คอลัมน์ ตะเกียงเจ้าพายุ ทวี สุรฤทธิกุล ทหารจะอยู่ค้ำฟ้าไปได้ถึงไหนในทางการเมืองไทย? คำตอบก็คือขึ้นอยู่กับ “ความเข้มแข็งของทหาร” อันประกอบด้วยปัจจัยทางด้านโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง ร่วมกับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศที่รุมล้อม ใครที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยอาจจะพอทราบมาบ้างว่า ทหารมีความสำคัญอยู่ในระบบการเมืองการปกครองไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หนึ่งก็คือ เป็นตัวผู้ปกครองเอง เพราะกษัตริย์ต้องเป็นนักรบ ต้องสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่คนในชาติด้วยการมีกองทัพที่เข้มแข็ง สองก็คือ ต้องมีกองทัพไว้คอยค้ำจุนราชบัลลังก์ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพคือความมั่นคงและความต่อเนื่องของราชบัลลังก์ และสามก็คือ ทหารคือผู้จัดการความสงบเรียบร้อยที่ทรงแสนยานุภาพมากที่สุด ด้วยขนาดของจำนวนคน(ทหาร) อาวุธยุทโธปกรณ์ และระเบียบวินัย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทหารก็ยังคงมีหน้าที่ในการค้ำจุนราชบัลลังก์ แต่ได้เพิ่มความเข้มแข็งขึ้นในกองทัพด้วยการเพิ่มอุดมการณ์ของความเป็น “ชาติ” คือเน้น “ความรักชาติ – การปกป้องรักษาอธิปไตยของชาติ” เข้าไปในหมู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนสนับสนุนกองทัพ อย่างเช่นแนวคิดเรื่อง “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” รวมถึงสร้างความเป็น “นักพัฒนา” ด้วยการเข้าไปมีส่วนนำในโครงการพัฒนาต่างๆ และขยายบทบาทด้านความมั่นคงให้มากขึ้น โดยเฉพาะในภารกิจลับและการค้ำจุนรัฐบาล อย่างไรก็ตามในโลกสมัยใหม่ที่ภาวะการคุกคามจากสงครามทั้งภายในและภายนอกประเทศลดลง กองทัพในหลายๆ ประเทศได้ปรับตัวไปอย่างมาก อย่างเช่น การลดขนาดกำลังของกองทัพ แต่ไปเพิ่มด้านเทคโนโลยีและประสิทธิภาพของยุทโธปกรณ์ ทั้งนี้ยุทธวิธีในการต่อสู้ก็เปลี่ยนแปลงไป จากการสู้รบแบบเผชิญหน้าและประทะด้วยกำลังคน ก็เปลี่ยนเป็นต่อสู้ทางการสื่อสารและการประทะทางข้อมูลข่าวสาร ในหลายประเทศ(ที่เป็นประชาธิปไตย)ได้เปลี่ยนจากระบบการเกณฑ์ทหารไปเป็น “ทหารจ้าง” หรือเข้ามาเป็นทหารด้วยความสมัครใจ รวมถึงความรู้สึก “ความเกลียดชังระหว่างชนชาติ” ก็ไม่ได้รุนแรงเหมือนแต่ก่อน แต่เป็นประเด็นของความขัดแย้งที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ได้เน้นการรบราฆ่าฟันกัน ทหารในหลายๆ ประเทศถูกควบคุมโดยระบบรัฐสภา แม้แต่ในประเทศจีนที่มีกองทัพขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและปกครองด้วยระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ก็ยังมีสภาประชาชน(แม้จะถูกกำกับด้วยคณะกรมการเมืองหรือโปลิตบูโรแบบจีน)เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า “ทหารเป็นของประชาชน” กล่าวง่ายๆ ก็คือทหารในโลกสมัยใหม่ไม่ได้มี “สิทธิพิเศษ” หรือ “อำนาจเหนือ” องค์กรการเมืองอื่นๆ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับหรือควบคุมด้วยองค์กรหลักทางการเมืองการปกครอง คือรัฐสภาหรือองค์กรแกนนำทางการเมือง หลายวันก่อนนี้ ผู้เขียนได้ร่วมเสวนากับนักรัฐศาสตร์อาวุโสท่านหนึ่ง ท่านมีความห่วงใยว่า “ความเข้มแข็งของทหารไทยกำลังอยู่ในภาวะที่อันตราย” ประการแรก ทหารไทยยังยึดบทบาทอยู่ในแนวทางจารีต พูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือยังคิดว่ากองทัพคือกำลังหลักในการปกป้องและรักษาความมั่นคงทุกชนิดของประเทศ แต่ว่า “ความมั่นคงบางเรื่อง” นั้นน่าจะยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ทหารจะรับภาระดังกล่าวได้โดยลำพัง โดยเฉพาะในสภาพสังคมไทยที่มีความแตกแยก ร่วมกับการสื่อสารในโลกโซเชียลที่ “สับสน” และโน้มเอียงไปในการใช้การสื่อสารนั้นๆ เป็นประโยชน์ในกลุ่มตน ประการต่อมา ผู้นำทหารค่อนข้างจะ “ลุ่มหลง” ว่าประชาชนสนับสนุนทหาร แม้จะพอคิดได้ว่าอาจจะไม่ยั่งยืนมั่นคงเท่าใดนัก แต่ทหารกลุ่มนี้ก็เชื่อว่าคนไทย “ไม่มีทางเลือกอื่น” จำเป็นต้องพึ่งทหารไม่ว่าในวิกฤติใดๆ (น้ำท่วม ภัยพิบัติต่างๆ ประท้วงไม่เลิก ฆ่ากัน ฯลฯ) คล้ายๆ กับทหารจะมีความเชื่อว่าคนไทยชอบ “งอมืองอเท้า” และไม่ชอบยุงเกี่ยวทางการเมือง ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดและจะย้อนทำลายทหารในเวลาต่อไป อีกประการหนึ่ง ทหารในระดับบนมีความมั่นใจว่า ด้วยผลประโยชน์ต่างๆ ทางการเมือง เช่น ตำแหน่ง สนช.ในปัจจุบัน และ ส.ว.ในอนาคต จะสามารถแบ่งปันและกระจายความ “ชื่นชอบ” ต่อผู้นำกองทัพ(แต่ส่วนใหญ่เป็นอดีต)ช่วยค้ำจัน “บัลลังก์” ของผู้นำเหล่านี้ได้ ซึ่งก็เป็นความคิดที่ผิดเพราะผลประโยชน์ทางการเมืองนั้นมีจำกัด(เว้นแต่จะไปทำทุจริต) และเป็นตำแหน่งที่ต้องมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ลองนึกภาพดูว่าหลังการเลือกตั้ง(ที่ว่าจะมีในปลายปี 2560 หรืออย่างช้าต้นปี 2561) สมมุติว่ากลุ่มการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็น “กลุ่มเก่า” ซึ่งมีความช่ำชองในกลยุทธทางการเมืองพร้อมท่อน้ำเลี้ยงที่อุดมสมบูรณ์ ในขณะที่ในวุฒิสภา(ที่ทหารคิดว่าควบคุมได้)มีแต่ข้าราชการและทหารแก่ๆ ที่ขาดประสบการณ์ทางการเมือง เมื่อเกิดการประทะกันก็คงจะเป็นบรรยากาศที่น่าดูชม ซึ่งก็คงไม่ยากแก่การพยากรณ์ว่าใครจะแพ้หรือชนะ และทหาร(ที่มีอำนาจ)จะควบคุม “วิกฤติ” นี้ได้หรือไม่ คำกวีท่านว่าไว้ “แข็งเท่าแข็ง ผลประโยชน์ง้าง อ่อนได้ดังประสงค์”