เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com มหากาพย์รามายณะอายุ 2,400 ปีของอินเดียเป็นที่มาของวรรณดีรามเกียรติ์ซึ่งสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ ทำให้คนไทยได้รู้จักทศกัณฐ์ พระราม พระลักษณ์ หนุมาน และตัวละครต่างๆ มหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่นี้เป็น “เทพปรณัม” (mythology) เป็น “ตำนาน” ที่เกี่ยวกับเทพเจ้า ซึ่งสัมพันธ์กับโลก กับมนุษย์ ความเป็นมาเป็นไปของสรรพสิ่ง เป็นตำนานที่มาพร้อมกับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ที่แพร่เข้ามาในอุษาคเนย์ และได้กลายเป็นความเชื่อที่ผสานกับวรรณกรรมในสยาม กัมพูชา ลาว พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมื่อเป็นเทพปรกรณัมก็กลายเป็นเรื่องศาสนา ความเชื่อความศรัทธา คนที่เชื่ออย่างแน่นแฟ้นจึงเห็นว่า เรื่องต่างๆ อยู่เขตแดนศักดิ์สิทธิ์ (sacred) ไม่ใช่เขตแดนธรรมดา หรือสาธารณ์ หรือสามัญ (profane) จะเอามาทำเป็นเรื่อง “เล่นๆ “ ไม่ได้ เพราะจะทำให้หมดความศักดืศิทธิ์ ความขลังไป แต่คนที่ไม่เชื่อไม่ศรัทธา หรือเชื่อบ้างแต่ใจกว้างเปิดรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ของวัฒนธรรมก็ไม่เห็นว่าการนำเรื่องราวต่างๆ มาประยุกต์ มานำเสนอด้วยจุดมุ่งหมายที่ดีเป็นปัญหา ไม่น่าเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออะไรที่ถูกตั้งไว้ในเขตแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่เช่นนั้น คงไม่มีใครกล้าเอาชื่อเทพเจ้าแห่งทะเลของกรีกอย่างโพไซดอนมาเป็นชื่อสถานอาบอบนวด เอาชื่อวีนัส อเธน่า อาพอลโล และอื่นๆ มาเป็นชื่อห้องอาหาร บาร์ เธค คาเฟ่ ในบางโรงแรม และคงไม่มีใครกล้าแบบหน่วยงานราชการหรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ไปเกณฑ์เอา “ผีตาโขน” มาร่วมขบวนแห่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและนำไปโชว์ต่างประเทศอีกต่างหาก เทพปรณัมเป็น “ตำนาน” (myth) ซึ่งเป็นการนำเอาเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์ (sacred) เข้ามาสู่โลก มาให้ความหมายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก นักมานุษยวิทยาบางคนเรียกว่า “การแสดงองค์ของเทพ” (theophany) ซึ่งเรื่องรามเกียรติเมี่อไปผูกติดกับความเชื่อแบบไทยๆ (ผี-พราหมณ์-พุทธ) ก็ทำให้เรื่องราวต่างๆ เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ใช่สาธารณ์ ที่จะแตะต้อง ดัดแปลง หรือทำให้เป็นเรื่องสามัญจนถึงเรื่องตลกไม่ได้ สำหรับคนหัวอนุรักษ์ สิ่งต่างๆ ในโลกเป็นมา เป็นอยู่ และมีคุณค่าความหมายเพราะมีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจริงอันเหนือธรรมชาตินั้น การนำเอาตัวละครใน “มหากาพย์รามายณะ” ออกมาจากโลกอันศักดิ์สิทธิ์ มาอยู่ในโลกธรรมดาสามัญและสาธารณ์จึงเป็นอะไรที่ไม่ควรทำ เพราะทำให้หมดความหมาย หมดความศักดิ์สิทธิ์ ลดคุณค่าของเรื่องราวเหล่านั้นและอะไรๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น ที่ทำให้เรื่อง “ทศกัณฑ์ชวนเที่ยว” เป็นที่รับไม่ได้สำหรับหลายคน คงเป็นเรื่องที่ไปเกี่ยวกับ “โขน” ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงที่มี “ครู” ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปะ “ชั้นสูง” ของไทย เมื่อมีครูและชั้นสูง จึงกลายเป็น “ของสูง” ก็ไม่ควรลดฐานะลงมาขับโกคาร์ท แคะขนมโครก นั่งรถตุ๊กตุ๊ก คนไทยไม่ว่ารุ่นไหนรู้จักโขน แต่ไม่เคยไปดูและส่วนใหญ่คงไม่อยากดูในรูปแบบเดิมๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ถ้าไม่มีการปรับประยุกต์คงยากที่จะสืบทอดศิลปะชั้นสูงนี้ได้ เพราะอาจจะสูงเกินไปสำหรับคนทั่วไป และพูดคนละ “ภาษา” ที่สื่อสารคนทั่วไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเรื่องรามเกียรติ เรื่องยักษ์ในวรรณคดี แต่เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ที่ยักษ์วัดแจ้ง ยักษ์วัดโพธิ์ถือกระบองมาตีกัน มีไอ้มดแดงมาเกี่ยว อุลตร้าแมนมายุ่ง เป็นหนังไทยที่สนุกสนานมากสำหรับเด็กวันนั้น ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้กันหมดแล้ว หนังเรื่องนั้นและการ์ตูนอื่นๆ ก็ไม่ได้ถูกแบนจากเซ็นเซอร์ อาจเป็นเพราะยังไม่มีกระทรวงวัฒนธรรมอย่างวันนี้ และเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบานก็เป็นได้ ศิลปะไม่ว่าสูงหรือต่ำมีการถ่ายทอดสืบทอดตลอดประวัติศาสตร์ มีการปรับเปลี่ยนตามระบบคุณค่าและรสนิยมของแต่ละยุคสมัย ไม่เช่นนั้นคงไม่มีปีกัสโซ่และภาพวาดวาดหญิงที่ดูเหมือนไม่สมประกอบ จะคงต้องมีแต่โมนาลีซ่าของเลโอนาร์โด ดาวินชี ไม่มีภาพสีน้ำมันของวานโก๊ะ ไม่มีเพลงแจ๊ส เพลงร็อค ดนตรียุคใหม่ มีแต่เดนตรีคลาสสิกยุคบาร็อค หรือยุคโรแมนติก ที่วิวัฒนาการเรื่อยมา ศิลปะพื้นบ้านของไทยที่ยังคงอยู่และได้รับความนิยมวันนี้เพราะมีการปรับเปลี่ยนประยุกต์รูปแบบและเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นหมอลำ หนังตะลุง มโนราห์ แต่ก็คงเอกลักษณ์ไว้ ไม่ว่าเปลี่ยนอย่างไรก็ยังจำได้ แม้แต่เรื่อง “รามายณะ” เอง อินโดนีเซียก็ยังเอาการเต้นบัลเลต์มาใช้เพื่อการแสดง และได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมากเมื่อมาประชันกับโขนและการแสดงแบบอื่นๆ ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเมื่อหลายปีก่อน แต่ถ้าคิดว่าเรื่องบางอย่างเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ (sacred) ที่แตะต้องไม่ได้ กลายเป็นเรื่องเร้นลับรหัสนัย (taboo) ไม่มีส่วนใดที่เป็นธรรมดาและสาธารณ์ให้คนทั่วไปได้เข้าถึง สิ่งเหล่านี้แม้จะยังคงอยู่เพราะมีคนบูชา มีสถาบันปกป้อง ก็จะหมดความหมายและอาจสูญหายตายจากไปในที่สุด เพราะจะมีศิลปะแบบอื่นที่ตอบสนองคุณค่าและรสนิยมของผู้คนได้ดีกว่ามาแทนที่