เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

           

รัฐบาลใดมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ในสี่เรื่องนี้ จะสร้างรากฐานการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญพัฒนา

           

ขณะที่โลกวิกฤติอาหารและพลังงาน บ้านเราวิกฤติความรู้และอำนาจ ซึ่งพลอยให้เรามีวิกฤติอาหารและพลังงานไปด้วย ทั้งๆ ที่มีศักยภาพเพียงพอเพื่อพึ่งพาตนเอง แต่เพราะเรามีปัญหาเรื่องการศึกษาและการรวมศูนย์อำนาจ รวมศูนย์งบประมาณ ทรัพยากร ผูกขาดโดยคนกลุ่มหนึ่ง (oligarch) ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

           

ปีนี้ไทยส่งออกไก่ ข้าว น้ำตาลทราย กุ้ง เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์มะพร้าว สับปะรด น้ำผลไม้ และอาหารอื่นๆ ส่งไปทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 มูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท แต่ราคาข้าวเปลือกก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ชาวนาก็ยังยากจนและจนลงไปอีกเพราะต้องซื้อน้ำมัน ข้าวปลาอาหารและทุกอย่างแพง

           

น้ำมัน ก๊าซ แพงขึ้นไม่หยุด ทั้งๆ ที่เรามีน้ำมันจากใต้ดิน จากทะเล และบนดิน จากปาล์ม อ้อย มัน และพืชอีกมากมาย รวมไปถึงขยะ แต่ก็สะดุดขาตัวเองเพราะการจัดการที่ลูบหน้าปะจมูก ติดอิทธิพลและผลประโยชน์ของ oligarch ที่มีทั้งบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กร

           

เกิดวิกฤติรุนแรงเพราะโควิด สงคราม ภูมิอากาศ เงินเฟ้อ ประเทศต่างๆ เริ่มมาตรการปกป้องตนเอง (self protectionism) ไม่ให้ประชากรของตนเองเดือดร้อน เช่น อินโดนีเซีย หยุดการส่งออกน้ำมันปาล์มไประยะหนึ่ง อินเดียหยุดส่งออกข้าวสาลี  แค่นี้ก็ส่งผลกระทบไปทั่ว ไทยไม่มีมาตรการแบบนี้ ส่งออกได้เงินดีกว่า แม้ว่าคนในประเทศต้องซื้อข้าวของแพงขึ้น 

           

โลกหลังโลกาภิวัตน์เปลี่ยนไปแบบหักมุม จีนที่ใช้มาตรการ “ซีโร่โควิด” ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปจากประเทศไทยนับสิบล้านคนมากว่าสองปีแล้ว ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ได้ด้วยการท่องเที่ยวก็มีปัญหาหมด ซึ่งหลังโควิดก็ใช่ว่าจะกลับมาเหมือนเดิม

           

ขณะที่ประเทศต่างๆ ปฏิรูปการศึกษาให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ “คนมีความรู้เท่านั้นจะอยู่รอดได้” “คนไม่มีความรู้จะถูกเขาโกง  ถูกเขาหลอก และเอาเปรียบได้ง่าย”

           

ขณะที่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรบอกว่า “ถามผมว่า สามอย่างที่สำคัญที่สุดในรัฐบาลของผมคืออะไร ผมจะตอบว่า การศึกษา การศึกษา และการศึกษา” บ้านเราประกาศว่าจะปฏิรูปการศึกษามานานหลายสิบปี แต่ไม่มีผล

 

คงเป็นเพราะ “วิสัยทัศน์ที่ขาดปฏิบัติการเป็นฝันกลางวัน” และ “ปฏิบัติการที่ขาดวิสัยทัศน์เป็นฝันร้าย” และบ้านเมืองก็ยังไม่ตื่นจากฝันร้าย

           

คนไม่ได้เกิดมาโง่จนเจ็บ แต่ถูกทำให้เป็นเช่นนั้น เพราะอำนาจในสังคมที่ครอบงำ กำหนดวิถีชีวิตความเป็นไปของบ้านเมืองด้วยวิสัยทัศน์ที่สลัวมัวเมาและเห็นแต่ประโยน์ของตนและพวกพ้อง

           

ปัญหาบ้านเมืองหลายปัญหาใหญ่เกินกว่าที่ผู้มีอำนาจและรัฐบาลจะแก้ไขได้แต่เพียงผู้เดียว และปัญหาจำนวนมากก็เล็กเกินไป เหมือนขี่ช้างไล่จับตั๊กแตน แต่การปกครองแบบรวมศูนย์ก็รวมเอาปัญหาสารพัดมาไว้กับตัว การเดินขบวน การประท้วงจึงมารวมอยู่ที่ศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯ

           

ขณะที่เกาหลีใต้เคยมีการเดินขบวน การกระท้วง การปะทะระหว่างนักศึกษาประชาชนกับตำรวจแทบทุกวัน เมื่อมีการกระจายอำนาจ เหตุการณ์รายวันเหล่านั้นก็หายไป ประชาชนปกครองตนเองได้ดีกว่า ทุกคนร่วมกันแก้ไขปัญหาพัฒนาบ้านเมือง ถึงได้ก้าวหน้าไปรวดเร็ว กลายเป็นประเทศพัฒนา หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางไปนานแล้ว เขาเน้นปฏิรูปกลไกสำคัญสองอย่าง คือ การศึกษาและกระจายอำนาจ

           

ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่ก็คือกรุงเทพฯ เพราะทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่นี่ ส่วนอื่นๆ ของประเทศเป็นเพียง “ชายขอบ” (periphery) ของศูนย์กลางนี้ (center) อำนาจการปกครอง ไม่ว่าส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่นก็ขึ้นอยู่กับส่วนกลาง  เช่นเดียวกับการผลิตต่างๆ จากเศรษฐกิจย่อยมายังเศรษฐกิจใหญ่  ผู้คนนอกเมืองหลวงเป็นประชาชนนอก อยู่ชายขอบ เป็นแรงงานแรงหนุนที่ได้รับเพียง “เศษเนื้อข้างเขียง” เท่านั้น 

           

ระบบโครงสร้างเช่นนี้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องรื้อสร้างให้ได้เสาหลัก 4 เสาที่แข็งแรง ให้เป็น “สี่ทันสมัยไทย” คือ อาหาร พลังงาน ความรู้ อำนาจ

           

การเลือกตั้งกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า ประชาชนต้องการอะไร อยากบอกอะไรกับรัฐบาลและผู้มีอำนาจ การเลือกตั้งกรุงเทพฯ ทุกครั้งมี “สาร” และให้บทเรียนสังคมไทยเสมอ

           

กรุงเทพฯ ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ มานาน เพราะคนกรุงเทพฯ อยู่ใกล้ศูนย์กลางอำนาจ กดดันทุกรูปแบบ คนกรุงเทพฯ มีความรู้ มีสำนึกในสิทธิ ความเท่าเทียม มีเศรษฐกิจดี มีความคิดทางการเมืองและสังคมประชาธิปไตย ถึงพูดกันว่า “คนชนบทเลือก คนกรุงเทพฯ ล้ม” หรือ “สองนคราประชาธิปไตย”

           

ถ้าต้องการให้บ้านเมืองพัฒนาแบบยั่งยืนจริง การกระจายอำนาจ การให้เลือกผู้ว่าฯในจังหวัดต่างๆ อย่างเดียวไม่พอ ต้องทำการปฏิรูปทั้ง 4 อย่างไปพร้อมกัน อาหาร พลังงาน ความรู้ อำนาจ ต้องรื้อกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพลังงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย ให้ได้วิญญาณประชาธิปไตยในระบบโครงสร้าง

           

ผลการเลือกตั้งที่กรุงเทพฯ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ยกเลิกการเป็นเมืองชายขอบให้จังหวัดต่างๆ ยกเลิกประชาชนนอก ให้มีแต่พลเมืองเท่าเทียมที่มีจิตสำนึกและสิทธิที่ได้รับการเคารพ

           

การเลือกตั้งครั้งหน้า น่าจะเป็นอีกก้าวหนึ่งให้สังคมไทยได้ปรับเปลี่ยนตนเอง ผ่านกระบวนการที่ไม่ใช่แค่ไปหย่อนบัตรลงหีบ แต่มาร่วมกันเลือกคนเลือกพรรคที่จะเป็นแกนนำในการปฏิรูปบ้านเมือง

           

ความจริง เพียงเอา 17 เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติที่ไทยก็ไปลงนาม มาทำให้เห็นผลภายใต้กรอบ “4 ทันสมัยไทย” บ้านเมืองจะอยู่ดีกินดี อยู่เย็นเป็นสุขอย่างแน่นอน