ทวี สุรฤทธิกุล

“ฟาร์มกล้วย” หรือการแจกเงินอย่างเป็นระบบให้แก่ ส.ส.เกิดขึ้นในสภาปี 2512

หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2511 (ที่ว่ากันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างยาวนานที่สุด โดยเริ่มตั้งคณะกรรมการยกร่างฯใน พ.ศ. 2502 แต่มาร่างเสร็จใน พ.ศ. 2511 รวมเวลากว่า 10 ปี) ก็ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 ปรากฏว่าพรรคสหประชาไทยที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรคได้ ส.ส.มาเป็นจำนวนมากที่สุด คือ 76 คน จากจำนวน ส.ส.ที่มีได้ตามรัฐธรรมนูญ 219 คน จึงต้องไปรวบรวม ส.ส.พรรคเล็กอื่น ๆ มารวมเข้าด้วย แต่ก็รวมได้เพียง 90 เสียง แล้วก็ต้องรีบจัดตั้งรัฐบาลให้ทันกำหนดเวลาไปพลาง ๆ ก่อน จึงเป็นรัฐบาลที่ต้อง “ถูลู่ถูกัง” ลากไถกันไป ด้วยเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภา แต่ด้วยเหตุที่เป็นยุค “ทหารครองเมือง” ที่สืบทอดอำนาจมาจากการทำรัฐประหาร รวมถึงที่หัวหน้าคณะรัฐประหารเองก็ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อ จึงไม่คิดว่าฝ่ายค้านจะทำอะไรรัฐบาลได้ ฝ่ายรัฐบาลจึง “ไม่เห็นหัว” คือไม่ได้ให้ราคาอะไรกับ ส.ส.ในสภานั้นเลย

แต่ก็เหมือนว่าจะเป็นคราวเคราะห์ของทหาร ที่ดันไปให้คณะกรรมการยกร่างฯเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ว่าไม่ให้ ส.ส.เป็นรัฐมนตรี นัยว่าต้องการแยกอำนาจนิติบัญญัติออกจากอำนาจบริหาร เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งในยุคนั้นมีสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ แต่ว่ารัฐบาลก็ต้องประสบกับปัญหาในสภาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับ ส.ส.ในพรรคสหประชาไทยที่พรรคแกนหลักของรัฐบาลชุดนั้น เพราะในเวลาที่ประชุมสภาแม้จะเป็นการรับรองมติต่าง ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ รัฐบาลก็ต้องได้รับเสียงรับรองจากสมาชิกสภาตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด และถ้ายิ่งเป็นการผ่านกฎหมายก็จะต้องใช้เสียงให้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาทั้งหมด ดังนั้นจึงมีข่าวว่าทุกครั้งที่มีการประชุม ส.ส.ของพรรคสหประชาไทย ซึ่งจัดให้มีการประชุมพรรคในทุกวันอังคาร ก่อนการประชุมสภาที่จะมีในวันพุธ พรรคสหประชาไทยจะต้องมีการ “แจกซอง” (ที่ก็คือ “แจกกล้วย” ในภาษาปัจจุบัน) อันเป็นที่รู้กันว่ามีธนบัตรใส่ไว้ในซองแต่ละซองนั้นจำนวนหนึ่ง โดยถ้าเป็น “ซองบาง” ก็แสดงว่าในวันประชุมสภาจะไม่มีกฎหมายหรือญัตติสำคัญเข้าสภา แต่ถ้าเป็น “ซองหนา” ก็แสดงว่าในการประชุมของวันรุ่งขึ้นจะต้องมีกฎหมายหรือญัตติที่สำคัญเข้าสภาอย่างแน่นอน

แม้ว่าจะมี “ซอง” แจกให้อย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของเจ้าพระเดชนายพระคุณ “ฯพณฯ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ” โดยยังมีการก่อหวอดตีรวนเอากับรัฐบาลอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะการเรียกร้องเอาโครงการและงบประมาณไปลงพื้นที่ ถึงขั้นที่รัฐบาลต้องจัดงบให้ ส.ส.เข้าไปดูแลโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ได้ อย่างที่เรียกกันในยุคนั้นว่า “งบ ส.ส.” กระนั้นก็ดูเหมือนว่ายังไม่จุใจ เพราะในเวลาที่มีการประชุมสภา ส.ส.ก็มักจะนำเรื่องการไม่ลงไปดูแลพื้นที่ต่าง ๆ ของรัฐมนตรีหลาย ๆ คน ซึ่งก็คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนนั้น ๆ อยู่ในที ทำให้รัฐมนตรีที่ถูกพาดพิงต้องไปแอบ “ปลอบใจ” ส.ส.เหล่านั้นในภายหลัง ซึ่งก็ต้องปลอบใจด้วย “ซอง” ขนาดต่าง ๆ นั้นเช่นกัน

การที่รัฐบาลต้องเอาอกเอาใจ ส.ส.เป็นพิเศษนี้ คงสร้างความอึดอัดให้กับรัฐบาลเป็นอย่างมาก เพราะในระหว่างการพิจารณาร่างงบประมาณ พ.ศ. 2515 ส.ส.ได้ของบพัฒนาพื้นที่หรืองบ ส.ส.เพิ่มมากขึ้น โดย ส.ส.หลายคนที่รวมถึง ส.ส.พรรครัฐบาลได้ลุกขึ้นโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง ที่สุดในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมนายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศยึดอำนาจ ยุติการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และสภา “ซองหนา - ซองบาง” ชุดนั้นเสีย โดยเขียนเหตุผลไว้ในประกาศคณะปฏิวัติว่า “ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ภายใน ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน” ซึ่งก็คือการทำรัฐประหารรัฐบาลของตนเอง ซึ่งสื่อมวลชนบางฉบับเรียกว่า “อัตวินิบาตกรรม” หรือ “ฆ่าตัวตาย”

การรัฐประหารครั้งนั้นได้นำมาสู่การต่อต้านคณะรัฐประหารอยู่เงียบ ๆ แต่ก็ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าจะมีประกาศคณะปฏิวัติห้ามไม่ให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะเกิน 5 คน แต่ในพื้นที่บางแห่ง เช่น ในมหาวิทยาลัย ก็ได้มีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก โดยในมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มีการนำเอากรณีที่มหาวิทยาลัย “ไล่ออก” นักศึกษารายหนึ่งด้วยเหตุที่เคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ  มาก่อหวดชุมนุมขับไล่อธิการบดีให้ออกไป จากนั้นก็มีการชุมนุมเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาได้มีการเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นำโดยนายธีรยุทธ บุญมี รณรงค์ต่อต้านการใช้สินค้าญี่ปุ่น และได้เดินขบวนไปปราศรัยอยู่ใกล้ ๆ ทำเนียบ (ผู้เขียนตอนนั้นเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 ของโรงเรียนวัดมกุฎกษัตริย์ที่อยู่ใกล้ ๆ ก็ได้ไปร่วมฟังปราศรัยด้วย) แต่ก็ไม่มีอะไรรุนแรง จนต้นปี 2516 เกิดกรณีล่าสัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวร โดยมีหลักฐานว่าเป็นกลุ่มข้าราชการเพราะใช้เฮลิคอปเตอร์ของทางราชการไปล่าและขนซากสัตว์ แต่กรรมทันตาได้ทำให้เฮลิคอปเตอร์นั้นตกลงมา ประขานให้เห็นซากสัตว์เหล่านั้น อันนำมาซึ่งกระแสต่อต้านรัฐบาล โดยโจมตีถึงความเป็นเผด็จการและการใช้อิทธิพลของระบบราชการ จากนั้นก็มีกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยออกเดินแจกใบปลิวไปตามท้องถนนในตอนต้นเดือนตุลาคม 2416 พอตำรวจไปจับกุมก็มีการเรียกร้องให้ปล่อยตัว จนกระทั่งมีการชุมนุมเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนำมาซึ่งเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516

ที่เล่าเหตุการณ์เชื่อมโยงกันมายืดยาว ก็เพื่ออธิบายให้เห็นว่า “ปมคิดเล็ก ๆ” ของผู้มีอำนาจที่ผิดพลาด ได้ก่อให้เกิดผลพวงวิบัติอันยิ่งใหญ่ นั้นคือเริ่มจากคิดจะกีดกันไม่ให้ ส.ส.มาเป็นรัฐมนตรี แต่ก็ทำให้ ส.ส.มาเรียกร้องเอาเงินทอง จากนั้นผู้มีอำนาจก็ต้องทำรัฐประหารตัวเองเพื่อกำจัด “ส.ส.ทาก” เหล่านั้นไปเสีย กลับไปปกครองแบบเผด็จการ แต่ก็ได้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากสังคมอย่างกว้างขวาง ที่สุดทหารก็ต้องหลบไปเลียแผลใจอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะกลับคืนมามีอำนาจอีกครั้งในการทำรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519

อดีตมีไว้ให้เป็นบทเรียน “กล้วยหวีเดียว” ก็ทำให้เป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ได้เช่นกัน