เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ระเบียบกับวินัยไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ผู้คนมักถูกทำให้เชื่อว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เด็กอาชีวะใส่ชุดนักเรียนไล่ตีกันฆ่าฟันกันตามถนน สวมชุดนักศึกษาเป็นระเบียบแต่ไม่มีวินัย คนที่ยืนเข้าแถวเพื่อรอซื้อตั๋วไม่แซงคิวเป็นคนมีวินัยเพราะเคารพในสิทธิของผู้อื่นที่มาก่อน เมื่อกลางเดือนกันยายน สวนดุสิตโพลได้สอบถามความคิดเห็นของนักศึกษาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลว่า “ชุดนักศึกษายังจำเป็นอยู่หรือไม่” 94.44% ตอบว่าจำเป็น ด้วยเหตุผลว่า “มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย” “เป็นการให้เกียรติสถาบัน แสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” “บ่งบอกถึงความเป็นนักศึกษาและระดับการศึกษาที่เรียน” “นักศึกษาทุกคนมีความเสมอภาค เท่าเทียมกันหมด ไม่แบ่งชนชั้น” และ “ทำให้ประหยัด” ไม่ทราบว่ามีกี่ประเทศในโลกที่มหาวิทยาลัยยัง “บังคับ” ผู้เรียนให้ใส่ชุดนักศึกษา หรือว่ามีแต่ประเทศด้อยพัฒนาอย่างไทยและอีกบางประเทศที่ยังมองเห็นแต่ระเบียบ ซึ่งเป็นเพียง “รูปแบบภายนอก” และเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกับวินัย ซึ่งเป็น “ระเบียบภายใน” เป็นเรื่องคุณค่า แนวคิดดังกล่าวมาพร้อมกับเรื่องของ “อำนาจ” การบังคับโดย “ระเบียบ” ที่กำหนดขึ้นมา ถ้าจะเรียนรู้เรื่องจริงคงต้องย้อนไปถามอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์เมื่อประมาณ 50 ปีก่อนว่า ทำไมเขาถึงได้ต่อต้านและรณรงค์ให้ยกเลิกประเพณีรับน้องในมหาวิทยาลัย แนวคิดเรื่องโซตัส ซึ่งเป็นรูปแบบของ “อำนาจ” “การครอบงำ” และยอมรับ “เผด็จการ” การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมีเวทีใหญ่ที่ธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่า 14 ตุลา 6 ตุลา เพราะ “ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” ธรรมศาสตร์สอนให้คนปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากอำนาจครอบงำ ไม่ว่าทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ให้สนใจคุณค่าภายใน สิทธิเสรีภาพมากกว่ารูปแบบภายนอกของการแต่งตัวนักศึกษาที่แสดงว่าตนเองเป็นผู้มีเกียรติมีศักดิ์เพราะได้เรียนมหาวิทยาลัย อันนี้ต่างหากที่แสดงออกถึงความเป็นชนชั้น ไม่ใช่แต่งตัวเหมือนกันหมดและไม่มีชนชั้นในหมู่นักศึกษา แต่ทำตัวเหนือกว่าประชาชนทั่วไป ในยุคนั้น นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงขบถต่อประเพณีรับน้อง และไม่แต่งตัวด้วยชุดนักศึกษา แต่งตัวสบายๆ หลายคนผมยาว นุ่งกางเกงยีน สวมเสื้อยืด ลากรองเท้าแตะเข้าห้องเรียน เพราะเข้าใจว่า การให้เกียรติสถาบันไม่ใช่ว่าต้องแต่งชุดนักศึกษา แต่อยู่ที่คุณค่าของตนเองแสดงออกในสังคม ความตั้งใจเรียนและได้วิชาความรู้ ที่ไม่เห็นเกี่ยวกับเสื้อผ้า เมื่อประมาณ 30 ปีเศษมาแล้ว ในสมัยที่คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี เป็นอธิการบดี วันหนึ่งมีข่าวว่า มหาวิทยาลัยออกระเบียบให้นักศึกษาแต่งตัวให้ “เรียบร้อย” ด้วย “ชุดนักศึกษา” เวลามาเรียน เท่านั้นเอง วันรุ่งขึ้น มีโปสเตอร์แผ่นใหญ่มากติดอยู่ข้างตึกโดม มีรูปเด็กหญิงสวมชุดนักเรียน ตรงหน้าอกเขียนว่า “เด็กหญิงนงเยาว์ ไชเสรีภาพ” ระเบียบดังกล่าวจึงถูกยกเลิก (หรือว่ายังไม่ได้ออก-จำไม่ได้) อย่างไรก็ดี กระแส “อำนาจนิยม” ของสังคมไทยก็ดูไม่ได้น้อยลง นักศึกษาธรรมศาสตร์ก็ยังไม่อยาก “แปลกแยก” จากกระแสหลัก อยากรับน้อง แต่ก็พยายามทำให้ดูดีโดยทำให้สร้างสรรค์ และก็ยังอยากสวมใส่ชุดนักศึกษากัน จนได้เห็นภาพในสื่อสังคมเมื่อไม่นานนี้ที่นักศึกษาธรรมศาสตร์โพสท์ภาพไปเรียนแบบ “สบายๆ “ ตาม “สไตล์ธรรมศาสตร์” ตราบใดที่สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับรูปแบบภายนอกมากกว่าคุณค่าภายใน เมืองไทยก็จะเป็นเมืองที่คนอยากเรียนมหาวิทยาลัย แบบไหนก็ได้ ขอให้ได้ปริญญา จึงมีประเภท “จ่ายครบจบแน่” เมืองไทยก็จะยังเคารพนับถือคนมีเงิน คนมีอำนาจ เพราะพึ่งพาอาศัยได้ ยังเป็นสังคมอุปถัมภ์ เลิกทาสกันนานแล้วก็ยังอยากเป็นกันอยู่ต่อไป คนไทยจึงต้องมีรถคันใหญ่ๆ บ้านหลังโตๆ สวมใส่แก้วแหวนเงินทองอวดร่ำอวดรวย ผู้คนจะได้นับหน้าถือตา จึงเกิดหนี้ครัวเรือนกันมหาศาล เพราะ “เป็นหนี้ไม่ว่าขอให้ได้หน้าเป็นพอ” การไปเรียนมหาวิทยาลัยแต่ไหนแต่ไรมา พ่อแม่ถือว่าถ้าได้เรียนสูงๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน จะได้มีอำนาจวาสนา มีเงินมีทอง ใส่ชุดนักศึกษา คนก็จะรู้ว่าเป็นนักศึกษา มีสถานภาพสูงกว่าคนอื่น เหมือนหมอบางคนที่ออกเวรแล้วยังใส่เสื้อกาวน์ไปกินข้าวข้างนอก เพราะ “เครื่องแบบ” เป็นเครื่องหมายของสถานภาพ ของ “อำนาจ” และ “ชนชั้น” ในสังคมไทย สังคมไทยต้องการระเบียบแต่ไม่มีวินัย ตามหลักฟิสิกส์เบื้องต้น เมื่อมีการบังคับใช้แต่ “กฎระเบียบ” จึงมีความกดดัน และมีแรงระเบิดเป็นปฏิกิริยาตามปริมาณหรือระดับของแรงกดดัน เพราะมีระเบียบโดยไม่มีวินัย จึงไม่มีการสอดรับกับ “ภายใน” ที่ทำให้ระเบียบกับวินัยกลายเป็นเนื้อเดียวกัน อยากดูระเบียบกับวินัยเป็นเนื้อเดียวกัน ควรไปดูประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเยอรมนีและญี่ปุ่น ว่าผู้คนเขามีระเบียบและวินัยอย่างไร เขาเคารพในสิทธิเสรีภาพของคนอื่นอย่างไร เราประทับใจภาพคนเข้าแถวรอรับความช่วยเหลือหลังมหาตภัยสึนามิ เห็นวินัยจราจร การให้สิทธิคนเดินข้ามถนนทางม้าลาย ความไร้ระเบียบและไร้วินัยดูได้จากจราจรบ้านเรา ถึงมีอุบัติเหตุอันดับต้นๆ ของโลก และมีความรุนแรง การฆ่ากันตายอันดับต้นๆ ของโลกเช่นเดียวกัน ทัศคติของนักศึกษาจากโพลสะท้อนสังคมที่ยังจมอยู่กับค่านิยมรูปแบบภายนอก เปลือกกระพี้ที่ไม่มีแก่น สะท้อนนโยบายและระบบการศึกษาที่ไม่ได้พัฒนาคน สนใจแต่สร้าง “กลไก” เพื่อการผลิตเท่านั้น