ทวี สุรฤทธิกุล

“โพธิ์ไทรใบหนา นกกาอาศัย ใบร่วงหล่นไป โผผินบินจร”

ผู้นำแบบ “ต้นโพธิ์ต้นไทร” หมายถึง “ผู้นำที่มากมีบารมี” อาจจะเป็นบารมีทางตำแหน่งหน้าที่ราชการและการเมือง หรือบารมีจากความรู้ความสามารถและความเคารพศรัทธา แม้ในทางใดทางหนึ่งก็ถือว่ามีอำนาจมาก จึงมีคนมาพึ่งพาอาศัยอยู่ด้วยจำนวนมาก เหมือนนกกาที่มาอยู่บนต้นโพธิ์ต้นไทรเหล่านั้น ยิ่งในฤดูที่ต้นโพธิ์ต้นไทรออกผลเต็มต้น นกกาก็จะร่าเริงมีความสุข เสพกินลูกโพธิ์ลูกไทรอย่างอิ่มหนำ ทว่าเมื่อผู้นำเหล่านั้นเสื่อมบารมี ก็เหมือนกับต้นโพธิ์ต้นไทรที่ใบร่วง ไม่มีดอกผลอะไรให้เสพกิน นกกาก็บินหนีไป บางครั้งก็ทิ้งสิ่งสกปรกไว้ตามลำต้นและกิ่งก้าน รอฤดูกาลใหม่ที่จะผลิใบและออกดอกออกผลอีกครั้ง

ตอนที่ผู้เขียนทำงานเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในช่วง พ.ศ. 2523 ถึง 2532 ตอนนั้นพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เพิ่งลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน สภาพการเมืองไทยในตอนนั้นก็เหมือนกับ “นกกาอพยพ” คือบรรดาผู้คนในทางการเมืองพากัน “บินหนี” จากต้นไทรเกรียงศักดิ์ ไปอยู่กับต้นโพธิ์เปรม ต่อมาในปี 2531 บารมีของพลเอกเปรมก็เสื่อมลง ถึงขั้นถูกยื่นฎีกาให้ลงจากตำแหน่ง นกกาทั้งหลายก็บินหนีไป

ในสมัยพลเอกเปรมนั้นเองก็ยังมีนายทหารที่เรียกว่ามีบารมีสูงมากอีกคนหนึ่ง คือพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ไม่เพียงแต่ท่านจะมีตำแหน่งแห่งหนในการควบคุมกองทัพถึงขั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดแล้ว ยังเป็น “มันสมอง” ให้กับพลเอกเปรม จนมีฉายาว่า “ขงเบ้งแห่งกองทัพไทย” ทั้งนายทหารและนักการเมืองต่าง ๆ ก็เข้าไปแวดล้อม มีจำนวนพอ ๆ กันกับที่ห้อมล้อมพลเอกเปรมนั้นเลยทีเดียว ขนาดที่ว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปพูดกระทบว่า “พลเอกชวลิตเป็นคอมมิวนิสต์” บรรดาทหารพรานก็พากันมากระทืบรั้วบ้านสวนพลู ข่มขู่คนแก่และหมาในบ้านให้ตกใจ เพื่อให้ไปขอโทษ “พ่อชวลิต” ของพวกเขา ดีที่ว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มี “หลวงพ่อดี” คุ้มครองอยู่ ที่สุดพลเอกชวลิตต้องไปขอโทษ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงอโหสิให้

ที่พูดถึงพลเอกชวลิตขึ้นมาก็เพราะสถานะของพลเอกชวลิตในยุคนั้นช่างคล้าย ๆ กันกับนายทหารใหญ่ท่านหนึ่งในยุคสมัยนี้ คือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ คือทั้งสองท่านนี้มีบารมีมาก ๆ ในแต่ละยุคสมัย เป็นบารมีที่มีคนเข้าไปห้อมล้อมพึ่งพิงด้วยเป็นจำนวนมาก ทั้งทหารและนักการเมือง โดยมีนายทหารอีกคนหนึ่งเป็น “แกนอำนาจ” ให้ นั่นคือมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารอยู่เป็นหลักให้ แล้วตนเองที่เป็นผู้ควบคุมกำลังทหารนั้นเป็น “แกนเสริม” คือคอยพยุงและปกป้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากทหารนั้นไว้

เรื่องที่เป็นประเด็นก็คือ แต่แรกทั้งพลเอกชวลิตและพลเอกประวิตรต่างก็มี “กองทัพ” หรือเหล่าทหารทั้งบกเรือและอากาศรวมถึงตำรวจคอยเป็น “เสื้อเกราะและอาวุธ” ให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เสริมพลานุภาพให้กับนายพลทั้งสองนี้อยู่แล้วโดยตำแหน่ง แต่พอนายทหารทั้งสองคนพ้นตำแหน่งจากกองทัพออกมา แล้วหันมาพึ่งนักการเมืองในพรรคการเมืองมากขึ้น อนาคตของทั้งสองคนนี้ก็ดูแผ่วลง ที่สุดพลเอกชวลิตก็หมดอำนาจไป พร้อมกับการพังทลายของพรรคการเมืองที่เขาตั้งขึ้นมา นั่นก็คือพรรคความหวังใหม่ (ถ้าใครเกิดทันยุคนั้นคงจะได้ยินคำว่า อีสานเขียว ใต้ร่มเย็น ฮารับปันบารู ที่เป็นนโยบายอันโด่งดังสุด ๆ ของพรรคความหวังใหม่นี้) จึงอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าอนาคตของพลเอกประวิตรก็คงดำเนินไปในแบบเดียวกัน คืออาจจะหมดอำนาจไปพร้อม ๆ กันกับการสิ้นสูญของพรรคพลังประชารัฐ

ผู้เขียนเคยถามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตอนที่ทหารพรานบุกขย่มรั้วบ้าน ว่าท่านไม่โกรธแค้นอะไรบ้างเลยหรือ ท่านก็พูดคำภาษาอังกฤษประโยคหนึ่งขึ้นมาว่า “The old soldiers never die, they just fade away.” ซึ่งผู้เขียนได้มาค้นดูจากอินเตอร์เน็ตในภายหลัง จึงพอเข้าใจความหมายว่า แต่เดิมประโยคนี้มาจากบทกวีโบราณที่แต่งเป็นเพลงไว้ด้วย โดยจะร้องเพื่อเฉลิมฉลองให้ระลึกถึงการจากไปของนายทหารที่สร้างชื่อเสียงไว้ ว่า “นายทหารไม่มีวันตาย (ชื่อเสียงเขานั่นยังอยู่)เพียงแต่จะค่อย ๆ รางเลือนไป” แต่อีกนัยหนึ่งก็ใช้ในความหมายของการประชดประชัน ว่านายทหารบางคนก็จมไม่ลง คิดว่าอำนาจที่เคยมีอย่างยิ่งใหญ่นั้นไม่มีวันหมดไป เพียงแต่มีน้อยลงไปกว่าเดิมเท่านั้น ดังเช่นที่นายพลแมคอาเธอร์ของสหรัฐอเมริกาในตอนที่ต้องถอนกองทัพออกมาจากญี่ปุ่นในตอนที่ญี่ปุ่นได้ยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เคยพูดประโยคนี้ไว้ พร้อมกับที่พูดว่า “I shall return.” (แล้ว”กรู”จะกลับมา) เหมือนว่าจะได้มากอบกู้ญี่ปุ่นอีก แต่แล้วก็ไม่ได้กลับคืนมาอีกเลย

หลังทหารพรานบุกบ้าน เมื่อพลเอกชวลิตสำนึกผิด แกก็ได้ส่งนายทหารยศพันเอกนายหนึ่งมาอยู่เป็น “ตัวประกัน” ไว้ที่บ้านสวนพลู เพื่อเป็นประกันว่าจะไม่มีใครส่งกองทัพหรือเหล่าทหารใด ๆ มารบกวน “ซือแป๋แห่งซอยสวนพลู”  ราว ๆ หนึ่งสัปดาห์นายทหารตัวประกันนั้นก็ขอลาไป อีก 2 - 3 เดือนต่อมาก็กลับมาพร้อมชุดเครื่องแบบนายทหารสีเขียวในยศพลตรี แจ้งว่ากองทัพบกได้เลื่อนยศให้ สิบตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ได้มีตั้งแต่ครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมือนกันกับที่ให้ยศพลตำรวจเอกแก่พลตำรวจตรีประมาณ อดิเรกสาร และพลเอกแก่พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็น้อมรับไมตรีนั้นด้วยดี โดยให้ช่างภาพหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่บังเอิญมาทำข่าวในวันนั้นพอดี ถ่ายภาพในชุดเครื่องแบบนั้น แล้วแจกจ่ายให้ลูกศิษย์ลูกหาไปหลายสิบใบ

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ท่านรู้จักนายทหารใหญ่ ๆ ที่ “ใหญ่” กว่าพลเอกชวลิตมาแล้วหลายคน สุดท้ายทุกคนก็หมดอำนาจไปเอง ไม่ใช่เพราะทหารคนนั้น ๆ พ้นตำแหน่งหน้าที่ไป แต่บรรดาผู้คนที่เคยห้อมล้อมนายทหารคนนั้นนั่นเองแหละที่ “ถอยห่าง” จากนายทหารคนนั้น ๆ ไปเอง ในทำนอง “โพธิ์ไทรใบหนา นกกาอาศัย ใบร่วงหล่นไป โผผินบินจร” ท่านบอกว่าใครที่ชอบทำตัวใหญ่ ๆ ก็ปล่อยให้ทำไป เดี๋ยวพอพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ออกไปก็จะหมดบารมีไปเอง อำนาจทหารนั้นก็เป็นอย่างนั้น แล้วท่านก็พูดประโยคภาษาอังกฤษนั้นอีก เหมือนจะตอกย้ำว่า “ไม่มีใครใหญ่ค้ำฟ้า”

นกกาเมืองไทยนี้ไม่สำนึกถึงบุญคุณอะไรหรอก พอได้เวลาบินหนีก็ชอบที่จะอุจาระเรี่ยราดไว้บนกิ่งโพธิ์กิ่งไทร ให้เป็นที่อุจาดตายิ่งนัก