รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังไล่ล่าทุกคนในยุคนี้ !!! ... อาทิ

1. องค์กรเกิดการเรียนรู้ว่า งานประจำ (routine tasks) ที่เกี่ยวข้องกับการประสานงาน (coordination) และการทำธุรกรรม (transactions) เป็นงานที่บุคลากรสามารถทำที่ไหนก็ได้ แต่พื้นฐานสำคัญคือความร่วมมือในการทำงานของทีมงานอย่างจริงจัง และภายหลังของการระบาดของโควิด-19 รูปแบบการทำงานจะมีลักษณะผสมผสาน ‘hybrid combination’ ระหว่างการทำงานระยะไกลกับการทำงานแบบเผชิญหน้าร่วมกัน (อ่านเพิ่มเติมที่ https://sloanreview.mit.edu/wp-content/uploads/
2021/02/281fbd42375597209888f80010e07e25.pdf)

 

2. โควิด-19  ส่งผลกระทบต่อทุกคนและทุกที่ ความไม่แน่นอน (uncertainty) แผ่กระจายไปในทุกทิศทางและกว้างขวาง
ทั้งในเรื่องการดำเนินชีวิตประจำวัน ชีวิตการทำงาน การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต เป็นต้น ในด้านชีวิตการทำงานพบว่าผลงานและจิตใจของบุคลากร (performance & mental health) ย่ำแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของสมอง (brain) ที่ถูกรบกวนทำให้การคิดอย่างมีเหตุผล การทำงานร่วมกัน และการแก้ปัญหาต่าง ๆ เสื่อมถอย ซึ่งมีผลถึงผลิตภาพโดยรวมขององค์กร (อ่านเพิ่มเติมที่ https://superhumain.org/en/change-management-neuroleaders-uncertainty/)

 

3. “The Great Resignation” หรือ “การลาออกจากงานครั้งใหญ่” เป็นกระแสการลาออกจากงานจำนวนมากของบุคลากรในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อโควิด-19 คลี่คลายและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากคนทำงานกลับมาทบทวนตัวเองใหม่ว่าต้องการมีชีวิตการทำงานในรูปแบบอย่างไร ทำให้คนทำงานคาดหวังถึงการทำงานที่เปลี่ยนไปและมีความคาดหวังที่จะได้รับในสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมจากองค์กร โดยมีสถิติที่น่าตกใจคือ ประเทศสหรัฐอเมริกามีคนลาออกทำสูงสุดอยู่ที่ราว
เดือนละ 4 ล้านคน ในช่วงเดือนเมษายนและกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติมที่ https://adecco.co.th/en/knowledge-center/detail/the-great-resignation)

 

4. “Perfect storm” หรือ “พายุเศรษฐกิจ” กรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประะเทศกล่าวไว้ในการประชุม World Economic Forum เมื่อเดือนพ.ค. 2565 ที่ผ่านมาว่าโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่ท้าทายที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในรอบ 80 ปี ปัจจัยที่ก่อให้เกิด Perfect storm เช่น การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร ความผันผวนในตลาดการเงินโลก กิจกรรมทางเศรษฐกินต่ำ ภาวะเงินเฟ้อสูง ค่าจ้างต่ำกว่าความเป็นจริง (อ่านเพิ่มเติมที่ https://thestandard.co/kobsak-warned-world-might-face-perfect-storm/)

 

5. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) และ Metaverse การมาถึงของ AI ทำให้การทำงานสะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้นทำให้กระบวนการทำงานบางอย่างหายไป ซึ่ง AI จะเข้ามาแทนที่การทำงานของคนงานบางกลุ่ม ขณะที่ Metaverse จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ในการทำงานบนโลกคู่ขนานระหว่างโลกจริงและโลกเสมือน ทำให้คนทำงานต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและพัฒนาทักษะการทำงานใหม่เพื่อความอยู่รอด

 

“ความคิดของผู้นำ” (Leaders’ mindsets) คือปัจจัยสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

 

ผู้นำองค์กรต้องปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยการบ่มเพาะความคิดใหม่เพื่อสร้างความสำเร็จก้าวใหม่ ๆ ที่ไม่ยึดติดกับความสำเร็จเก่า ๆ (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.entrepreneur.com/article/424507) ดังนี้

 

 จัดการกับความไม่รู้ (Handling the world of unknowns) ผู้นำต้องทำตัวใกล้ชิดกับบุคลากรหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับองค์กร ปรับความคิดให้เป็นคนใฝ่เรียนรู้และถ่อมตนเพื่อซึมซับสิ่งใหม่ สิ่งใดไม่แน่ใจต้องถามหรือหาคำตอบให้มั่นใจก่อน รวมถึงการรับฟังและสังเกตเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยประกอบการตัดสินใจ

 

 เปลี่ยนแปลงค่านิยมในตัวผู้นำ (Transformative values for leaders) ผู้นำต้องมองโลกในแง่ดี มีความคิด
เชิงบวก มุ่งเน้นทำในสิ่งที่ควบคุมและดำเนินการได้ก่อน แต่ไม่หาข้อแก้ตัวเมื่อผิดพลาดหรือล้มเหลว หมั่นสร้างความไว้วางใจเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับและศรัทธาในระยะยาว

 

 ยอมรับการเปลี่ยนแปลง (Embracing change) ผู้นำต้องลืมความสำเร็จที่เคยทำมาแล้วในอดีต ไม่ยึดติดกับสูตรความสำเร็จเดิม เพราะบริบทโลกเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมใหม่แล้ว ผู้นำต้องเชื่อมั่นในการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นและถาโถมเข้าหาองค์กร

 

คนคือด่านหน้าของกลยุทธ์ (People are at the forefront of strategy) ผู้นำต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรหรือคนในองค์กรเป็นสิ่งแรกสุด เพราะกลยุทธ์องค์กรขับเคลื่อนด้วยบุคลากรและคนในองค์กร พยายามสื่อสารให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในสิ่งที่องค์กรต้องการบรรลุผล ตลอดจนเคารพในความคิดเห็นและมุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล

 

ผู้นำที่พยายามปรับเปลี่ยนมุมมองและความคิดตนเองด้วยความมุ่งมั่น ใฝ่รู้ และอ่อนน้อม ความสำเร็จท่ามกลางวิกฤตและความเปลี่ยนแปลงคงไม่ไกลเกินเอื้อม !!!

 

ความคาดหวังของบุคลากรที่มีต่อผู้นำท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

 

ผลการวิจัยของ SUPERHUMAIN เมื่อไม่นานมานี้ ชี้ว่าในช่วงเวลาวิกฤติ ปั่นป่วน เปลี่ยนแปลง เต็มไปด้วยความรู้สึกที่ไม่มีอะไรแน่นอน และขาดความปลอดภัย บุคลากรคาดหวังในตัวผู้นำองค์กร 3 ประการ ได้แก่ 1) การตัดสินใจเรื่องใด ๆ ต้องตั้งอยู่บนความโปร่งใสและมีเหตุผล 2) การให้ความช่วยเหลือบุคลากรต้องกระทำด้วยความชัดเจน และ 3) ผู้นำต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าการทำลายล้าง    

 

นอกจากนี้ ผู้นำองค์กรต้องวางตัวนิ่ง ๆ สบาย ๆ ภายใต้ภายสถานการณ์ที่คลุมเครือและไม่แน่นอน หากเป็นไปได้ก็ให้พยายามตัดหรือลดความไม่แน่นอนต่าง ๆ ออกไป และทำตัวให้สดใส กระปรี้กระเปร่า ไม่หวั่นวิตกกังวล  และไม่เครียดหรือกดดันตนเองจนเกินไป

 

การเป็นผู้นำในยุคการเปลี่ยนแปลงเป็นความท้าทายของผู้นำที่ “หิน” จริง ๆ ครับ...เป็นกำลังใจให้กับผู้นำทุก ๆ ท่านครับ...