เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

 

รากเหง้า คือ ดีเอ็นเอหรือพันธุกรรมที่มีความสำคัญในการสร้างภูมิต้านทาน ที่ต้องได้รับการฟูมฟักฟื้นฟูดูแลและพัฒนาจากปัจเจก ครอบครัว ชุมชน และสังคม

           

ถ้ารากเหง้าไม่สำคัญ รัฐบาลแคนาดาคงไม่ต้องขอโทษชาวพื้นเมืองที่เรามักเรียกว่า “อินเดียนแดง” ชาวเดนมาร์กไม่ต้องขอโทษชาวอินูอิ หรือเอสกิโม ชาวออสเตรเลียไม่ต้องขอโทษคนพื้นเมืองอะบอริจินอล

           

เหตุผลสำคัญ คือ รัฐบาลเหล่านี้ได้ทำลายรากเหง้าของชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดของพวกเขามาพันๆ ปีก่อนที่คนขาวจะเข้ามารุกรานเข่นฆ่า ทำลายวัฒนธรรม และทำให้ลูกหลานของพวกเขาลืมรากเหง้า โดยการกลืนหรือครอบงำ

           

จะอ้างว่า ได้ให้การศึกษาและทำให้มีงานทำ มีสถานะทางสังคม คนพื้นเมืองบอกว่าเป็นความปรารถนาดีที่ประสงค์ร้าย เพราะแม้พวกเขาอาจมีแทบทุกอย่าง แต่ขาดสิ่งที่สำคัญที่สุดไป คือ อัตลักษณ์ของตนเอง พวกเขาไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร มาจากไหน ไม่มีรากเหง้า

           

เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน มหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย และมหาวิทยาลัยวอชิงตันได้สั่งซื้อหนังสือ Back to the Roots (คืนสู่รากเหง้า) ที่รวมบทความของผมและเพื่อนๆ โดยอาจารย์ที่นั่นบอกว่า เอาไปประกอบการเรียนการสอนนักศึกษาที่จะไปทำงานกับคนพื้นเมือง (“อินเดียนแดง”)

           

หนังสือเล่มนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการไทยและเทศในเวทีไทยศีกษาในประเทศและต่างประเทศว่า เป็นประเภทโลกสวย โรแมนติก โหยหาสวรรค์หาย ในความเป็นจริงไม่มีชุมชนอะไรแบบนั้น

           

เมื่อ “เจ้าชายน้อย” เดินทางมาถึงโลก ตื่นเต้นว่าจะได้พบผู้คนจำนวนมาก แต่ผิดหวังเพราะพบเพียงไม่กี่คน ถามดอกไม้ว่าคนหายไปไหน ดอกไม้ตอบว่า คนไม่มีรากเหง้า ลมพัดมาแรงๆ หายไปในทะเลทรายหมดเลย

           

เมื่อปลายปี 2531 ฝนตกสามวันสามคืนที่ภาคใต้ ดินหินถล่มจากเขาหลวงลงมาทั้งสองฟาก ทำลาย วัด โรงเรียน บ้านเรือนที่คีรีวงไปไม่น้อย คนเสียชีวิต 12 คน อีกฝากหนึ่ง กระทูนถูกทำลายมากกว่า ชนชุมชนที่เหลือต้องอพยพไปตั้งถิ่นฐานในที่ใหม่

           

สาเหตุที่ฟากคีรีวง แม้ว่าสูงชันกว่าได้รับความเสียหายน้อยกว่า เพราะชาวคีรีวงทำ “สวนสมรม” หรือสวนผลไม้ในป่า จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของป่าเขา ขณะที่ฟากกระทูนถางป่าปลูกยางพารา ซึ่งโตด้วยปุ๋ย ไม่มีรากแก้ว ไม่มีภูมิต้านทานยึดพื้นยึดดิน จึงถอนต้นถอนโคนลงไปถล่มบ้านเรือนด้านล่างราบเป็นหน้ากลอง

           

ปีเดียวกัน 2531 นั้น มูลนิธิหมู่บ้านได้รับการขอร้องจากชาวคีรีวงให้ลงไปช่วยวิจัยชุมชน เพื่อ “รื้อสร้าง”ระบบเศรษฐกิจชุมชน ก่อนที่จะเก็บข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ ผลผลิต สินทรัพย์ การออม และกิจการต่างๆ ทีมมูลนิธิได้สืบค้นหารากเหง้าของชาวคีรีวงผ่านคนเฒ่าคนแก่และพงศาวดารในหอสมุดแห่งชาติ ได้ข้อสรุปว่า บรรพบุรุษของพวกเขาเป็นไพร่หนีนายเข้าไปอยู่ในหุบเขาหลวงสองร้อยปี เพิ่งออกมาสู่โลกภายนอกเมื่อปี 2505

           

ชุมชนคีรีวงปกครองตนเองมากว่าสองร้อยปี และในปี 2531 มีกลุ่มออมทรัพย์ที่ไม่จดทะเลียนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเงินกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าเอกสารต่างๆ ถูกกระแสน้ำพัดพาไปหมด เงินออมก็ไม่ได้เสียหายเลยแม้แต่น้อย มีทุนทางสังคมที่โอบอุ้มทุนทรัพยากรทั้งเงินและธรรมชาติ

           

ความไว้วางใจ ไม่ว่าในชุมชน ในธรรมชาติ ทำให้กลุ่มออมทรัพย์ได้รับการฟื้นฟูเพราะ “เอกสารในใจ” ของพวกเขาไม่ได้รับความเสียหาย แต่กลับเข้มแข็งกว่าเดิม ทรัพยากรธรรมชาติก็ได้รับการฟื้นฟูเพราะพวกเขา “ปลูกไม้ใว้ในใจ” มาตั้งแต่สองร้อยปีก่อน ที่บรรพบุรุษได้พึ่งพาอาศัยตลอดมา

           

หนังสือเล่มเล็ก “จากไพร่หนีนายถึงธนาคารแห่งขุนเขา” บอกเล่าเรี่องราวทั้งหมดนี้ของคีรีวง

           

ก่อนนั้น มูลนิธิหมู่บ้านได้ทำงานฟื้นฟูรากเหง้ากับชนเผ่าที่อีสานอย่างชาวกะเลิงที่ภูพาน คือ อินแปง ชาวโส้ที่กุสุมาลย์  สกลนคร ชาวเนียะกูรญ์ หรือชาวบน ที่เทพสถิต ชัยภูมิ ชาวกุย ที่พลับพลาชัย บุรีรัมย์

           

เป็นงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับชุมชนเพื่อค้นหารากเหง้าของตนเอง ซึ่งทำให้ชนเผ่าเหล่านี้เกิดความเชื่อมั่นและภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเอง ได้พัฒนาภูมิต้านทานชีวิตที่ทำให้พวกเขาเดินตัวตรง แหงนดูฟ้าก้มหน้าดูดินได้อย่างเชื่อมั่น

           

เพราะพวกเขามีรากเหง้า รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน จึงรู้ว่าจะไปทางไหน พวกเขารู้อดีตจึงรู้อนาคต เพราะ “คนไม่มีรากเหง้าจะถูกเขาครอบงำและกำหนดอนาคตให้หมดเลย” และในอดีตที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้น จนวันหนึ่งพวกเขาเกิดจิตสำนึกใหม่ ฟื้นฟูสิ่งที่หายไปให้กลับคืนมา

           

เหมือนที่เจริญ ดีนุ ชาวปะกาเกอะญอ จากแม่วาง เชียงใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิต ศิษย์ป.ตรีและป.โท ที่ถอดรหัสภูมิปัญญาและใช้ดนตรีกับเพลงชนเผ่ามาพัฒนาจิตสำนึกของเด็กเยาวชนให้ภูมิใจในตนเอง ฟูมฟักอัตลักษณ์ที่ยังเป็นหน่ออ่อน หรือฝังอยู่ใต้ดิน เพราะถูกกลบกลายเป็นปมด้อยที่ถูกดูถูกมาช้านาน

           

เหล่านี้ไม่ได้มีแต่เมืองไทย เป็นปรากฏการณ์สากล อย่างคนซาร์ดีเนียกลางเกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอายุยืน เพราะพวกเขาสืบทอดคุณค่าดั้งเดิม มีรากเหง้า มีภูมิต้านทานโรคภัยใข้เจ็บที่มากับสังคมยุคใหม่ ขณะที่คนในเมืองใหญ่ชายทะเลรอบเกาะและทั่วไปในอิตาลีไม่มี จึงเจ็บป่วยมากกว่า อายุสั้นกว่า

           

การคืนสู้รากเหง้าไม่ใช่การกลับไปมีชีวิตเหมือนในอดีต แต่คือการเรียนรู้คุณค่าและสืบทอดให้สมสมัย  งานวิจัยไปถามคนซาร์ดีเนียอายุเกินร้อยปีทุกคนตอบเหมือนกันว่า ไม่ต้องการกลับไปมีชีวิตเหมือนในอดีต แต่ต้องการอยู่ในสังคมใหม่ โลกใหม่ ด้วยจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง เป็นตัวของตัวเอง เหมือนบรรพบุรุษ

           

รากเหง้า คือ สิ่งที่เราต้องดูแลรักษาพัฒนาเอง ผ่านครอบครัวและชุมชน ชนเผ่า โดยไม่ถูกครอบงำจากสังคมใหญ่ ที่ใช้ทุนนิยมและชาตินิยมเป็นเครื่องมือในการครอบงำทำลายรากเหง้าและอัตลักษณ์ของเรา ให้ทุกคนคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน รูปแบบเดียว ไม่ยอมรับความหลากหลาย ความแตกต่าง อันเป็นพลังสำคัญและภูมิต้านทานของรากเหง้า