เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

“ร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ผลงานระดับรางวัลโนเบลของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ถูกยกย่องให้ยิ่งใหญ่ในวงวรรณกรรมสเปนเป็นรองเพียง “ดอนกิโฆเต้” “ร้อยปี” เป็นหนึ่งในหนังสือ 100 เล่มที่ต้องอ่าน

อ่านแล้วจะได้ไม่เพียงรู้จัก “ประวัติสมมุติโดยย่อของละตินอเมริกา” แต่ได้สัมผัสอารมณ์ ความรู้สึก จิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ “ความหมายและความไร้ความหมาย” ของชีวิตผ่านครอบครัวหนึ่งจากรุ่นสู่รุ่น

อยากอ่าน “100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว” ของสังคมไทยในโอกาส 100 ปีนับแต่ 2475 ที่เปิดโฉมหน้า และวิญญาณของสังคมไทย ให้เห็นความขมขื่นและความสิ้นหวังกับสถานการณ์บ้านเมือง ที่เอาความทุกข์ทรมาน ความเป็นความตายของประชาชนมาเล่นในเกมอำนาจของบรรดาผู้นำ พรรคและนักการเมือง

ความคิดคำนึงในยามโควิดปิดบ้าน เมื่ออ่านงานของมาร์เกซกับฮันนาห์ อาแรนท์ กับคาร์ล จัสเปอร์ส “บิดาวิทยานิพนธ์ของเธอ” โยงไปถึงนิทเช่ และมักเกียเวลลี ช่วยให้พอเข้าใจ ปลดปล่อยจาก “ความโดดเดี่ยว” ของการเมืองไทยวันนี้ ที่มีแต่น้ำเน่าและละครลิงโรงใหญ่ให้น่ารังเกียจ

ฮันนาห์ อาแรนท์ นักปรัชญาการเมืองเชื้อสายยิวเยอรมัน ที่หนีภัยนาซีไปอยู่อเมริกา และเขียนหนังสือเล่มโตชื่อว่า “บ่อเกิดของลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ” (The Origin of Totalitarianism) อธิบายละเอียดว่า ลัทธิอำนาจนิยมสุดขั้วนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร โดยใช้นาซีเป็นกรณีศึกษา

เธอบอกว่า แก่นของเผด็จการ คือ การทำลาย “อัตลักษณ์” และ “บุคลิกภาพของบุคคล” ซึ่งเท่ากับทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ คนจึงไม่มีค่าอะไร “ถ้าไม่สร้างผลิตผลและไม่เป็นพวกตน” นาซีจึงจับยิวที่ถูกหาว่าทำลายเศรษฐกิจสังคม จับนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม คนที่คิดเห็นต่างต่อต้าน คนพิการที่ทำงานไม่ได้ คนพหุเพศ เอาคนเหล่านี้ไปขังในค่ายกักกัน ไป “ฆ่าทิ้ง” เกือบหมด

อีกข้อเขียนหนึ่ง เธอสรุปว่า สำหรับบรรดานาซีเหล่านี้ “ความชั่วร้ายเป็นเรื่องธรรมดา” หรือ “สามัญแห่งสามานย์” (the banality of evil) วลีที่เธอใช้รายงานการไปสังเกตการณ์การพิจารณาคดี อดอล์ฟ ไอค์มันน์ นายทหารระดับสูงของนาซีที่เยรูซาเล็ม ที่ทำให้ชาวยิวตายไปนับหมื่นนับแสนโดยอ้างว่าทำตามหน้าที่

อาแรนท์ถูกวิจารณ์หนักตอนแรกที่ใช้วลีนี้ แต่เธอก็อธิบายว่า ไม่ได้ปกป้องคนที่ฆ่ายิว เพียงอยากบอกว่า คนพวกนี้ “จิตสำนึกต่ำตมและตายด้าน” จนมองว่า การฆ่ายิวและคนที่ตนไม่เห็นคุณค่าเป็น “เรื่องธรรมดา” (ไม่ต่างจาก “ฆาตกรรมประชาธิปไตย” ของการซื้อขาย “กล้วย” ใน “โรงละครลิง” ว่าเป็นเรื่องธรรมดา)

อาแรนท์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากคาร์ล จัสเปอร์ส นักปรัชญา นักจิตวิทยา ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเธอที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบอร์ก จัสเปอร์สพูดถึง “มวลชน” ที่ไม่มีอัตลักษณ์ ไม่มีบุคลิกภาพว่า เป็นการยากที่คนวันนี้จะเป็น “ใครสักคน” (to be someone) “มีเอกลักษณ์” คือ เป็นตัวของตัวเอง เพราะจะไปตามกระแส ที่พัดพาไปตามผู้นำ ซึ่งมีทั้งปัจเจกบุคคล สถาบัน องค์กรทางการเมือง รวมไปถึงภาคธุรกิจ

กระแสเหล่านี้ คือ ค่านิยมการกินการอยู่ การใช้ชีวิต ความคิดฝันของผู้คนที่ถูกกำหนด ไม่สามารถคิดได้ ตัดสินใจได้ เลือกได้ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ถูกครอบงำกำหนดจากสังคม

รวมไปถึง “เรื่องเล่าอันยิ่งใหญ่” (the great narratives) ที่สืบทอดมายาวนานนับพันปี อย่างความเชื่อในศาสนาและปรัชญา ซึ่งจัสเปอร์บอกว่า เริ่มจากยุคแกน (axial period) ของประวัติศาสตร์โลกเมื่อ 2,000 ปีก่อน มีผู้นำอย่างขงจื๊อในจีน พระพุทธเจ้าในอินเดีย นักปรัชญาในกรีก และพระเยซูในอิสราเอล

เรื่องเล่าเหล่านี้ให้แนวทางไปสู่ความหลุดพ้น แต่ในเวลาเดียวกันก็มีส่วนที่ครอบงำทำให้ไม่อาจหลุดพ้นได้ ซึ่งเป็นความจริงที่แปลก (paradox) ดังที่ท่านพุทธทาสว่า “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่คนยึดติดแต่รูปแบบภายนอก เหมือนคนนั่งเรือข้ามฟากแต่ไม่อยากลุกไปขึ้นฝั่งเพราะชอบนั่งเรือติดเรือ ศาสนาอื่นก็เช่นเดียวกัน คนเข้าไม่ถึงแก่นของศาสนา ได้แต่เปลือกกระพี้

แล้วก็มีคนไปอีกสุดขั้วอย่างนิทเช่ ที่ประกาศปลดปล่อยตนเองว่า “พระเจ้าตายแล้ว เราได้ฆ่าพระองค์” เขาคือประกาศก (prophet) ของคนยุคใหม่ที่พยายามหาอัตลักษณ์ของตัวเอง เขาบอกด้วยว่า คนวันนี้ถูกครอบงำและถูกนำไปเหมือนฝูงสัตว์ที่ถูกต้อนไปตามที่เจ้าของต้องการ

นิทเช่แนะนำให้คนหลุดพ้นเป็น “อภิมนุษย์” อ่าน “เทวาสายัณห์” และ “เมื่อซาราธุสตาพูด” ช้าๆ จะได้อรรถรสและความหมายอันล้ำลึกที่รจนาด้วยภาษากวีของนักปรัชญาที่เป็นนักภาษาศาสตร์ผู้นี้

คงไม่ไปไกลถึงโสคราติส แต่หยุดอยู่ที่นิโกโล มักเกียเวลลี ที่ไม่ได้อ้างตนเป็นนักรัฐศาสตร์นักปรัชญาเป็นเพียง “ข้าราชการ” ที่สะท้อนแนวคิดและยุทธศาสตร์ของการเป็นนักการเมืองนักปกครอง จนทำให้งานเขียน “เจ้าผู้ปกครอง” (The Prince) ของเขาเป็นหนังสือคลาสสิกทางรัฐศาสตร์ ตำราของลัทธิเผด็จการและอำนาจนิยมที่บอกว่า เพื่อจะมีอำนาจและรักษาอำนาจ “จงใช้วิธีการใดก็ได้” (เหมือนอดีตผู้นำจีนที่บอกว่า แมวสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ)

คนมองว่ามักเกียเวลลีจริงใจในการนำเสนอแนวคิดทางการเมืองการปกครอง ไม่อ้อมค้อม ไม่ปากว่าตาขยิบ (hypocrite) ไม่เสนอแนวคิดยูโธเปียที่ปฏิบัติไม่ได้ เขาพูดจากข้อมูลในประวัติศาสตร์ และประสบการณ์ในการทำงานกับ “ผู้ปกครอง” ที่ฟลอเรนซ์ ว่าในความเป็นจริงก็ทำกันและเป็นกันเช่นนี้ไม่ว่าที่ไหนและเมื่อไร

มักเกียเวลลีบอกว่า “นักปกครองที่ดี” ต้องเป็นทั้งราชสีห์และหมาจิ้งจอก ต้องมีทั้งอำนาจและปัญญาเพื่อจะรักษาอำนาจที่ได้มาให้อยู่นานที่สุด สืบทอดกันไปในวงศ์ตระกูล พวกพ้อง ไม่ว่าต้องใช้กำลังและความรุนแรง เปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะใช้พระเดชหรือพระคุณ เล่ห์กลมนต์คาถา

แต่โลกวันนี้ไม่ได้มีแต่เผด็จการ มีผู้นำอย่างอังเกลา แมร์เกล,โจโก วิโดโด และอาจเป็นคนอย่างชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ทำให้รู้ว่า เพื่อสร้างสังคมที่ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุข ไม่จำเป็นต้องใช้ “อำนาจเผด็จการ” ใช้ปัญญาบารมี ปฏิสัมพันธ์ที่ดีก็ได้ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน เดินไปด้วยกัน ร่วมกันแก้ไข อะไรจะเกิดก็ทนร่วมกันได้