทศ การเดินขบวน การปะทะ มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เหตุการณ์จบลงเมื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออก คุณอานันท์ ปันยารชุน กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยการเสนอของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาฯ ผิดโผที่ฝ่ายการเมืองเสนอ เส้นทางประชาธิปไตยของไทยเหมือนการเดินขึ้นเขาลงห้วยมากว่า 90 ปี มีบทเรียนมากมาย มีทั้งทหารและพลเรือนเข้ามาบริหารบ้านเมือง เกิดรัฐประหาร 10 กว่าครั้ง มีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ มีความขัดแย้ง การปะทะต่อสู้ คนเจ็บคนตาย มีพรรคเทพ พรรคมาร มีซาตานมีนักบุญ ทศวรรษที่ 2530-2540 นับเป็นช่วงที่มีพัฒนาการการเมืองที่น่าศึกษา บ้านเมืองผ่านการวางรากฐานในยุคพลเอกเปรมให้ “โชติช่วงชัชวาล” มาถึงการเปิดไปสู่โลกาภิวัตน์ เมื่อพลเอกชาติชายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านและไปสู่โลกกว้างอย่างเต็มตัว พัฒนาไปสู่วิกฤติต้มยำกุ้งไม่กี่ปีต่อมา ที่น่าแปลกใจในช่วงนี้ คือ ได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งอย่างคุณอานันท์ ปันยารชุนได้รับการยอมรับ เคยเป็นข้าราชการถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เคยเป็น “ทูตยูเอ็น” เกษียณออกมาทำงานด้านธุรกิจ หลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีสองสมัย แม้ไม่นาน คุณอานันท์บอกในระหว่างที่ได้รับเชิญพูดในรายการหนึ่งว่า สิ่งที่เขาได้เรียนรู้มากที่สุดเรื่องหนึ่งในระหว่างดำรงตำแหน่งนั้น คือ ได้ไปรู้จักคนจนในกรุงเทพฯ เด็กเร่ร่อนใต้สะพาน คนในชุมชนแออัด เขาบอกว่า น่าจะได้รู้เรื่องนี้โดยตรงมานานก่อนนั้น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนับเป็นครั้งแรกที่ภาคประชาชนสื่อสารกันด้วยมือถือ ซึ่งแม้จะไม่มากมายอย่างวันนี้ แต่ก็ทำให้เกิดเครือข่ายภาคประชาสังคมทั่วประเทศที่ลุกฮือต่อต้านการสืบทอดอำนาจของทหาร ซึ่งที่สุดก็อยู่ในตำแหน่งเพียง 47 วัน แต่ทหารก็สรุปบทเรียน วันนี้ถึงอยู่ได้เกือบ 8 ปี ยุคที่มีสมาร์ทโฟนมากกว่าจำนวนประชากรไทยด้วยซ้ำ แต่ด้วยยุทธศาสตร์ของ “อำนาจนำ” (hegemony) ทำให้ยังมีการครอบงำสังคมที่ทหารเป็นใหญ่ ผนึกพลังกับข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมือง จนยากที่จะเกิดเหตุการณ์อย่าง 30 ปีที่แล้ว ที่มีการลุกฮือต่อต้านอำนาจนำ แต่กระนั้นความขัดแย้งก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอาจระเบิดเป็นความรุนแรงได้ในอนาคต บทเรียนที่ประวัติศาสตร์สอนไว้ แต่คนไม่เรียนรู้ ประชาธิปไตยไทยจึงได้แต่รูปแบบ เปลือกกะพี้ มีการเลือกตั้งก็เหมือนพิธีกรรมทางการเมืองเรื่องการไปกาบัตร ไม่ได้มีกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ไม่ได้มีการติดตามตรวจสอบต่อเนื่อง แม้มีการเมืองท้องถิ่น มีอบต. มีเทศบาล มีการเลือกตั้ง ก็เป็นการเลียนแบบการเมืองระดับชาติ มีการฉ้อฉลทุกรูปแบบเริ่มจากการซื้อเสียง เข้าไปถอนทุน ไม่ใช่การพัฒนาบ้านเมืองด้วยแนวคิดนโยบายอะไรที่มาจากภาคประชาชน อย่างที่ประเทศประชาธิปไตยเจริญแล้วเขาทำกัน ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ประชาชนต้องมีบทบาทสำคัญตลอดเวลาในการปกครองตนเอง ด้วยกลไกต่างๆ ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ก็มีการลงประชามติ (referendum) เรื่องสำคัญๆ ก็มีการทำประชาพิจารณ์ (public hearing) บ้านเรามีมากกว่านั้น เรียกว่า “ประชาคม” ซึ่งที่ไหนเขาก็ทำกัน การประชุมขอความเห็นในระดับชุมชน คนไทยยืมคำนี้มาจากทำว่าประชาคมที่แปลจาก community ความจริง ประชาคมเป็นกระบวนการที่ดี ที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในเรื่องสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อชุมชน แต่ในทางปฏิบัติ “ประชาคม” เป็นเพียงเครื่องมือของ “อำนาจนำ” ในการสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง เพื่อ “อนุมัติ” โครงการไม่ใช่กระบวนการเรียนรู้ การให้ข้อมูลความรู้ไปสู่การตัดสินใจร่วมกัน แต่เป็นการจัดแบบบิดเบือน จ้างคนหรือเรียกคนเห็นด้วยมายกมือก็มี ประชาธิปไตยที่ไม่มีฐานความรู้ เป็นประชาธิปไตยที่ไร้วิญญาณ ไร้จิตสำนึก จึงถูกครอบงำ ถูกบิดเบือน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเขาให้เวลาประชาชนได้เรียนรู้ร่วมกัน ถกเถียงกัน สังคมวันนี้มีเวทีเปิดกว้าง มีสมาร์ทโฟนที่น่าจะทำให้เกิดประชาธิปไตย “ทางตรง” ได้ เหมือนที่ประเทศพัฒนาเขาใช้ไม่ว่าเพื่อการระดมคนไปชุมนุม เดินขบวน เผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ความคิดเห็น คนอย่างคุณอานันท์ อาจเป็น “ราชาปราชญ์” ในระบอบการปกครองที่เพลโต นักปรัชญากรีกชื่นชอบ เพลโตไม่เห็นด้วยกับ “ประชาธิปไตย” เพราะถ้าคนส่วนใหญ่ไม่ดี ไม่มีความรู้ ก็จะทำให้สังคมมีปัญหา เหมือนที่ชาวเอเธนส์ตัดสินประหารชีวิตโสคราติส อาจารย์ของเขา เพราะสอนให้คนคิดเป็น สอนว่าคุณธรรมคือความรู้ ไม่ใช่การบูชาเทพเจ้าหรือยอมสยบต่อผู้นำ น่าเสียดายว่าประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หาราชาปราชญ์ได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้นำที่ใช้อำนาจเผด็จการแบบมักเกียแวลลีมากกว่า ที่ใช้วิธีไหนก็ได้ ขอให้ได้อำนาจและรักษาอำนาจไว้เท่านั้น การเลือกตั้ง กทม. และพัทยา จะดีจะเลวอย่างน้อยก็สะท้อนเสียงของประชชนได้ไม่น้อยว่าต้องการอะไร เป็นอีกก้าวสำคัญของประชาธิปไตย ที่ควรขยายไปยังจังหวัดต่างๆ ปฏิรูประบบที่ซ้ำซ้อน กระจายอำนาจ งบประมาณ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะอ้างความไม่พร้อมของจังหวัด เหตุผลเดียว คือ ความไม่พร้อมของอำนาจรัฐและการเป็นรัฐราชการมากกว่า