เสรี พงศ์พิศ

www.phongphit.com

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันผู้คนจำนวนมากเชื่อว่า ฟ้าที่เต็มไปด้วยดาวระยิบระยับสามารถบอกหรือกำหนด “ชะตาชีวิต-แผนที่ชีวิต” ของคนเราได้ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ตอนหัวรุ่ง มองฟ้าทางตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤศจิกายน จะเห็นเมฆหมอกสีขาวเป็นทางยาวเต็มไปด้วยดวงดาว นั่นคือทางช้างเผือก ที่ฝรั่งเรียกว่า “ทางน้ำนม” (Milky Way) เพราะมีตำนานกรีกบอกว่า เทพซุสนำบุตรที่เกิดจากมนุษย์ไปกินนมเฮรา ภรรยาของตนซึ่งเป็นเทพ เพื่อให้ทารกเป็นอมตะด้วย เมื่อเฮราตื่น เห็นทารกที่ไม่ใช่บุตรตนกินนมก็สะบัดออก นมเลยหกเต็มฟ้า

ไทยเราเรียกว่า ทางช้างเผือก เชื่อว่าช้างเผือกเป็นบารมีของพระมหากษัตริย์ มาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นทางที่เหล่าช้างเผือกเดินทางมาสู่โลก

ดาวบนฟ้าในประเพณีทั้งตะวันตกตะวันออก ล้วนสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ นอกจากตำนานต่างๆ ก็เป็น “วิชา” ที่เรียกว่า “โหราศาสตร์” ที่บรรดาโหรทั้งหลายใช้วิถีของดวงดาว หรือ “จักรราศี” เพื่อตอบคำถามที่คนอยากรู้เกี่ยวกับชีวิตของตน เกี่ยวกับความเป็นไปของสังคม ของโลก

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า โหราศาสตร์ คือ วิทยาศาสตร์เทียม เพราะไม่มีวิธีวิทยาของวิทยาศาสตร์ ไม่มีความสม่ำเสมอ มีแต่การคาดการณ์ เปรียบเทียบสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตว่าจะเกิดในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร

นักดาราศาสตร์บอกว่า ดาวที่เราเห็นดวยตาเปล่าวันนี้ เป็นแสงที่มาจากดาวนมนาน เป็นร้อยเป็นพันเป็นล้านปี เพราะดาวเหล่านั้นอยู่ห่างจากโลกไกลเป็นปีแสง แบบนับเป็นกิโลเมตรได้ไม่ถ้วน วันนี้ดาวจึงไม่อยู่ที่เดิมแล้ว เพราะจักรวาลขยายตัวด้วยความเร็วทวีคูณตลอดเวลา

โหรใช้จักรราศีที่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้บริบทสังคมเปลี่ยนไป ก็ทำนายทายทัก “ตามตำรา” ที่ว่ากันว่ามีเป็นร้อยเล่มเกวียนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โหรพูดครอบคลุมอาจจะถูกบ้าง คนก็เชื่อที่ถูก และมองข้ามที่ผิดซึ่งมีมากกว่า แต่คนก็ยังชอบดูหมอดูดวง เพราะตัวเองมีข้อจำกัด อยากรู้อะไรมากกว่าที่ตนเองรู้ในโลกสามมิติ

ดาวที่เราเห็นด้วยตาเปล่าเป็นดาวในกาแล็กซีทางช้างเผือก  ภาพแรกจากกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์ มีดาวที่สว่างไสวเป็นแฉก นักดาราศาสตร์บอกว่า นั่นคือดาวจากกาแล็กซีทางช้างเผือก ที่อยู่ใกล้โลกที่สุด

กาแล็กซีคือกลุ่มดาว ก๊าซ ฝุ่น ที่รวมกันอยู่ด้วยแรงดึงดูดของศูนย์กลางที่เป็นหลุมดำ ทางช้างเผือกมีหลุมดำที่กล้องทั่วโลกรวมตัวกันถ่ายภาพจนได้ข้อมูลชัดเจนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลุมดำนี้มีชื่อว่า Sagittarius A ที่แปลว่า คล้ายคันธนู มีมวล 4 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์  อยู่ห่างจากโลก 25,800 ปีแสง

ระบบสุริยะของเราเป็น “บริวาร” ของทางช้างเผือก และต้องใช้เวลา 214 ล้านปีเพื่อหมุนรอบกาแล็กซีนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 2 ล้านล้านกาแล็กซีในเอกภพ

กาแล็กซีทางช้างเผือกมีความกว้าง 100,000-200,000 ปีแสง หนา 1,000 ปีแสง มีดาวอยู่ 100,00-400,000 ล้านดวง  ดาวเก่าแก่ที่สุดของกาแล็กซีนี้มีอายุเกือบต้นๆ ของเอกภพ หรือกว่า 13,500 ล้านปี

ภาพหลุมดำศูนย์กลางทางช้างเผือกจะช่วยให้เข้าใจว่าหลุมดำเกิดขึ้นและวิวัฒนาการมาอย่างไร เพราะมีหลุมดำในทุกกาแล็กซี แม้วันนี้ไม่มีใครสงสัยเรื่องหลุมดำว่ามีจริงหรือไม่ แต่ก็มีทฤษฎีที่แย้งกันเรื่องหลุมดำที่มืดมิดและมีพลังดึงดูดทำลายล้างดาวเก่าและก่อให้เกิดดาวใหม่ว่า มีจุดที่เป็น “อนันต์” (infinite) ที่เมื่อสสารต่างๆ รวมกันบีบกันเข้าจนถึงจุดที่เล็กกว่าอนุภาคเล็กที่สุดที่เข้าใจกันในฟิสิกส์

นี่คือสิ่งที่จอร์จ เลอแมตร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์บาทหลวงชาวเบลเยียม (1894-1966) ที่พบว่าจักรวาลขยายตัว เรียกจุดอนันต์นี้ว่า “อะตอมแรกเริ่ม” (primeval atom) หรือ “ไข่อวกาศ” (cosmic egg) ที่วันนี้เรียกว่า “singularity” (ไทยแปลกันว่า ภาวะเอกฐาน)

มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่บางคน (อย่างนิโกเดม โพพลาสกี ที่มีคนยกย่องว่าเป็นไอนส์ไตน์คนใหม่) ที่ไม่เชื่อว่ามีภาวะเอกฐาน แต่มีกระบวนการภาวะบีบทับที่คล้ายกันที่นำไปสู่เอกภพใหม่ ที่เชื่อว่ามีหลายเอกภพ

บนท้องฟ้ายามสดใสไร้เมฆหมอก เราจะเห็นกลุ่มดาวในบางกาแล็กซีด้วยตาเปล่าอย่างอันดรอเมดา ที่อยู่ใกล้ทางช้างเผือกมากที่สุด มีขนาดกว้างใหญ่กว่าสองเท่า ห่างจากโลกเรา 2.5 ล้านปีแสง อีก 4-5 พันล้านปีอันดรอเมดาจะชนกับทางช้างเผือก และอาจจะสลายหรือกลายเป็นกาแล็กซีใหม่ กลุ่มดาวอันดรอเมดาเห็นได้ในคืนฟ้าใส อยู่สูงสุดบนฟ้าตอนสามทุ่มเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

ความเข้าใจเรื่องเอกภพ (universe) ที่เราเรียกสลับกับคำว่า จักรวาล (อย่างมิสยูนิเวอร์ส) อาจสับสนสำหรับคนทั่วไปเช่นเดียวกับอีกหลายคำ จึงมีผู้เปรียบเทียบว่า เอกภพหรือจักรวาลเปรียบเหมือนมหาสมุทร กาแล็กซีเป็นล้านๆ เปรียบได้กับเรือใหญ่น้อยที่ลอยอยู่ในน้ำ ส่วนดาวต่างๆ เหมือนคนที่อยู่ในเรือเหล่านั้น

โหราศาสตร์ในตะวันตกกลับมามีชีวิตหลัง “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ในยุโรปยุคทศวรรษที่ 1960 “ยุคใหม่” (New Age) การฟื้นภูมิปัญญาเก่าแก่ โดยเฉพาะภูมิปัญญาตะวันออกที่ได้รับการยอมรับทาง “วิชาการ” มากขึ้น (ดู เต๋าแห่งฟิสิกส์ ของฟริตจ๊อฟ คาปรา และงานของเดวิด โบห์ม นักฟิสิกส์แนวหน้าทั้งสองคน)

โหราศาสตร์จึงไม่ได้ถูกปฏิเสธเสียทีเดียว โดยถูกถือว่าเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน เช่นเดียวกับแพทย์แผนโบราณ ซึ่งก็ช่วยดูแลสุขภาพของคนได้ระดับหนึ่ง แต่ก็มิอาจไปเทียบกับแพทย์แผนปัจจุบันได้ แม้ “ดวงดาว” ถูกโต้แย้งว่าไม่ได้มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ ยังมีคนมีญาณ คนลงองค์ทรงเจ้าเข้ามาเกี่ยวมาผสานกันแยกไม่ออกเพื่อหาคำอธิบาย แม้จะถือว่าเป็นเรื่อง “ความเชื่อ” ไปจนถึง “งมงายไสยศาสตร์” ก็ตาม

ที่สำคัญ บรรดาโหรและคนมีญาณ มีองค์ มีบทบาทเป็น “นักจิตวิทยา” ที่ทำให้คนคลายเครียด สร้างความหวัง ไม่อหังการ อ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น รู้ว่าตนเองไม่ได้เก่งกล้าสามารถและกำหนดทุกอย่างได้

โหราศาสตร์กับดาราศาสตร์ คือ ชะตากรรมกับเจตจำนงเสรี ที่อยู่คู่กันมานาน และคงอีกนาน