เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit           

ภาพนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียยืนอยู่ท่ามกลางผู้นำ G7  พบประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนที่กรุงเคียฟ นั่งโต๊ะกับประธานาธิบดีปูตินที่กรุงมอสโก โลกประทับใจในความเป็นผู้นำของเขา           

ดูเขามีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่สะทกสะท้าน เตรียมการเป็นผู้จัดการประชุม G20 ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เขาไปยูเครนและรัสเซีย เพื่อเชิญผู้นำประเทศทั้งสองเข้าร่วม โดยไม่ได้คิดสละสิทธิ์ในการจัดไม่ว่าด้วยเหตุผลใด (อย่างที่มีคนแนะนำให้ไทยสละสิทธิ์จัดการประชุมเอเปกปลายปีนี้)           

จากประวัติของประธานาธิบดีวัย 54 ผู้นี้ ไม่มีเหตุผลที่เขาจะขาดความเชื่อมั่นในตัวเองเมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ เขามาจากการเลือกตั้ง ไต่เต้าจากการเป็นนายกเทศมนตรีสุรการ์ตาบ้านเกิด 7 ปี แล้วเป็นผู้ว่าฯ จาการ์ตา เมืองหลวง 2 ปี เป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2014 ได้รับเลือกตั้งสมัยที่สองเมื่อปี 2019           

“โจโกวี” ชื่อที่ใครๆ เรียกประธานาธิบดีท่านนี้อย่างสนิทสนม มาจากสามัญชนชาวบ้านธรรมดา ไม่ใช่ทหารหรือผู้มีสถานะและอำนาจทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองเหมือนผู้นำคนก่อนๆ  เขามีรากเหง้ามาจากชุมชนท้องถิ่น ที่ผ่านประสบการณ์การทำธุรกิจเล็กๆ การทำเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัว ก่อนจะเข้าสู่การเมือง           

เขามาถูกที่ถูกเวลา เพราะประชาสังคมของอินโดนีเซียเข้มแข็ง จึงเป็นฐานให้เขาขึ้นสู่การเป็นผู้นำได้ หลังจากที่อินโดนีเซียอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการมาถึง 30 ปี (1968-1998)  มีระยะเปลี่ยนผ่านตั้งแต่ 1998 มาอย่างน่าศึกษา ว่าทำอย่างไรจึงทำให้ “ทหาร” กลับกรมกองได้ ทำหน้าที่ป้องกันประเทศ ไม่ใช่มาเป็นรัฐบาล           

อย่างไรก็ตาม คงต้องยกเครดิตให้ “ผู้นำ” อินโดนีเซียตั้งแต่ 1998 ที่ผ่านมาด้วย แต่ที่โดดเด่นที่สุดคงเป็น “โจโกวี” คนนี้ ที่มีผลงานติดตาผู้คนตั้งแต่เป็นนายกเทศมนตรีที่บ้านเกิด มาจนถึงผลงานที่จาการ์ตา

ความจริงก็เป็นไปตามหน้าที่ของผู้บริหารทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการจัดระเบียบถนนหนทาง เศรษฐกิจชุมชน โดยส่งเสริมตลาดนัด จัดให้มีที่พบปะสังสรรค์ สันทนาการ การเรียนรู้ จนชื่อเสียงของเขาโด่งดังไปทั่ว

ที่อินโดนีเซียมีการวิเคราะห์ว่า โจโกวีประสบความสำเร็จ ไม่ว่าระดับท้องถิ่น หรือระดับประเทศ เพราะเขามี “ปฏิสัมพันธ์” ดีเยี่ยมกับประชาชน  เขาเข้าใจปัญหาและความต้องการของประชาชน

ที่สำคัญ เขามีความสัตย์ซื่อ (integrity) ไม่ด่างพร้อย ไม่โกงกิน และพยายามกำจัดปัญหาดังกล่าวในการบริหาร มีธรรมาภิบาล ทำให้ได้ใจประชาชนที่ต้องทนกับเรื่องคอร์รัปชันมานาน ทำตัวติดดิน มีชีวิตที่เรียบง่ายทั้งตัวเองและภรรยา เดินทางเครื่องบินชั้นประหยัดไม่ว่าในฐานะทางการหรือส่วนตัว

ประธานาธิบดีอินโดนีเซียท่านนี้มีปัญญาบารมีและความกล้าหาญทางจริยธรรม บวกกับเจตจำนวนทางการเมืองที่ตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชน จึงได้รับการยอมรับในประเทศที่มีประชากร 275 ล้านคนที่ร้อยละ 86 เป็นมุสลิม นับเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในโลก กระจายอยู่ใน 17,500 เกาะ  และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ  ท่าทีของเขาชัดเจนว่า ต้องแยกศาสนาจากการเมือง

พิจารณาชีวิตและบทบาทหน้าที่ของ “โจโกวี” แล้วนึกถึง “อันโตนิโอ กรัมชี” เจ้าของแนวคิด “อำนาจนำ” (hegemony) และ “ปัญญาชนคนใน” (organic intellectual)

อำนาจนำมักมองกันแต่ในแง่ลบ คือ การครอบงำประชาชนโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจสังคม จนไม่มีการต่อต้าน ตอบโต้ ยอมรับโดยดี ด้วยวิธีการที่แยบยลของผู้มีวาทศิลป์และสร้างวาทกรรมทางการเมือง (demagogue) ที่ใช้สื่อมวลชน โซเชียลมีเดีย เหล่านี้ คือ สิ่งที่ผู้นำไม่ว่ามาจากรัฐประหารหรือการเลือกตั้งทำกัน

ดูประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ ดูผู้นำ ดูระบอบการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจสังคมแตกต่างกันมาก พม่า เวียดนาม ลาว ก็ทางหนึ่ง ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็แบบหนึ่ง ไทยไม่ค่อยเหมือนใคร สวิงไปมาระหว่างการทำรัฐประหารกับการเลือกตั้ง เหมือนยังสับสนเรื่อง “ประชาธิปไตย” ที่ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรดี

แต่ไม่ว่าระบอบใด วิธีการใด ลองพิจารณา “อำนาจนำ” ในประเทศเหล่านี้ แล้วมาพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียวันนี้ที่ได้พยายามลบล้าง “อำนาจนำ” ด้านลบของผู้นำ ด้วยการต่อสู้ของประชาชนมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และได้รับเอกราชตั้งแต่ 1945 ว่าเป็นมาอย่างไร

การต่อสู้เพื่ออำนาจในประเทศสมาชิกอาเซียนสวิงไปมาอย่างน่าประหลาดใจ อย่างกรณีฟิลิปปินส์ที่บุตรชายของอดีตประธานาธิบดีมาร์กอสได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีต่อจากนายดูเตร์เต ที่ร่วมมือกันสานต่อ อำนาจ จึงเห็นบุตรสาวของดูเตร์เตได้เป็นรองประธานาธิบดี ทั่วโลกจับตาว่าจะนำฟิลิปปินส์ไปทางใด

นักวิเคราะห์ไม่เชื่อว่า การเมืองอินโดนีเซียต่อจากนี้ไปจะหวนกลับไปสู่อำนาจเผด็จการไม่ว่าโดยทหารหรือพลเรือนอีก เพราะเห็นว่า สิบปีของประธานาธิบดีผู้นี้ อินโดนีเซียได้สร้างระบบที่เป็นภูมิคุ้มกันตนเองได้พอสมควรแล้ว และกำลังพยายามก้าวไปเป็นประเทศพัฒนา ด้วยการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพ เป็นหลักประกันให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปในอินโดนีเซียมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

อีกคำหนึ่ง คือ “ปัญญาชนคนใน” (organic intellectual) เห็นได้ชัดเจนในตัว “โจโกวี” ที่มีรากเหง้าจากชุมชนท้องถิ่น พัฒนาตัวเองจาก “ปัญญาชนชาวบ้าน” บริหารท้องถิ่นขึ้นไปถึงการเป็นผู้นำประเทศ แสดงให้เห็นศักยภาพของ “ชาวบ้าน” ที่หากมีโอกาสก็สามารถพัฒนาตนเองได้ไม่แพ้คนที่ร่ำรวยโอกาสตั้งแต่เกิด

ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา มีการกระจายอำนาจ ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น ภาคประชาสังคมก็เน้นการทำงานระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐ การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้นอกระบบ การส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นของคนรากหญ้า

ที่สำคัญ ภาคประชาสังคมของอินโดนีเซียมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ประสานงานกันทั้งในระดับพื้นที่ และในประเด็นร่วมต่างๆ โดยอาศัยสื่อทันสมัย สร้างฐานรากให้การพัฒนาประเทศและความมั่นคงทางการเมือง  ผู้นำที่ดีอย่างโจโกวี ผสานกับประชาสังคมเข้มแข็ง เป็นการผนึกพลังที่ให้ผลทวีคูณ