เสือตัวที่ 6 ความคุกรุ่นตึงเครียดในภูมิภาคยุโรปตะวันออกโดยเฉพาะภูมิภาคดอนบัส เกิดขึ้นจากการก่อสงครามของรัสเซียที่มีต่อยูเครน ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครนที่ฝักใฝ่รัสเซียและต่อต้านรัฐบาลยูเครนในมณฑลโดเนตสก์ และลูฮันสก์ หรือที่มักเรียกรวมกันว่าดอนบัส จากการที่รัสเซียแสดงจุดยืนชัดเจนมาโดยตลอดว่าไม่ต้องการให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation: NATO) ขยายอิทธิพลในยุโรปตะวันออก และไม่ต้องการให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิก จนได้ลุกลามไปสู่สภาวะสงครามทางทหารตั้งแต่ 24 ก.พ.65 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน สงครามทางทหารก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด เพราะยูเครนเองก็มียักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ เป็นผู้ให้การสนับสนุนการต่อสู้กับรัสเซียต่อยูเครนในทุกรูปแบบ ทั้งการเงินงบประมาณและกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ จนกระทั่งลุกลามไปสู่สงครามทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกที่ยากจะคาดเดาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ว่าจะเลวร้ายลงไปขนาดไหน แต่กระนั้น อย่างน้อยๆ ที่ผู้คนทั่วโลกก็กำลังได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งของรัสเซียกับยูเครนและพันธมิตรกันอย่างหนักหนาสาหัสทั่วหน้า ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ตลอดจนทุกประเทศในโลกกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ทะยานสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากสภาวะความตกต่ำทางเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจระดับจุลภาคในครัวเรือนที่ผู้คนทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้นั้น กำลังขยายตัวลุกลามอย่างเงียบๆ ในรูปแบบสงครามเย็นทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ท่ามกลางจังหวะก้าวของผู้นำประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาที่กำลังขับเคลื่อนย่างก้าวใหม่ในภูมิภาคเอเซีย บนวาระซ่อนเร้นที่กำลังถูกจับจ้องของประชาคมโลกและผู้นำเอเซียว่า สหรัฐฯ กำลังเดินเกมระดับยุทธศาสตร์ในการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ ผ่านการประชุมเอเซีย-แปซิฟิค ที่กำลังเริ่มต้นอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่งของสหรัฐฯ หลังจากห่างหายไประยะหนึ่งในช่วยประธานาธิบดียุคก่อนหน้านี้ โดยย่างก้าวเพื่อยุทธศาสตร์ดังกล่าวของโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ล่าสุดนี้ก็คือ การเดินทางเยือนญี่ปุ่น ผ่านการประชุมสุดยอดของกลุ่ม 4 ฝ่าย ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หรือที่เรียกว่า Quad (Quadrilateral Security Dialogue ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังคณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงท่าทีที่จะส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคีของกลุ่ม Quad อีกครั้ง โดยนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐระบุว่า เป็นรากฐานเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของสหรัฐในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของประธานาธิบดีไบเดนเมื่อ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมานี้ นับเป็นครั้งแรกของผู้นำสหรัฐฯ หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดยได้พบกับนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น นายฟูมิโอะ คิชิดะ และเข้าเฝ้าฯ จักรพรรดิ นารูฮิโตะในวันวันถัดไป (23 พ.ค.) จากนั้นเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่ม 4 ประเทศ (Quad : Quadrilateral Security Dialogue) เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี แอนโธนี อัลบานีส ผู้นำคนใหม่ของออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในฐานะผู้นำของกลุ่มประเทศ Quad และในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีไบเดนจะเปิดตัวโครงการริเริ่มการค้าระดับภูมิภาค กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งมีการนำเสนอในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม เพื่อจัดระเบียบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ และในช่วงหนึ่งของวาระนี้ ประธานาธิบดีไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวย้ำเจตนารมณ์ของสหรัฐฯ อย่างชัดเจนว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คือสมรภูมิสำคัญในการแข่งขันของสหรัฐฯ ในมิติต่างๆ ที่จะกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ โดยตรง ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่าจีนเป็นคู่แข่งหลักของสหรัฐฯ ทั้งในระยะนี้และในอนาคต ในขณะที่ในห้วงเวลานี้ สหรัฐฯ ก็กำลังมีความท้าทายจากประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งหลักของสหรัฐฯ ในภูมิภาคยุโรปอีกด้วย ในโอกาสนี้ นอกจากความมุ่งประสงค์เชิงลึกที่ต้องการปิดล้อมทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งกำลังแผ่ขยายอิทธิพลในเอเซียในทุกมิติอย่างต่อเนื่องทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจผ่านอภิมหาโครงการ อย่างเช่นเส้นทางสายไหมใหม่ในศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า One Belt One Road โดยโครงการนี้มีเป้าประสงค์เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ระหว่าง 60 ประเทศ ซึ่งมีรายได้ประชาชาติรวมกันคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 50 ของรายได้ประชาชาติของโลกแล้ว ประธานาธิบดีไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ยังได้กดดันให้นายโมดี ผู้นำประเทศอินเดีย ใช้มาตรการที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อรัสเซีย หลังจากที่อินเดียมีท่าทีวางตัวเป็นกลางต่อการที่รัสเซียปฏิบัติการพิเศษทางทหารโจมตียูเครน ด้วยอินเดียแสดงท่าทีชัดเจนในการไม่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการเดินหน้ากดดันเพื่อสร้างสงครามทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย โดยอินเดียยังคงซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซีย ทั้งยังงดออกเสียงต่อมติของสหประชาชาติในการระงับสมาชิกภาพของรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (UNHRC) ที่ผ่านมาอีกด้วย ท่าทีที่สหรัฐฯ กำลังขับเคลื่อนหนนี้จึงไม่ใช่การขับเคลื่อนทางการเมืองระหว่างประเทศในภาวะปกติที่ต้องการสร้างสรรค์ผลประโยชน์ของชาติเพื่อความเจริญก้าวหน้าของหลายๆ ประเทศที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆ กันอย่างแท้จริง ทุกย่างก้าวของผู้นำมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ช่วงเวลานี้ จึงมีวาระที่อาจแอบซ่อนอยู่บนผลประโยชน์ของชาติตนเป็นสำคัญ ซึ่งผู้นำประเทศทั้งหลายน่าจะมองไม่ยาก การเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ตลอดจนการประชุมพหุภาคีในเวทีต่างๆ อย่างถี่ยิบของผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงนี้ จึงย่อมมีผลประโยชน์ของชาติสหรัฐฯ เป็นที่ตั้ง ทั้งการแข่งขันช่วงชิงการนำของโลกต่อคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ ในขณะนี้ ซึ่งก็คือรัสเซียในภูมิภาคยุโรป และจีนในภูมิภาคเอเชีย เพราะหากปล่อยให้คู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งสองประเทศนี้เติบโตเข้มแข็งยิ่งขึ้น ในไม่ช้าจะกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติสหรัฐฯ อย่างเห็นได้ชัด ท่ามกลางสภาวะตึงเครียดจากการแย่งชิงการนำของมหาอำนาจของโลก ทุกประเทศในโลก จึงกำลังประสบปัญหาวิกฤตที่ทำให้การค้า การลงทุนหยุดชะงัก ทั้งจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด และต้องเผชิญหน้ากับปัญหาค่าพลังงานสูงขึ้น ค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งในยูเครน และการปิดล้อมทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน ทำให้ท่าทีของผู้นำประเทศ ต่างให้ความระมัดระวังอย่างที่สุดต่อกรณีการให้ความร่วมมือกับมหาอำนาจทั้งหลาย โดยเฉพาะปลายปีนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอปค (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ซึ่งไทยต้องดำเนินงานการเมืองระหว่างประเทศอย่างรอบคอบโดยมีเป้าหมายสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของชาติตนเป็นสำคัญเช่นกัน