ในลิ้นชักความทรงจำ /ยูร  กมลเสรีรัตน์            

หนังสือของสำนักพิมพ์โป๊ยเซียนที่ฝากขายกับสายส่งเคล็ดไทยและฝากขายกับสายส่งธนบรรณในเวลาไล่ๆ กัน  ครบกำหนด 2 ปี จะต้อง รับหนังสือกลับมาพร้อมกับเคลียร์บัญชี  หลังจากเคลียร์บัญชีแล้ว  สองสามีภรรยาถึงกับอึ้ง พูดไม่ออก เพราะหนังสือเหลือคืนกลับมาประมาณ 4 หมื่นเล่ม ติดลบเคล็ดไทยประมาณ  1 แสนกว่าบาท  ติดลบธนบรรณประมาณ 8 หมื่นกว่าบาท

“สรุปแล้วเป็นหนี้สองแห่งประมาณ 2  แสนบาท”ลันนา เจริญสิทธิชัยบอกเล่า “ ฉันปรึกษากับลุงว่าจะทำยังไงกับหนังสือ 4  หมื่นเล่ม  เพื่อที่จะได้เงิน 2 แสนบาทจากหนังสือที่เหลืออยู่มาเคลียร์หนี้สิน  ลุงแนะนำให้ฉันขายหนังสือทั้งหมดโดยลดราคา 10 เปอร์เซนต์จากราคาปก เพื่อให้ได้เงินไปใช้หนี้สิน”

แต่ผู้เป็นภรรยาทำใจไม่ได้ที่จะเอาหนังสือไปขายเหมือนเศษกระดาษ  เสียชื่อนักเขียนซีไร้ท์คนแรกของประเทศไทยและโลโก้สำนักพิมพ์โป๊ยเซียนจะกลายเป็นของโหล  เธอเล่าต่อว่า ทำหนังสือด้วยความรัก บางครั้งต้องยอมอด กินไม่อิ่ม เพื่อเอาเงินมาพิมพ์หนังสือ แม้อยากได้เงินมาใช้หนี้ แต่ไม่ใช่วิธีนี้เด็ดขาด อีก 1 สัปดาห์ต่อมา ก็คิดหาทางออกได้....

“โดยการเอาหนังสือที่เหลือประมาณ 4 หมื่นเล่ม บริจาคให้โรงเรียน 1 พันแห่ง  แห่งละ 30 เล่ม มีข้อแม้ว่าโรงเรียนที่ต้องการรับบริจาคหนังสือ ต้องจ่ายค่าจัดส่งให้เราโรงเรียนละ 200 บาท ซึ่งหนังสือจำนวน 30 เล่ม ถ้าซื้อเองในราคา 200 บาทนั้น ซื้อไม่ได้แน่นอน คิดแล้วเท่ากับเราลดราคาหนังสือให้ถึง 2,500 บาท”

ผมได้ฟังลันนา  เจริญสิทธิชัยจาระไนให้ฟังแล้ว รู้สึกทึ่ง หัวใสมาก ความคิดช่างเฉียบแหลมจริง ๆ เพราะเมื่อส่งหนังสือให้โรงเรียน 1 พันแห่ง ๆ ละ 30 เล่ม ได้เงินค่าจัดส่งแห่งละ 200 บาท รวมแล้วได้เงินทั้งหมด 2  แสนบาทจากหนังสือที่บริจาคทั้งหมดจำนวน 3 หมื่นเล่ม  จากนั้นคำพูน บุญทวีก็ให้หนังสือต่าง ๆ ลงข่าวเรื่องการบริจาคหนังสือ

ปรากฏว่าโรงเรียนต่าง ๆ แจ้งความประสงค์มาจนล้นหลาม จึงกลายเป็นว่าต้องบริจาคหนังสือให้โรงเรียนเกินโควต้าคือจำนวน 1,100 แห่ง นอกนั้นไม่อาจบริจาคให้ได้ และได้ปิดโครงการไปแล้ว เพราะหนังสือหมด ส่วนเงินที่ได้มา นำไปใช้หนี้เคล็ดไทยกับธนบรรณส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ใช้จ่ายในครอบครัว หนี้ส่วนที่เหลือขอผลัดไปก่อน โดยจะทยอยใช้หนี้ให้หมดภายใน 1 ปี ทั้งสองบริษัทตอบตกลง

คนดีย่อมได้รับสิ่งตอบแทน เหมือนกับสวรรค์มีตา เมื่อคำพูน  บุญทวีได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ  สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี 2544 ผมได้ข่าวนี้ด้วยความดีใจแทน “พี่คำพูน” ไปร่วมงานที่บ้านบางบัวทอง ซึ่งใช้ถนนบริเวณซอยเข้าบ้านเป็นที่จัดเลี้ยงแบบง่าย ๆ กันเอง  มีนักเขียนสายอีสานไปร่วมงานกันมากมายและมีวงดนตรีสร้างความคึกครื้นด้วย

สองสามีภรรยายิ้มเบิกบานแก้มแทบปริ  ศิลปินแห่งชาติมีทั้งเงินเดือนและสวัสดิการ  แม้จะไม่มากมายนัก แต่ยังพอช่วยจุนเจือได้บ้าง ยุคหนึ่งศิลปินแห่งชาติได้รับเงินเดือนละ 8 พันบาท ต่อมาก็ปรับสูงขึ้นเป็นหมื่นกว่าบาทนี่แหละ ขึ้นกับรัฐบาลสมัยนั้น ๆ  แต่ศิลปินแห่งชาติคนนี้ก็ยังคงเช่าบ้านอยู่เหมือนเดิม ผมเคยเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนที่อยู่นอกวงการฟัง  เขาอุทานด้วยความตกใจว่าไม่อยากจะเชื่อเลยว่าประเทศไทยจะน่าสังเวชยังงี้

“ไม่มีคำว่าท้อแท้ของนักเขียนที่จะเกิดได้ ถ้าใครท้อแท้ เป็นนักเขียนไม่ได้ ถ้าคำพูนท้อแท้ ก็ไม่มีลูกอีสาน สาบานกับพระเจ้าแล้วว่า ฉันจะเป็นนักเขียน จะขอตายกับปากกา เพราะมันรักในสายเลือด การเขียนก็เอาชีวิตคนอีสาน แผ่นดินอีสานมาเขียน มันทำให้มีแรงบันดาลใจ มีแรงเขียนตื่นขึ้นมาตีสามก็เขียนแล้ว  มันทำให้ภูมิใจที่เกิดมาได้เป็นนักเขียน เหมือนพระเจ้าสั่งให้คำพูนมาเกิดบนแผ่นดินอีสาน สั่งให้คำพูนออกจากบ้านมาเดินทางบนถนนนักเขียน....”นักเขียนซีไรท์คนแรกของประเทศไทยและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์กล่าวออกมาจากใจ

นอกจากได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว  ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2542 คำพูน  บุญทวีได้รับยกย่องให้เป็น “นักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ”จากสำนักช่างวรรณกรรมของสุชาติ  สวัสดิ์ศรี สมญานาม “ตู้วรรณกรรมเคลื่อนที่” อดีตบรรณาธิการนิตยสารโลกหนังสือและช่อการะเกด 

สิ่งที่น่ายินดีอีกอย่างก็คือนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศถึง 3 ภาษาคือ อังกฤษ  ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่คน ๆ หนึ่งสามารถปีนป่ายมาจากที่ต่ำสุด จนมีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งไม่ใช่แค่ระดับประเทศ  หากเป็นระดับอาเซียนด้วยนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน”  แต่นวนิยายเรื่องนี้กลับถูกเอาเปรียบจากสำนักพิมพ์  เพราะความซื่อและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  จึงทำสัญญาเหมาครั้งละ 5 ปีบ้าง 6 ปีบ้าง ได้ค่าลิขสิทธิ์ 5 หมื่นบาท แต่ยอดขายที่พิมพ์มากว่า 20 ปีโกยเงินไปไม่รู้เท่าไหร่

สองสามีภรรยาจึงเปิดแถลงข่าวเรื่องพิมพ์ “ลูกอีสาน”เองในนามสำนักพิมพ์โป๊ยเซียน ที่ร้านแถวมศว.ประสานมิตร  ผมไปร่วมงานด้วย  แล้วบอกผมให้ทำหน้าที่เป็นพิธีกรจำเป็นตอนที่ไปถึง  มีประภัสสร  เสวิกุล นักเขียนชื่อดังและงามพรรณ  เวชชาชีวะ ร่วมเสวนาด้วย  เพื่อจะได้ลงข่าวให้ห้องสมุดต่าง ๆ ได้รู้ความจริง จะได้สั่งซื้อกับสำนักพิมพ์โป๊ยเซียน 

หลังจากงานเลิก ผมนั่งแท็กซี่ประจำตัว “พี่คำพูน” กลับด้วยกัน บ้านของคนขับแท็กซี่อยู่ตรงกันข้ามบ้าน “พี่คำพูน” ให้ความเคารพนับถือ “พี่คำพูนมาก” ไกลแค่ไหน ก็ไปรับส่ง แม้ยามขัดสนเงินทอง จนได้รับฉายาว่า “แท็กซี่ซีไรท์” แท็กซี่จอดส่ง ผมหน้าสถานีตำรวจตลิ่งชัน นั่นคือครั้งสุดท้ายในชีวิตที่ได้พูดคุยกับ “พี่คำพูน”

หลังจากพิมพ์ “ลูกอีสาน”เองในนามสำนักพิมพ์โป๊ยเซียน ด้วยกระดาษปอนด์อย่างดีจำนวน 85,000  เล่ม  จึงส่งไปรษณียบัตรแจ้งไปยังห้องสมุดทั่วประเทศ  3 หมื่นแห่ง  ปรากฏว่าไม่มีใบสั่งซื้อมาเลย มารู้ภายหลังว่ายังมี “ลูกอีสาน”วางขายในร้านหนังสือทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด  ที่สำคัญ ห้องสมุดทั่วประเทศสั่งซื้อ “ลูกอีสาน”จากสำนักพิมพ์บรรณกิจแล้ว

คำพูน บุญทวีแทบช็อก จึงไปปรึกษางามพรรณ  เวชชาชีวะ นักเขียน นักแปลและกรรมการผู้จัดการ บริษัทซิลค์โรด เรื่องฟ้องร้องสำนักพิมพ์บรรณกิจ เธอเห็นด้วย จะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไป สองสามีภรรยาเหนื่อยกับคดีนี้มาก ถ้าใครอ่านมติชนสุดสัปดาห์ ช่วงนั้นมีสกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับ “พี่คำพูน” ตีพิมพ์ มีรูป “พี่คำพูน”นอนอยู่บนเตียงในสภาพขาบวมด้วยโรคเก๊าท์และรูมาตอยด์ มีผ้าพันรอบขา

ในที่สุดคดีที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี 2544 ศาลตัดสินพิพากษาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ให้คำพูน บุญทวีชนะคดีเมื่อวันที่  24  กุมภาพันธ์ 2546 แต่จำเลยขอสู้คดี  จึงปรึกษาทนายความให้ดำเนินการฟ้องร้องและเรียกค่าเสีย  โดยต้องวางเงินมัดจำศาล 5 หมื่นบาท คำพูน บุญทวี ถอนหายใจเฮือกใหญ่ คิดหนักว่า จะหาเงินก้อนนี้มาจากไหน

วันต่อมา สองสามีภรรยาจึงไปหางามพรรณ เวชชาชีวะ เล่าเรื่องราวให้ฟัง เธอ จึงให้ยืมเงินจำนวน 5 หมื่นบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยแม้แต่สลึงเดียว  กรณีละเมิดลิขสิทธิ์เรื่อง “ลูกอีสาน”นี้ คำพูน  บุญทวีเขียนลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซกชั่นจุดประกายวรรณกรรม ชื่อเรื่องว่า“กว่าจะได้นิยาย ‘ลูกอีสาน’ กลับมา ทำเอาผมเกือบตาย” นั่นคือผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนจะเสียชีวิต 1 สัปดาห์

“ลูกอีสาน”เวอร์ชั่นใหม่ พิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์  รูปเล่มขนาด 16 หน้ายกพิเศษ มีภาพวาดสี่สีประกอบเรื่อง  เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ที่วชิราวุธวิทยาลัย  ห้องประชุมใหญ่แน่นขนัดด้วยคนฟังและสื่อมวลชนทุกแขนง โดยบริษัทซิลค์โรดเป็นผู้จัดการและดูแลลิขสิทธิ์ให้ด้วย  วิทยากรที่ร่วมเสวนา จำได้ว่ามีอาจารย์กอบกุล อิงคุทานนท์  ชมัยภร แสงกระจ่าง งามพรรณ เวชชาชีวะ รู้สึกจะมีอีก 1 ท่าน ต้องขออภัย  จากนั้นมีการฟ้อนรำแสดงวิถีชีวิตอีสานที่ลานกว้าง  ธงชัย  ประสงค์สันติ ที่แสดงเป็น “บักกาจ”ในหนังเรื่อง “ลูกอีสาน”ก็ไปร่วมงาน

หลังจากคำพูน บุญทวีเสียชีวิต เพราะน้ำมือของคนที่ไม่มีประสิทธิภาพในวิชาชีพ  หนังสือของสำนักพิมพ์โป๊ยเซียนไม่มีวางขายตามร้านอีกต่อไป  เพราะ“พี่กิมหลั่น”งดฝากหนังสือขายกับสายส่งเคล็ดไทย  แต่วางหนังสือไว้บนชั้นที่ห้องโถงข้างล่าง ผมขอเรียกว่า “โชว์รูมหนังสือ”

ห้องสมุดมาซื้อที่บ้านเอง แล้วลดราคาพิเศษให้  ส่วนเคล็ดไทยซื้อขาดเรื่อง “ลูกอีสาน” 1 หมื่นเล่ม

ลดให้ 50 เปอร์เซนต์  บ้านหลังนี้ที่เคยเช่าอยู่  ก็เก็บเงินซื้อจากเจ้าของบ้านหลายปีแล้วก่อนที่ “พี่คำพูน”จะเสียชีวิต

ปรากฏว่าวิธีการจัดการแบบนี้ได้ผลดีมาก  ทั้งห้องสมุดและนักอ่านมาซื้อถึงบ้าน หนังสือขายดี  จนต้องพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้กระทั่ง “ลูกอีสาน”ที่แม้จะมีราคาแพงกว่าเดิม  รวมทั้งเรื่องอื่นก็ขายดี  “พี่กิมหลั่น”จึงนำผลงานเด่นๆ มาพิมพ์ฉบับปกแข็งและมีสองภาษ ทว่า นักเขียนซีไร้ท์คนแรกของประเทศไทยไม่มีโอกาสเห็นความสำเร็จตรงนี้

การที่จะมีนักเขียนที่มีชื่อเสียงระดับประเทศเกิดขึ้นสักคน  ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  แล้วอีก 100 ปีจะมีนักเขียนแบบคำพูน  บุญทวีเกิดขึ้นสักกี่คน

 

 

“การทำงานทำให้คุณมีความหมายและหน้าที่ ถ้าไม่มีงาน ชีวิตก็ว่างเปล่า”( สตีเฟน  ฮอว์คิง)