ทวี สุรฤทธิกุล

สื่อมวลชนยุคใหม่ต้องเข้าใจ “มวลชน” ร่วมกับ “ปัจเจกชน”

ย้อนเวลากลับไป 72 ปี เมื่อวันที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ท่านเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นท่านยังบวชเป็นพระอยู่มี่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อถวายอุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 คุณสละ ลิขิตกุล เจ้าของนามปากกา “ทหารเก่า” ผู้เป็นมิตรน้ำหมึกคอลัมนิสต์ร่วมสมัยกับท่านมาตั้งแต่ครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาบอกว่ามีโรงพิมพ์แห่งหนึ่งจะขายเครื่องพิมพ์เก่าในราคาถูก “เอามาทำหนังสือพิมพ์ดีไหม?” คุณสละเอ่ย ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ถามว่าเขาจะขายเท่าไหร่ คุณสละก็ตอบว่า “ไม่กี่พัน” (คิดเป็นเงินสมัยนี้ก็คงจะเป็นแสน) ท่านคิดอยู่ครู่หนึ่งก็เซ็นต์เช็คให้กับคุณสละ

คุณสละมาบอกท่านในเวลาอีกไม่นานต่อมาว่า “โรงพิมพ์เสร็จแล้ว” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็สึกออกมาเป็นนักหนังสือพิมพ์เต็มตัว เริ่มแรกนั้นมีท่านกับคุณสละเท่านั้นที่เป็นคอลัมนิสต์ประจำ แต่ก็มีนักเขียนคนอื่น ๆ อีก 2-3 คน หมุนเวียนมาเสริมเพื่อเขียนให้เต็มกระดาษ 2 คู่พับกลาง จำนวน 8 หน้า โดยท่านและคุณสละต้องเขียนคนละ 2-3 คอลัมน์เป็นอย่างน้อย แล้วก็จ้างคนวิ่งหาข่าวมาอีก 2-3 คน ให้คุณสละเป็นบรรณาธิการ ตรวจปรู๊ฟ เรียงหน้า จัดหน้า และบางวันก็ลงไปช่วยเรียงตัวพิมพ์ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า “เหนื่อยแต่สนุก”                  

เริ่มต้น สยามรัฐจะเน้นทำข่าวเกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่เคยตั้งพรรคประชาธิปัตย์และเคยเป็น ส.ส. กับรัฐมนตรีมาแล้ว มีอดีตเป็น “ดาวดัง” ในทางการเมือง จึงมีแฟนคลับเป็นจำนวนมาก ท่านได้ชื่อว่า “ส.ส.ปากตระไกร” เนื่องด้วยเป็น ส.ส.ที่อภิปรายได้คมคายเผ็ดร้อน ดังนั้นพอมาเขียนหนังสือพิมพ์ก็ยังรักษาแนวสำนวนแบบนั้นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพาดหัว การเขียนข่าว การเขียนคอลัมน์ บทกลอน การตอบปัญหา เรื่องสั้นและนวนิยาย ก็มีผู้ติดตามอ่านมากมาย โดยที่ขายดีในยุคแรก ๆ คือพวกเรื่องจีน เช่นเรื่อง เบ้งเฮ็ก และฮวนนั๊ง ที่เป็นเรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์ รวมถึงนิยายล้อเลียนการเมืองที่ท่านเอามาจากเรื่องสามก๊ก เช่น เรื่องโจโฉนายกตลอดกาล ทำให้หนังสือพิมพ์สยามรัฐเติบโตอย่างก้าวกระโดด                  

แต่ที่ทำให้สยามรัฐ “แข็งแกร่ง” ก็คือการแสดงจุดยืนเป็นสื่อมวลชนที่เข้าใจ “มวลชน” ตอนนั้นเป็นช่วงผลัดแผ่นดินจากรัชกาลที่ 8 มาสู่รัชกาลที่ 9 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านบอกว่าช่วงนั้นท่านเกิดนึกถึง “หม่อมแดง”ท่านแม่ของท่านที่เป็นชาววัง ก็เลยอยากเขียนแค่ “เรื่องของชาววัง” จึงเอาแม่พลอยขึ้นมาเป็นนางเอก เพื่อเป็นตัวแทนของชาววัง เมื่อเล่าเรื่องชีวิตของแม่พลอยก็จะได้บรรยายเรื่องของชาววังเสียให้หายคิดถึงท่านแม่ เนื่องจากตอนที่ท่านเป็นเด็กเล็กพอจำความได้ ก็ได้ติดตามท่านแม่เข้านอกออกในเทียวไปเทียวมาที่ในวังหลวง พระตำหนักในพราราชวังสวนดุสิต และวังพญาไท ซึ่งบรรดาเพื่อน ๆ และญาติ ๆ ของท่านแม่ยังคงทำหน้าที่สนองเบื้องพระยุคลบาทรัชกาลที่ 6 ที่ทรงครองราชย์อยู่ช่วงนั้น                  

เพียงฉบับแรกที่นวนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ออกสู่สายตาผู้อ่าน ก็ได้รับเสียงต้อนรับเป็นที่ฮือฮา หนังสือพิมพ์ที่ออกในเวลาประมาณบ่ายสามโมงของทุกวัน ก็ขายหมดอย่างรวดเร็ว จนต้องเพิ่มยอดพิมพ์และออกขายอีกครั้งในบ่ายวันนั้น วันต่อ ๆ มาก็ต้องเพิ่มยอดพิมพ์มากขึ้น ๆ แม้กระทั่งในเวลาเที่ยง ๆ ที่หนังสือพิมพ์เพิ่งขึ้นแท่น ผู้อ่านก็มายืนรอซื้ออยู่หน้าโรงพิมพ์เป็นจำนวนมาก จนสายส่งบ่นงึมงำและต้องส่งคนมาคอยแบ่งหนังสือพิมพ์ไปส่งให้ขาประจำที่เป็นลูกค้าสั่งซื้อ(สมัยต่อมาก็คือผู้อ่านที่เป็นสมาชิกนั่นเอง) เพื่อไม่ลูกค้าขาประจำเสียอารมณ์ แต่นั่นก็ยิ่งทำให้สยามรัฐยิ่งขายดี แบบที่ในสมัยนี้อาจจะเรียกว่าเป็น “ไวรัล” นั่นเอง                  

นักวิชาการด้านวรรณกรรมท่านหนึ่งเคยให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า นวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินสามารถ “จับจุด” กระแสความรู้สึกของประชาชนในช่วงเวลานั้นได้ดีมาก ๆ รวมทั้งผู้เขียนคือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็มีความสามารถในการเขียน จนเขียนออกมาได้อย่าง “จับใจ” ผู้อ่าน นั่นก็คือ “กระแสถวิลหวังในพระมหากษัตริย์” ซึ่งน่าจะเกิดจากการสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 8 ที่พบชะตากรรมอันน่าหดหู่ ตั้งแต่ที่ต้องมาเป็นพระมหากษัตริย์ในภาวะ “อันตรายรอบด้าน” ในยุคที่ “คณะราษฎรครองเมือง” และพอสิ้นพระชนม์ก็ทำให้คนไทยรู้สึกสะเทือนใจและ “หวงแหน” ในองค์พระมหากษัตริย์ โดยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เป็นตัวแทนของความหวงแหนเป็นที่ยิ่งนั้น ด้วยเหตุนี้พอสี่แผ่นดินเขียนออกมาให้เห็นถึง “ความสูงส่งของพระมหากษัตริย์” ที่ถ่ายทอดออกมาทางอารมณ์และความรู้สึกของ “แม่พลอย” ก็ยิ่งทำให้คนไทยรักและหวงแหนพระมหากษัตริย์มากยิ่งขึ้น                  

หนังสือพิมพ์สมัยนั้นยังไม่เป็น “ธุรกิจของนายทุนสื่อมวลชน” แต่เป็น “กระบอกเสียงของมวลชน” คือนำเสนอข่าวและเรื่องราวที่อยู่ในกระแสของผู้คนจำนวนมากที่เรียกว่า “มวลชน” นั้น โดยหนังสือพิมพ์สยามรัฐเติบโตมาพร้อมกับ “ความไม่ไว้วางใจทหาร” ซึ่งเป็นกระแสความรู้สึกของผู้คนจำนวนมากในยุคนั้น โดยเฉพาะบรรดาผู้คนที่เรียกว่า “ปัญญาชน” ซึ่งเป็นผู้อ่านส่วนใหญ่ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ที่ก็มีกระแสความรู้สึก “ไม่เอาทหาร” อยู่บ้างแล้ว และเมื่อมีผู้มาร่วมปลุกกระแสนี้ออกมาโดยหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ก็ยิ่งทำให้ผู้คนออกมาร่วมแสดงอารมณ์นั้นมากขึ้น พร้อมกับยอดขายหนังสือพิมพ์สยามรัฐที่มากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศในช่วงก่อนกึ่งพุทธกาลนั้น                  

“กระแสไม่ไว้วางใจทหาร” ที่นำมาสู่กระแสไม่เอาทหารในเวลาต่อมา ไม่ได้เกิดจากการ “ปั่นกระแส” ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์โดยตรง แต่เป็นความรู้สึกของคนไทยที่ฝังแน่นมาตั้งแต่ที่เกิดรัฐประหารยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั่นแล้ว ซึ่งมีรายละเอียดที่ต้องใช้เนื้อที่ในการอธิบายพอสมควร ผู้เขียนในฐานะอาจารย์ทางรัฐศาสตร์ก็เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้บทความนี้เมื่อก่อนหน้านี้มาพอสมควร แต่เพื่อที่จะสืบเนื่องเชื่อมโยงมาให้เห็นถึงการทำหนังสือพิมพ์ รวมถึงต่อไปที่จะได้เชื่อมโยงมาถึงสื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน ก็คงจะขอใช้หน้าบทความนี้มาอธิบายเพิ่มอีก                  

สื่อมวลชนในปัจจุบันมีการปรับตัวไปตามยุคสมัยไปมากพอสมควร แต่ที่ปรับไปมากที่สุดก็คือ หลาย ๆ สื่อได้กลายเป็น “สื่อปัจเจกชน” มากกว่าที่เคยเป็น “สื่อมวลชน” เรื่องนี้ผู้เขียนก็อยากนำมาขยายความด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้สื่อในยุคนี้ “เปี๊ยนไป”              

บางทีก็ “อยากชมอะไรก็ชม - อยากข่มอะไรก็ข่ม” แต่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์สยามรัฐอย่างแน่นอน