พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของคนอเมริกันหนนี้มมีแปลกกว่าทุกๆครั้งที่ผ่านมา แปลกที่ ท่ามกลางยุทธการการหาเสียงเลือกตั้งอเมริกัน 2016 ที่ขับเคี่ยวกันอย่างเมามันนั้น นายโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกสื่อมวลชน “สร้างภาพ”ทำให้เขากลายเป็นตัวร้ายเชิงความคิดทางการเมืองไป โดยที่สื่อมวลชนเหล่านั้นต่างก็ไม่ใช่เป็นสื่อมวลชนอเมริกัน หากแต่เป็นสื่อมวลชนต่างประเทศ เช่น สื่อมวลชนไทย เป็นต้น ที่ส่วนใหญ่มองว่า ทรัมป์ เป็นพวกที่มีความคิดเลวร้าย อนุรักษ์นิยมขวาจัด และอาจสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นกับโลกได้ เช่น การก่อสงคราม เป็นต้น เช่นเดียวกับที่จอร์จ บุช เคยส่งกองทัพอเมริกันบุกอิรักเมื่อหลายปีก่อน ผมเห็นด้วยกับความเห็นของท่านอดีตเอกอัคราชทูตไทย พิทยา พุกกะมาน ที่ให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งก่อนหน้านี้ โดยมองทำนองว่า การมองการเมืองอเมริกัน ต้องมองจากฐานวัฒนธรรมการเมืองอเมริกัน บวกกับสถานการณ์ความเป็นไปในขณะนั้นๆ สถานการณ์ดังกล่าว อย่างเช่น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ทางสังคม เป็นต้น เพราะสถานการณ์ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้โหวต หาใช่การใช้รากฐานทางวัฒนธรรมที่คุ้นชินของอีกประเทศหนึ่งไปตัดสินใจวัฒนธรรมทางการเมืองของอีกประเทศหนึ่ง (อเมริกา) แต่อย่างใดไม่ แน่นอนว่า สำหรับการเลือกตั้งอเมริกันครั้งนี้ ตราบเท่าที่ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง ย่อมยังไม่ทราบว่าใคร ระหว่างฮิลลารีคลินตัน กับโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นผู้ชนะ ได้เป็นประธานาธิบดีต่อจากโอบามา แม้ผลโพลล์ จะออกมาเป็นระยะๆ เช่น โพลล์ภายหลังการดีเบตของสองแคนดิเดท แต่ก็มิบังอาจจะบอกได้ว่าคลินตันจะชนะทรัมป์แต่อย่างใด จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งจริงนั่นแหละ ด้วยเหตุที่อเมริกามีอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้เข้าใจได้ว่า ผู้คนและสื่อมวลชนในประเทศต่างๆ ต่างจับตาความเคลื่อนไหวการเลือกตั้งแต่ครั้งของอเมริกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกต่อถ้อยการวิจารณ์ คาดการณ์กันไปต่างๆนานา ดูเหมือนแคนดิเดทและทีมกำหนดยุทธศาสตร์การเสียงของทั้งสองพรรคการเมืองต่างตระหนักดีในเรื่องนี้ ส่งผลถึงการกำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียงของทั้งสองแคนดิเดท โดยต้องไม่ลืมว่า การกำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียงนั้น มิใช่มุ่งเพื่อเอาใจชาวโลกหรือชาวบ้านขาวเมืองทั่วไป หากแต่มุ่งเพื่อเอาใจหรือทำให้ถูกใจชาวอเมริกันซึ่งเป็นผู้ลงมติ (โหวต) ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์หรือนโยบายจึงมุ่งสร้างความพอใจหรือความประทับให้กับฐานเสียงที่เป็นชาวอเมริกันเป็นสำคัญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มิได้หมายความว่าชาวอเมริกันหรือคนที่อยู่ในอเมริกาจะสามารถทำความเข้าใจต่อนโยบายของทั้งสองพรรคการเมืองได้อย่างถ้วนทั่ว ซึ่งถ้ามองตามขนบธรรมเนียมทางการเมืองอเมริกันแล้วก็จะเห็นว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่เองยังไม่เชื่อว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ละครั้งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองคาพยพทั้งหลายทั้งปวงทางการเมืองอย่างแท้จริงจากการประกาศนโยบายในขณะการหาสียง ระบบการเมืองอเมริกันนั้นถือว่ามีความนิ่งหรืออยู่ตัวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะได้ใครมาเป็นประธานาธิบดีกุมบังเหียนก็ตาม มักจะพูดกันเชิงสัพยอกว่ามีความแตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างบุชกับโอบามา เพราะแท้จริงแล้วโอบามาไม่ได้มีอำนาจสูงสุดบัญชาการหรือกำหนดนโยบายเพียงคนเดียวหากยังต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากสมาชิกรัฐสภาอเมริกัน(คองเกรส) อีกด้วย ดังล่าสุดมีเรื่องของการโอเวอร์ไรด์ (override) กฎหมายบางฉบับของสมาชิกคองเกรสต่อกฎหมายที่เสนอโดยโอบามาเกิดขึ้น เป็นต้น ยุทธศาสตร์ของแคนดิเดททรัมป์นั้นนอกจากจะเป็นไปในลักษณะการสลัดออกจากความน่าเบื่อหน่ายจำเจของการเมืองอเมริกันส่วนหนึ่งแล้ว ยังสอดคล้องกับการขยายขอบเขตของเสรีภาพของพรรครีพับลิกันแล้ว ยังกลับเป็นทางเลือกหนึ่งของกลุ่มการเมืองอเมริกัน ไม่เว้นแต่กลุ่มเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่อเมริกันที่มองว่าทรัมป์น่าจะมีอะไรใหม่ๆ ให้พวกเขาตื่นเต้นได้บ้าง นอกเหนือไปจากการกระตุ้นความสนใจของทรัมป์ไปยังเสียงอิสระหรือที่เรียกกันว่า independence voters นอกเหนือไปจากขนบเลือกตั้งอเมริกัน ที่คะแนนเสียงของพรรครีพับลิกันมักมาจากรัฐตอนในหรือรัฐที่ไม่ได้อยู่ชิดฝั่งมหาสมุทรทั้งสองด้านเสมอ คะแนนเสียงดังกล่าวเสมือนฐานคะแนนจัดตั้ง มีความแน่นอนในระดับสูง และค่อนข้างอิสระจากบริบทของสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไป หมายถึงผู้คนในแถบรัฐที่ว่านี้ ไม่ค่อยสนใจว่าแคนดิเดทจะเป็นอย่างไร เช่น ถูกโจมตีด้วยเรื่องส่วนตัวอย่างไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งก็เหมือนเมืองบางเมืองในเขตเท็กซัสและเทนเนสซีที่ยังรักษาวัฒนธรรมความเป็นคาวบอยหรือลูกทุ่งอเมริกันไว้ยังไงยังงั้น น่าสนใจว่าการเข้ามาสู่การชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกันครั้งนี้ของทรัมป์ เหมือนเขาลอยมาติดธงแคนดิเดท ในยามที่รีพับลิกันเองมีตัวให้เลือกน้อย แคมเปญของเขาแม้จะใช้เงินเหมือนแคมเปญเลือกตั้งทุกครั้ง แต่แทนที่ทรัมป์จะทุ่มเงินไปกับการรอนแรมเดินทางหาเสียงทั่วประเทศ เขากลับใช้ความเป็นอดีตสื่อมวลชนกระตุ้นความสนใจของโหวตเตอร์มากกว่า ด้วยท่าทีอันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของเขา (ที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้) จนนักวิเคราะห์การเมืองบางกลุ่มมองว่า ทรัมป์มากับความบ้าและซาดิสม์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิเคราะห์ที่มองผ่านสื่อไทยด้วยแล้วพวกเขาแทบจะเทคะแนนทั้งหมดไปให้นางคลินตันอย่างออกนอกหน้า ไม่นับรวมสลิ่มผู้ดีเก่าชุมชนไทยในอเมริกา ที่นอนตะแคงอ่านหนังสือพิมพ์ไทยอยู่ ณ ฮอลลีวูด/แอล.เอ. ซึ่งถูกครอบงำจาก เดโมแครตคอนเนกชั่น พวกเขาส่วนใหญ่พากันเชื่อตามคติที่ถือต่อๆ กันมาว่า แดโมแครตเป็นพรรคที่โปรชนกลุ่มน้อย (Minority groups) และเดโมแครตคือทางรอดของเหล่าโรบินฮู้ดไร้เอกสาร (ผิดกฎหมาย) โดยลืมไปว่าการนิรโทษกรรมโรบินฮู้ดครั้งใหญ่ (คือรับรองให้มีสถานะถูกกฎหมายอเมริกัน) ที่ผ่านล่าสุดนั้น เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีอเมริกันที่มีคนรักจำนวนมาก ก็คือท่านประธานาธิบดี โรนัลด์ รีแกน แห่งพรรครีพับลิกัน ซึ่งมีอดีตเป็นดาราฮอลลีวูดที่ใครๆ ในตอนนั้นก็พากันปรามาสว่า “ดารา เนี่ยนะ จะบริหารประเทศได้” แต่แล้วรีแกน ก็กลับกลายเป็นผู้นำที่คนอเมริกันสุดประทับใจมากที่สุดจากนโยบายและการกระทำหลายๆ เรื่องของท่าน ต่างจากโอบามาที่ประกาศนโยบายชัดเจนว่าจะปฏิรูปงานต่างด้าวในอเมริกาที่ถือว่า ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกันอยู่จำนวนมาก แต่แล้ว 8 ปีผ่านไปนโยบายที่ประกาศอย่างขึงขังกลับไม่ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่าง ใด ปล่อยให้บรรดาโรบินฮู้ดต้องนอนฝันค้างอีกรอบใหญ่นานหลายปี หลังเกิดจากการประท้วงทุกปีภายหลังแคมเปญซานโฮเซ่ รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อหลายปีมาแล้ว ขณะที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานยังเป็นปัญหาหลักปัญหาหนึ่งในอเมริกา ส่วนใหญ่เป็นไปในทำนอง เม็กซิกันละเมิดเม็กซิกัน แขกละเมิดแขก ไทยละเมิดไทย เรียกว่า ส่วนใหญ่คนชาติเดียวกันทำกันเอง คิดว่าเรื่องนี้สถานกงสุลต่างๆ ต่างรู้กันดี เพียงแต่ไม่มีใครกล้าพูดถึงปมปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งๆที่สถานกงสุลมีหน้าที่คุ้มครองแรงงานของชาตินั้นๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนในอเมริกา ที่ถือว่าเป็นความเสียหน้าของรัฐบาลอเมริกัน จนทรัมป์เอามาชูเป็นนโยบายหาเสียง ประกาศแก้ปัญหาต่างด้าวในอเมริกาอย่างจริงจังและเด็ดขาด !!