เสือตัวที่ 6

ความเห็นต่างของคนในพื้นที่ปลายด้ามขวาน มีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการและต่อเนื่อง นับเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐที่สำคัญของขบวนการแบ่งแยกผู้คนในพื้นที่อิสระในการดูแลปกครองกันเองตามประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นมาในอดีตกาล ซึ่งความเห็นต่างทางความคิดของผู้คนในพื้นที่ก็มีการดำเนินการตั้งแต่คนในวัยเยาว์ที่ถูกแบ่งแยกผู้คนในพื้นถิ่นตามความเชื่อทางศาสนาออกจากเด็กในวัยเยาว์ที่มีความเชื่อในหลักศาสนาและมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน โดยการดำเนินการอาศัยโอกาสที่มีตามนโยบายของรัฐในการขยายโอกาสทางการศึกษาสู่ทุกคนในประเทศ ด้วยการที่รัฐมีนโยบายให้เงินอุดหนุนรายหัวของเด็กนักเรียนในสถานศึกษา ประกอบกับการเร่งให้สถานศึกษาในพื้นที่แปรสภาพจากการเรียนในหลักศาสนาอย่างเดียวไปเป็นการเรียนควบคู่ระหว่างสายศาสนาควบคู่กับการเรียนวิทยาการสายสามัญทั่วไป เพื่อหวังจะสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่มีโลกทัศน์ที่เปิดกว้างและมีโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาหรือระดับการศึกษาที่สูงขึ้น อันจะนำมาซึ่งโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกันกับคนที่มีความคิดความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ตามแนวทางพหุวัฒนธรรม

หากแต่ว่า นโยบายดังกล่าว กลับถูกนำไปเป็นประโยชน์ต่อขบวนการแบ่งแยกผู้คนให้สามารถแบ่งแยกผู้คนในพื้นที่ได้มากขึ้น ด้วยสถานศึกษาทางศาสนาอิสลามอย่างเดียวที่เรียกว่าปอเนาะหลายแห่ง ได้แปรสภาพไปเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนามากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ด้วยพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ทำที่ให้ระบบการศึกษาที่เปิดกว้างให้แก่ชาวไทยมุสลิมในการสนับสนุนให้การศึกษามีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น ซึ่งการเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนสำคัญประการหนึ่งคือการได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ศึกษาในสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้กลุ่มคนในพื้นที่ต่างเร่งดำเนินการก่อตั้งสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาขึ้นมาหลายแห่ง ประกอบกับการที่พ่อ-แม่ หรือผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ ยังคงมีความต้องการที่จะส่งบุตรหลานของตนเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานและเชื่อมั่นในบรรดาครูอาจารย์สอนศาสนามากกว่าครูในสถานศึกษาของรัฐ  จึงนิยมส่งบุตรหลานของตนเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนามากขึ้นเป็นทวีคูณ  เพื่อพยายามส่งเสริมให้บรรดาบุตรหลานของตนเป็นมุสลิมที่ดีตามหลักคำสอน รวมทั้งการได้รับบริการอย่างหลากหลายจากสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาที่หลายแห่งให้การอุปถัมภ์ค้ำจุนเด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่มีฐานะยากจน อันเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งทางศาสนาอิสลามที่ผู้มีต้องช่วยเหลือพี่น้องที่ขาดแคลน ในหลากหลายประการ

ดังนั้น จึงเกิดสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่แปรสภาพจากปอเนาะขึ้นมาอย่างมากมาย รวมทั้งสถานศึกษาที่มีอยู่เดิมก็พยายามขยายฐานนักเรียนให้มากขึ้น เพื่อแย่งชิงเด็กและเยาวชนเข้ามาเป็นนักเรียนในสถานศึกษาของตนให้มากที่สุด โดยให้ครู-อาจารย์หรือบุคลากรในสถานศึกษา เป็นผู้ชักจูงบุตรหลาน ญาติพี่น้องเข้ามาเรียน รวมทั้งการส่งนักเรียนของสถานศึกษาของตน ที่เรียนศาสนาชั้นชานาวี (ชั้น 10) ไปเป็นอุสตาซ หรือ อุสตาซะ ไปทำหน้าที่สอนหนังสือตามโรงเรียนตาดีกาเครือข่ายในหมู่บ้านชุมชนอย่างต่อเนื่อง  เพื่อสอดแทรกชักชวนเด็ก เยาวชน หรือโน้มน้าวพ่อ-แม่ หรือผู้ปกครอง ให้เห็นพ้องในการส่งบุตรหลานของตนเข้ามาเรียนในสถานศึกษาของตน โดยมีแรงจูงใจจากความเชื่อถือ ศรัทธาในตัวอุสตาซ ที่แทรกซึมลงไปทำการตลาดถึงในหมู่บ้าน ร่วมกับแรงจูงใจให้เป็นค่าตอบแทนรายหัว ตลอดจนสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาบางแห่ง จะตอบแทนด้วยการสนับสนุนงบประมาณให้กับคนในหมู่บ้านกู้ยืมเงิน มาใช้ในการจัดซื้อรถยนต์ส่วนตัวและใช้รับ-ส่งนักเรียนระหว่างสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนากับหมู่บ้านอีกด้วย   

ด้วยกลยุทธ์ของสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามหลายแห่งดังกล่าว จึงเป็นที่มาของความนิยมของผู้ปกครองของเด็กในพื้นที่ที่ต้องการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนามากกว่าสถานศึกษาในระดับเดียวกันของรัฐ ส่งผลให้จำนวนนักเรียนที่เรียนในสถานศึกษาของรัฐที่เคยมีเด็กที่นับถือศาสนาต่างกันอยู่ในสถานศึกษาเดียวกัน ตั้งแต่ระดับอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยมต้นจนถึงมัธยมปลาย มีจำนวนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด สถานศึกษาของรัฐที่จัดการเรียนการสอนทั้งสายสามัญและสายศาสนาในพื้นที่ กำลังถูกสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ทำการตลาด แย่งเด็กและเยาวชนไปเรียนในสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาที่มีเด็กและเยาวชนอัตลักษณ์เดียวกันแต่เพียงกลุ่มเดียวมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้สถานศึกษาของรัฐเกือบทุกแห่งอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ด้วยมีจำนวนนักเรียนในแต่ละสถานศึกษาของรัฐ ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งประจักษ์ชัดว่า กลุ่มคนเห็นต่างระหว่างคนในพื้นที่กับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างกัน ที่มีวิถีชีวิตต่างกัน ที่มีชาติพันธุ์ต่างกัน เกิดขึ้นจากรากเหง้าของกลุ่มคนที่อยู่ในขบวนการแบ่งแยกผู้คนแห่งนี้ พยายามแสวงหาโอกาสจากนโยบายที่ดีของรัฐ ไปใช้ในการแบ่งแยกผู้คนออกจากกันที่มีความแตกต่างดังกล่าวให้เกิดขึ้นตั้งแต่ในวัยเยาว์ ซึ่งสถานศึกษาของเด็กเล็กจนถึงเยาวชนนั้นจะเป็นจุดเริ่มแรกในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดความเห็นระหว่างเพื่อนที่แตกต่างทั้งหลายให้หาจุดร่วมของการอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่างได้เป็นอย่างดี ซึ่งแกนนำขบวนการร้ายแห่งนี้รู้ดีว่า พวกเขาจะต้องแบ่งแยกผู้คนระหว่างเด็กในพื้นที่กับเด็กต่างพื้นที่ออกจากกันตั้งแต่แรกเริ่มของการเรียนรู้ เพราะนั่น จะสนองตอบยุทธศาสตร์การแบ่งแยกผู้คนให้เห็นต่างได้ง่ายขึ้น